อัคคิวัจฉโคตตสูตร - ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล ปริพาชกวัจฉโคตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค  ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง


ทิฏฐิ ๑๐ อย่าง

วัจฉโคตตปริพาชก นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ”

“ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

“พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น”

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น  สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ดังนี้หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ เราไม่ได้เห็นอย่างนั้น

ก็ท่านพระโคดมทรงเห็นโทษอะไรหรือ จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้”

“ดูกรวัจฉะ

ความเห็นว่าโลกเที่ยง 

ความเห็นว่าโลกไม่เที่ยง

ความเห็นว่าโลกมีที่สุด

ความเห็นว่าโลกไม่มีที่สุด

ความเห็นว่าชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น

ความเห็นว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง

ความเห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่

ความเห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่

ความเห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป
...มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี

ความเห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป...
มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้นั้น…

เป็นความเห็นที่รกชัฏ
เป็นความเห็นอย่างกันดาร
เป็นความเห็นที่เป็นเสี้ยนหนาม
เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง
เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้
เป็นไปกับด้วยทุกข์
เป็นไปกับด้วยความลำบาก
เป็นไปกับด้วยความคับแค้น
เป็นไปกับด้วยความเร่าร้อน

…ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ดูกรวัจฉะ เราเห็นโทษนี้แล จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้ โดยประการทั้งปวงเช่นนี้”

“ก็ความเห็นอะไร ๆ ของท่านพระโคดม มีอยู่บ้างหรือ?”

 “ดูกรวัจฉะ

ก็คำว่า ความเห็น ดังนี้นั้น ตถาคตกำจัดเสียแล้ว

ดูกรวัจฉะ ก็ตถาคตเห็นแล้วว่า

ดังนี้ รูป
ดังนี้ ความเกิดแห่งรูป
ดังนี้ ความดับแห่งรูป

ดังนี้ เวทนา
ดังนี้ ความเกิดแห่งเวทนา
ดังนี้ ความดับแห่งเวทนา

ดังนี้ สัญญา
ดังนี้ ความเกิดแห่งสัญญา
ดังนี้ ความดับแห่งสัญญา

ดังนี้ สังขาร
ดังนี้ ความเกิดแห่งสังขาร
ดังนี้ ความดับแห่งสังขาร

ดังนี้ วิญญาณ 
ดังนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณ
ดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณ

เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ตถาคตพ้นวิเศษแล้ว…

...เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกำหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความสำคัญทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเรา ว่าของเรา และความถือตัวอันนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง”

ปัญหาว่าด้วยผู้หลุดพ้น

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ก็ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน”

“ดูกรวัจฉะ คำว่า จะเกิด ดังนี้ ไม่ควรเลย”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ”

“ดูกรวัจฉะ คำว่า ไม่เกิด ดังนี้ ก็ไม่ควร”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ”

“ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มี  ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ”

“ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร”

“พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ภิกษุผู้มีจิตพ้นวิเศษแล้วอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า จะเกิด ดังนี้ ไม่ควร”

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น จะไม่เกิดขึ้นหรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า ไม่เกิด ดังนี้ ก็ไม่ควร

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้น เกิดก็มี ไม่เกิดก็มีหรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มี  ไม่เกิดก็มี ดังนี้ ก็ไม่ควร

พระองค์อันข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าเช่นนั้นเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ ก็ตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ คำว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ ก็ไม่ควร

ข้าแต่ท่านพระโคดม ในข้อนี้ ข้าพเจ้าถึงความไม่รู้ ถึงความหลงแล้ว

แม้เพียงความเลื่อมใสของข้าพเจ้าที่ได้มีแล้ว เพราะพระวาจาที่ตรัสไว้ในเบื้องแรกของท่านพระโคดม …บัดนี้ได้หายไปเสียแล้ว”

“ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง


เพราะว่าธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบ ระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วยความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้

ธรรมนั้น อันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น…รู้ได้โดยยาก

ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านเห็นควรอย่างใด ก็พึงพยากรณ์อย่างนั้น

ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่าน ท่านจะพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ลุกโพลงต่อหน้าเรา”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟลุกโพลงต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

“ดูกรวัจฉะ ถ้าใคร ๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า

ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไร จึงลุกโพลง

ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร”

ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าใคร ๆ ถามข้าพเจ้าอย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงต่อหน้าท่านนี้ อาศัยอะไรจึงลุกโพลง

ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า

ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้ จึงลุกโพลงอยู่”

“ดูกรวัจฉะ ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว?”

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าไฟนั้นดับไปต่อหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว”

“ดูกรวัจฉะ ถ้าใคร ๆ พึงถามท่านอย่างนี้ว่า

ไฟที่ดับไปแล้วต่อหน้าท่านนั้น ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ คือ ทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร หรือทิศทักษิณ

ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร"

“ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้อนั้นไม่สมควร ...

เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก แต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว”

การละขันธ์ ๕

“ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติ เพราะรูปใด

…รูปนั้น

ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี  มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป มีคุณอันลึก อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร ฉะนั้น

ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะเวทนาใด 

…เวทนานั้น

ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี  มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคตพ้นจากการนับว่าเวทนา มีคุณอันลึก อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร ฉะนั้น

ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะสัญญาใด

…สัญญานั้น

ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี  มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคตพ้นจากการนับว่าสัญญา มีคุณอันลึก อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร ฉะนั้น

ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติ เพราะสังขารเหล่าใด

…สังขารนั้น

ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี  มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคตพ้นจากการนับว่าสังขาร มีคุณอันลึก อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร ฉะนั้น

ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้

บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติ เพราะวิญญาณใด

…วิญญาณนั้น

ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา

ตถาคตพ้นจากการนับว่าวิญญาณ มีคุณอันลึก อันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทร ฉะนั้น

ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด
ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี
ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้

ปริพาชกวัจฉโคตรถึงสรณคมน์

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วัจฉโคตตปริพาชกได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่ท่านพระโคดม

เปรียบเหมือนต้นสาละใหญ่ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกะพี้ของต้นสาละใหญ่นั้น จะหลุดร่วง กะเทาะไปเพราะเป็นของไม่เที่ยง

สมัยต่อมา ต้นสาละใหญ่นั้น ปราศจาก กิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกะพี้แล้ว คงเหลืออยู่แต่แก่นล้วน ๆ ฉันใด

พระพุทธพจน์ของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้น ปราศจากกิ่ง ใบ เปลือก สะเก็ด และกะพี้ คงเหลืออยู่แต่คำอันเป็นสาระล้วน ๆ

ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้าพระองค์นี้ถึงท่านพระโคดม พระธรรม และภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ

ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล”

 

 

อ้างอิง : อัคคิวัจฉโคตตสูตร ที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๔๔-๒๕๒ หน้า ๑๘๘-๑๙๓