สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กัมมาสทัมม นิคมของชาวกุรุ ณ กุรุชนบท ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย
พวกภิกษุทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายในบ้างหรือไม่”
เมื่อพระองค์ตรัสถามอย่างนี้แล้ว มีภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลเนื้อความนี้แด่พระองค์ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายใน พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายในอย่างไร”
ภิกษุรูปนั้นก็ทูลเล่าถวายให้ทรงทราบ แต่ก็ไม่ถูกพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาค
ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถึงเวลาที่จะทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว ข้าแต่พระสุคต ถึงเวลาที่จะทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว พระองค์ตรัสการพิจารณาปัจจัยภายในข้อใด ภิกษุทั้งหลายฟังการพิจารณาปัจจัยภายในข้อนั้นจากพระองค์แล้ว จักทรงจำไว้”
“อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
“พระพุทธเจ้าข้า”
การพิจารณาปัจจัยภายใน
ชราและมรณะ
“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า
ชราและมรณะนี้ย่อมบังเกิดในโลก เป็นทุกข์หลายอย่างต่าง ๆ กัน
ชราและมรณะที่เป็นทุกข์นี้
มีอะไรเป็นเหตุ
มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี
เมื่อเธอพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า
ชราและมรณะที่เป็นทุกข์นี้
มีอุปธิเป็นเหตุ
มีอุปธิเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอุปธิเป็นกำเนิด
มีอุปธิเป็นแดนเกิด
เมื่ออุปธิมี ชราและมรณะจึงมี
เมื่ออุปธิไม่มี ชราและมรณะก็ไม่มี
เธอย่อมทราบชัดซึ่งชราและมรณะ
ย่อมทราบชัดซึ่งความเกิดแห่งชราและมรณะ
ย่อมทราบชัดซึ่งความดับแห่งชราและมรณะ
และย่อมทราบชัดซึ่งปฏิปทาอันสมควรให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ
และเธอย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามปฏิปทานั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตามธรรม
เราเรียกภิกษุรูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับไปแห่งชราและมรณะโดยชอบทุกประการ
อุปธิ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า
ก็อุปธิอันนี้
มีอะไรเป็นเหตุ
มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น
มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี อุปธิจึงมี
เมื่ออะไรไม่มี อุปธิจึงไม่มี
เมื่อเธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า
อุปธิมีตัณหาเป็นเหตุ
มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น
มีตัณหาเป็นกำเนิด
มีตัณหาเป็นแดนเกิด
เมื่อตัณหามี อุปธิจึงมี
เมื่อตัณหาไม่มี อุปธิก็ไม่มี
เธอย่อมทราบชัดซึ่งอุปธิ
ย่อมทราบชัดซึ่งเหตุเกิดแห่งอุปธิ
ย่อมทราบชัดซึ่งความดับแห่งอุปธิ
ย่อมทราบชัดซึ่งปฏิปทาอันสมควรให้ถึงความดับแห่งอุปธิ
และย่อมเป็นผู้ปฏิบัติตามปฏิปทานั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติตามธรรม
เราเรียกภิกษุรูปนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับแห่งอุปธิโดยชอบทุกประการ
ตัณหา
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาซึ่งปัจจัยภายในว่า
ก็ตัณหานี้
เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่ไหน
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน
เมื่อเธอพิจารณาอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
ที่ใดแลเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่นั้น
ก็อะไรเล่าเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตาเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ตานั้น
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ตานั้น
หูเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่หูนั้น
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่หูนั้น
จมูกเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่จมูกนั้น
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่จมูกนั้น
ลิ้นเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ลิ้นนั้น
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ลิ้นนั้น
กายเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่กายนั้น
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่กายนั้น
ใจเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก
ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ใจนั้น
เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่ใจนั้น
ผู้ไม่พ้นจากทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกโดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ทำตัณหาให้เจริญขึ้นแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ทำอุปธิให้เจริญขึ้นแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำอุปธิให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ทำทุกข์ให้เจริญขึ้นแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำทุกข์ให้เจริญขึ้นแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสแล้ว
เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นแล้วจากทุกข์ได้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักเห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกโดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดจักทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักทำอุปธิให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด จักทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักทำทุกข์ให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด จักทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักไม่พ้นไปจาก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เรากล่าวว่า เขาจักไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบันนี้ เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกโดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่มีโรค โดยความเป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมทำอุปธิให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมทำอุปธิให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมทำทุกข์ให้เจริญขึ้น
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดย่อมทำทุกข์ให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เรากล่าวว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ดังนี้
อุปมาบุรุษดื่มน้ำเจือด้วยยาพิษ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขันสำริดที่ใส่น้ำที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ
ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าว เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามา กระหายน้ำ คนทั้งหลายจึงได้พูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า
ขันสำริดที่ใส่น้ำนี้ ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ก็จงดื่มเถิด เพราะว่าเมื่อดื่มน้ำนั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็แต่ว่า ครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจะถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ
บุรุษนั้นผลุนผลันไม่ทันพิจารณา ดื่มน้ำนั้นเข้าไปไม่บ้วนทิ้งเลย เขาพึงถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตายเพราะการดื่มน้ำนั้นเป็นเหตุทันที แม้ฉันใด
ชนเหล่าใดเห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก
เป็นที่ชื่นใจในโลกโดยความเป็นของเที่ยง
โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน
โดยความเป็นของไม่มีโรค
โดยความเป็นของเกษม
ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำตัณหาให้เจริญขึ้น
ชนเหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้น
ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำอุปธิให้เจริญขึ้น
ชนเหล่าใดทำอุปธิให้เจริญขึ้น
ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำทุกข์ให้เจริญขึ้น
ชนเหล่าใดทำทุกข์ให้เจริญขึ้น
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เรากล่าวว่า เขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย ฉันนั้นเหมือนกันแล
ผู้พ้นจากทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรคโดยความเป็นภัยแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ละตัณหาได้แล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ละตัณหาได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ละอุปธิเสียได้แล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละอุปธิได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ละทุกข์เสียได้แล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละทุกข์ได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า พ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้แล้ว
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นพ้นแล้วจากทุกข์ได้ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล จักเห็นอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจในโลกโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นจักละตัณหาได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดจักละตัณหาได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักละอุปธิเสียได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดจักละอุปธิได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักละทุกข์เสียได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดจักละทุกข์ได้แล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า จักพ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นจักพ้นจากทุกข์ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบันกาล ย่อมเห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมละตัณหาได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละตัณหาได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมละอุปธิได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละอุปธิได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมละทุกข์ได้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดละทุกข์ได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้
อุปมาบุรุษไม่ดื่มเหล้าเจือด้วยยาพิษ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แก้วเหล้าที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ
ทันใดนั้น มีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าวเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามา กระหายน้ำ
คนทั้งหลายจึงได้พูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า
แก้วเหล้าที่ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงดื่มเถิด เพราะว่าเมื่อดื่มเหล้านั้น ก็จักซาบซ่านด้วยสีบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็แต่ว่า ครั้นดื่มเข้าไปแล้ว ตัวท่านจักถึงความตาย หรือถึงทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ
ลำดับนั้น บุรุษนั้นคิดอย่างนี้ว่า เหล้านี้เราดื่มแล้ว เราอาจจะบรรเทาได้ด้วยน้ำเย็น ด้วยเนยใส ด้วยน้ำข้าวสัตตุเค็ม หรือด้วยน้ำชื่อโลณโสจิรกะ แต่เราจะไม่ดื่มเหล้านั้นเลยเพราะไม่เป็นประโยชน์ มีแต่ทุกข์แก่เราช้านาน
เขาพิจารณาดูแก้วเหล้านั้นแล้ว ไม่พึงดื่ม เขาทิ้งเสีย เขาก็ไม่เข้าถึงความตาย หรือความทุกข์แทบตาย เพราะการดื่มนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด
ชนเหล่าใดเห็นอารมณ์อันเป็นที่รัก
เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง
โดยความเป็นทุกข์
โดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน
โดยความเป็นโรค โดยความเป็นภัย
ชนเหล่านั้นย่อมละตัณหาได้
ชนเหล่าใดละตัณหาได้
ชนเหล่านั้นชื่อว่าละอุปธิได้
ชนเหล่าใดละอุปธิได้
ชนเหล่านั้นชื่อว่าละทุกข์ได้
ชนเหล่าใดละทุกข์ได้
ชนเหล่านั้นชื่อว่าพ้นจากชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เรากล่าวว่า ชนเหล่านั้นย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล
อ้างอิง : สัมมสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๒๕๔-๒๖๒ หน้า ๑๐๔-๑๐๙