พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่...
ที่สุด เบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ
พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า
น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์
ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่...
เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ
โดยกาลนานนี้แหละ ...มากกว่า
ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ...ไม่มากกว่าเลย”
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถูกละ ๆ พวกเธอทราบธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกแล้ว
น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะการประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนาน นี้แหละ...มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดา ของบิดา ของพี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ของบุตร ของธิดาตลอดกาลนาน
น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา ของบิดา ของพี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ของบุตร ของธิดา...
คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละ …มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
พวกเธอได้ประสบความเสื่อมแห่งญาติ ความเสื่อมแห่งโภคะ ความเสื่อมเพราะโรค ตลอดกาลนาน
น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่านั้น ผู้ประสบความเสื่อมแห่งญาติ ความเสื่อมแห่งโภคะ ความเสื่อมเพราะโรค...
คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละ …มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่าสงสารนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ …ที่สุด เบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ
พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้”
อ้างอิง : อัสสุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๒๕-๔๒๖ หน้า ๑๗๘-๑๗๙
ภาพประกอบ
www.pixabay.com