สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ส่วนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร ใกล้เมืองปาวา ครั้งนั้นแล นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นายจุนทกัมมารบุตร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความสะอาดในวินัยของพระอริยะ ย่อมมีอย่างไรเล่า ขอประทานพระวโรกาส ความสะอาดในวินัยของพระอริยะมีอยู่ด้วยประการใด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ด้วยประการนั้นเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ความไม่สะอาด
“ดูกรจุนทะ
ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง
ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง
ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง
ก็ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้…
เป็นผู้มีปรกติฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือชุ่มด้วยโลหิต ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต ๑
เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ คือ ถือเอาวัตถุอันเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่น ของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑
เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา สตรีมีสามี ผู้มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีผู้ที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑
ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล
ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้…
เป็นผู้มีปรกติพูดเท็จ คือ เขาอยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า
มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น ดังนี้
บุคคลนั้น เมื่อไม่รู้กล่าวว่ารู้
หรือเมื่อรู้กล่าวว่าไม่รู้
เมื่อไม่เห็นกล่าวว่าเห็น
หรือเมื่อเห็นกล่าวว่าไม่เห็น ดังนี้
เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้…
เพราะเหตุแห่งตนบ้าง เพราะเหตุแห่งผู้อื่น
หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการดังนี้ ๑
เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ
ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้น...
เพื่อทำลายคนหมู่นี้
หรือฟังข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้...
เพื่อทำลายคนหมู่โน้น
ยุยงคนทั้งหลายผู้สามัคคีกันให้แตกกัน
หรือส่งเสริมชนทั้งหลายผู้แตกกันแล้ว
ชอบความแยกกัน
ยินดีความแยกกัน
เพลิดเพลินในความแยกกัน
กล่าวแต่คำที่ทำให้แยกกัน ๑
เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ
กล่าววาจาที่หยาบคายกล้าแข็ง
ทำให้ผู้อื่นข้องใจ เดือดร้อนแก่ผู้อื่น
ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ ๑
เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ
กล่าวไม่ถูกกาล
กล่าวไม่จริง
กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย
กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร ๑
ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างนี้แล
ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้…
เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น คือ อยากได้วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เป็นเครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่น ของบุคคลอื่นว่า
ไฉนหนอ วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่น พึงเป็นของเราดังนี้ ๑
เป็นผู้มีจิตปองร้าย คือ
มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า...
สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูกทำลาย
จงขาดสูญ จงพินาศ หรืออย่าได้เป็นแล้ว ดังนี้ ๑
เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ
มีความเห็นวิปริตว่า…
ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล
การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล
ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาไม่มี บิดาไม่มี
สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี
สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้า ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ย่อมไม่มีในโลก ดังนี้ ๑
ดูกรจุนทะ ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล
ดูกรจุนทะ อกุศลกรรมบถมี ๑๐ ประการนี้แล
ผู้ไม่สะอาด อย่างไรก็ไม่สะอาด
ดูกรจุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่…
ถึงแม้จับต้องแผ่นดิน...
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดิน...
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จับต้องโคมัยสด(ขี้วัวสด)...
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่จับต้องโคมัยสด...
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จับต้องหญ้าอันเขียวสด...
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่จับต้องหญ้าอันเขียวสด...
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้เป็นผู้ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์…
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จะเป็นผู้ไม่ประนมอัญชลี...
นอบน้อมพระอาทิตย์ ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จะลงน้ำ ๓ ครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า…
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จะไม่ลงน้ำ ๓ ครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า…
ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร…
เพราะว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
…เป็นความไม่สะอาดด้วย
…เป็นตัวกระทำไม่สะอาดด้วย
ดูกรจุนทะ ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
นรกจึงปรากฏ
กำเนิดดิรัจฉานจึงปรากฏ
เปรตวิสัย จึงปรากฏ
หรือว่าทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี
ความสะอาด
ดูกรจุนทะ
ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง
ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง
ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง
ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้…
ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ๑
ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ถือเอาวัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น ซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย ๑
ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ไม่ถึงความประพฤติล่วงในสตรีที่มารดารักษา บิดารักษา พี่ชายน้องชายรักษา พี่สาวน้องสาวรักษา ญาติรักษา ธรรมรักษา มีสามี มีอาชญาโดยรอบ โดยที่สุดแม้สตรีที่บุรุษคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย ๑
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล
ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้…
ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในสภา ในบริษัท ในท่ามกลางญาติ ในท่ามกลางเสนา หรือในท่ามกลางราชสกุล ถูกผู้อื่นนำไปเป็นพยานซักถามว่า
มาเถิด บุรุษผู้เจริญท่านรู้สิ่งใดจงพูดสิ่งนั้น…
บรุษนั้นเมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ ...
หรือเมื่อรู้ก็บอกว่ารู้
เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น...
หรือเมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น
ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ ...
เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง
หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ๑
ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด
ฟังข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้างโน้น…
เพื่อทำลายคนหมู่นี้
หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกข้างนี้…
เพื่อทำลายคนหมู่โน้น
สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง
ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง
ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน
ยินดีคนผู้พร้อมเพรียงกัน
เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน
กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน ๑
ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ
กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ
เพราะหูชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง
คนส่วนมากรักใคร่พอใจ ๑
ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ
พูดถูกกาล
พูดแต่คำที่เป็นจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย
พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร ๑
ดูกรจุนทะความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง อย่างนี้แล
ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างไรเล่า
ดูกรจุนทะ บุคคลบางคนในโลกนี้…
ไม่อยากได้ของผู้อื่น คือ ไม่อยากได้วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่นว่า
ไฉนหนอ วัตถุที่เป็นเครื่องอุปกรณ์แก่ทรัพย์เครื่องปลื้มแห่งผู้อื่นของบุคคลอื่น พึงเป็นของเรา ดังนี้ ๑
ไม่มีจิตปองร้าย คือ
ไม่มีความดำริในใจอันชั่วร้ายว่า...
สัตว์เหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความมุ่งร้ายกัน
ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิดดังนี้ ๑
มีความเห็นชอบ คือ
มีความเห็นไม่วิปริตว่า…
ทานที่บุคคลให้แล้วมีผล
การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล
ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่
โลกนี้มี โลกหน้ามี
มารดามี บิดามี
สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะมี
สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ ดังนี้ ๑
ดูกรจุนทะ ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง อย่างนี้แล
ดูกรจุนทะ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แล
ผู้สะอาด อย่างไรก็สะอาด
ดูกรจุนทะ บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
ลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่…
ถึงแม้จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้จับต้องหญ้าอันเขียวสด…
ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่จับต้องหญ้าอันเขียวสด…
ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้บำเรอไฟ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่บำเรอไฟ ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์…
ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์…
ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า…
ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ถึงแม้ไม่ลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า…
ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร…
เพราะว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
…เป็นความสะอาดด้วย
…เป็นตัวทำให้สะอาดด้วย
ดูกรจุนทะ ก็เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้
เทวดาทั้งหลายย่อมปรากฏ
มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ
หรือว่าสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี "
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว นายจุนทะกัมมารบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ
ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
อ้างอิง : จุนทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อ ๑๖๕ หน้า ๒๓๘-๒๔๒