สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย"
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว
ทิฏฐิอันเกิดจากการปรารภขันธ์ส่วนอนาคต
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีทิฐิคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ย่อมปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวยืนยันบทแห่งความเชื่อมั่นหลายประการ คือ
อัตตาที่มีสัญญาเป็นของยั่งยืน เมื่อตายไป (สัญญีทิฏฐิ)
อัตตาที่ไม่มีสัญญาเป็นของยั่งยืน เมื่อตายไป (อสัญญีทิฏฐิ)
อัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เป็นของยั่งยืน เมื่อตายไป (เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ)
บัญญัติความขาดศูนย์ ความพินาศความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ (อุจเฉททิฏฐิ)
และอีกพวกหนึ่งกล่าวยืนยันนิพพานในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ)
เป็นอันว่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีอยู่ ว่ายั่งยืนเบื้องหน้าแต่ตายไป พวกหนึ่ง
บัญญัติความขาดศูนย์ ความพินาศ ความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ พวกหนึ่ง
กล่าวยืนยันนิพพานในปัจจุบัน อีกพวกหนึ่ง
รวมบทแห่งความเชื่อมั่นเหล่านี้ เป็น ๕ บท แล้วเป็น ๓ บท เป็น ๓ ขยายเป็น ๕
นี้อุเทศของบทห้า ๓ หมวด ของความเชื่อมั่น
สัญญีวาทะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืนเมื่อตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีสัญญา
(๑) ชนิด มีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๒) ชนิด ไม่มีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๓) ชนิดทั้ง มีรูปและไม่มีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๔) ชนิด มีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๕) ชนิด มีสัญญาอย่างเดียวกัน ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๖) ชนิด มีสัญญาต่างกัน ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๗) ชนิด มีสัญญาเล็กน้อย ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๘) ชนิด มีสัญญาหาประมาณมิได้ ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
แต่ยังมีอีกพวกหนึ่ง กล่าวยืนยันวิญญาณกสิณของอัตตามีสัญญาชนิดใดชนิดหนึ่งเหล่านี้ ที่เป็นไปล่วงชนิดทั้ง ๗ ว่า หาประมาณมิได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
แต่ยังมีอีกพวกหนึ่ง กล่าวยืนยันอากิญจัญญายตนะว่า หาประมาณมิได้ ไม่หวั่นไหว ด้วยเหตุที่สัญญานั้นบัณฑิตกล่าวว่า บริสุทธิ์เยี่ยมยอด ไม่มีสัญญาอื่นยิ่งกว่าสัญญาเหล่านี้ ทั้งที่เป็นสัญญาในรูป ทั้งที่เป็นสัญญาในอรูป ทั้งที่เป็น สัญญาอย่างเดียวกัน ทั้งที่เป็นสัญญาต่างกัน ไม่มีสักน้อยหนึ่ง
เรื่องสัญญาดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
อสัญญีวาทะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญาว่ายั่งยืนเมื่อตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญา
(๑) ชนิดมีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๓) ชนิดทั้งมีรูปและไม่มีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่ไม่มีรูปก็มิใช่ ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
สมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืนเมื่อตายไป (สัญญีวาทะ) ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกอสัญญีวาทะนั้น
นั่นเพราะเหตุไร
เพราะสัญญา (สัญญีทิฏฐิ) เป็นเหมือนโรค เป็นเหมือนหัวฝี เป็นเหมือนลูกศร
สิ่งดี ประณีต นี้คือความไม่มีสัญญา (อสัญญีทิฏฐิ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ก็สมณพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
เราจักบัญญัติการมาเกิด หรือการไปเกิด การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ นอกจากรูป นอกจากเวทนา นอกจากสัญญา นอกจากสังขาร นอกจากวิญญาณ
คำกล่าวดังนี้ของสมณพราหมณ์นั้น ไม่ใช่ฐานะที่มีได้
เรื่องไม่มีสัญญาดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ว่ายั่งยืนเมื่อตายไป ย่อมบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
(๑) ชนิดมีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๒) ชนิดไม่มีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๓) ชนิดทั้งมีรูปและไม่มีรูป ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
(๔) ชนิดมีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ว่ายั่งยืน เมื่อตายไป ก็มี
สมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืนเมื่อตายไป (สัญญีวาทะ) ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกเนวสัญญีนาสัญญีวาทะนั้น
แม้ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญาว่ายั่งยืนเมื่อตายไป (อสัญญีวาทะ) ก็ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกเนวสัญญีนาสัญญีวาทะนั้น
นั่นเพราะเหตุไร
เพราะสัญญา (สัญญีทิฏฐิ) เป็นเหมือนโรค เป็นเหมือนหัวฝี เป็นเหมือนลูกศร
ความไม่มีสัญญา (อสัญญีทิฏฐิ) เป็นความหลง
สิ่งดี ประณีตนี้ คือความมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ (เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดบัญญัติการเข้าอายตนะนี้ด้วยเหตุเพียงสังขารที่ตนรู้แจ้ง โดยได้เห็นได้ยินและได้ทราบ
การบัญญัติของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นความพินาศของการเข้าอายตนะนี้
เพราะอายตนะนี้ ท่านไม่กล่าวว่าพึงบรรลุด้วยความถึงพร้อมของสังขาร แต่กล่าวว่า พึงบรรลุด้วยความถึงพร้อมของขันธ์ที่เหลือจากสังขาร
เรื่องเนวสัญญานาสัญญายตนะดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
อุจเฉทวาทะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์ที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตนั้น สมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่ายั่งยืน เมื่อตายไป (สัญญีทิฏฐิ) ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติความขาดศูนย์ ความพินาศ ความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ (อุจเฉททิฏฐิ)
แม้ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่ไม่มีสัญญาว่ายั่งยืน เมื่อตายไป (อสัญญีทิฏฐิ) ก็ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกอุจเฉทวาทะนั้น
แม้ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ว่ายั่งยืนเบื้องหน้าแต่ตายไป (เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ) ก็ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกอุจเฉทวาทะนั้น
นั่นเพราะเหตุไร
เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดย่อมหมายมั่นกาลข้างหน้า กล่าวยืนยันความหวังอย่างเดียวว่า เราละโลกไปแล้ว จักเป็นเช่นนี้ ๆ
เปรียบเหมือนพ่อค้าไปค้าขายย่อมมีความหวังว่า ผลจากการค้าเท่านี้ จักมีแก่เรา เพราะการค้าขายนี้ เราจักได้ผลเท่านี้ ดังนี้ ฉันใด
ท่านสมณพราหมณ์พวกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ชะรอยจะเห็นปรากฏเหมือนพ่อค้า จึงหวังว่า เราละโลกไปแล้ว จักเป็นเช่นนี้ ๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติความขาดศูนย์ ความพินาศ ความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ เป็นผู้กลัวสักกายะ เกลียดสักกายะ แต่ยังวนเวียนไปตามสักกายะ อยู่นั่นแล
เปรียบเหมือนสุนัขที่เขาผูกโซ่ล่ามไว้ที่เสาหรือที่หลักมั่น ย่อมวนเวียนไปตามเสาหรือหลักนั่นเอง ฉันใด ท่านสมณพราหมณ์พวกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
เรื่องสักกายะดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต มีทิฐิคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ย่อมปรารภขันธ์ส่วนอนาคต กล่าวยืนยันบทแห่งความเชื่อมั่นหลายประการ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมกล่าวยืนยันอายตนะ ๕ นี้ทั้งมวล หรือเฉพาะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
ทิฏฐิอันเกิดจากการปรารภขันธ์ส่วนอดีต
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีทิฐิคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ย่อมปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวยืนยันบทแห่งความเชื่อมั่นหลายประการ คือ กล่าวยืนยันอย่างนี้ว่า
อัตตาและโลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า
อัตตาและโลกไม่เที่ยง...
อัตตาและโลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง...
อัตตาและโลกเที่ยงก็มิใช่ ไม่เที่ยงก็มิใช่...
อัตตาและโลกมีที่สุด...
อัตตาและโลกไม่มีที่สุด...
อัตตาและโลกทั้งมีที่สุดและไม่มีที่สุด...
อัตตาและโลกมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่...
อัตตาและโลกมีสัญญาอย่างเดียวกัน...
อัตตาและโลกมีสัญญาต่างกัน...
อัตตาและโลกมีสัญญาเล็กน้อย...
อัตตาและโลกมีสัญญาหาประมาณมิได้...
อัตตาและโลกมีสุขโดยส่วนเดียว...
อัตตาและโลกมีทุกข์โดยส่วนเดียว...
อัตตาและโลกมีทั้งสุขและทุกข์...
อัตตาและโลก มีทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเปล่า
สมณพราหมณ์พวกใดมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ ข้อที่ญาณเฉพาะตัวอันบริสุทธิ์ผุดผ่องของสมณพราหมณ์พวกนั้น ๆ จักมีเองได้ นอกจากความเชื่อ ความชอบใจ การฟังตามเขาว่า ความตรึกตามอาการ ความปักใจดิ่งด้วยทิฐิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
ก็เมื่อไม่มีญาณเฉพาะตัวอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้น ๆ ย่อมให้เพียงส่วนของความรู้แม้ใดในญาณนั้นแจ่มแจ้ง แม้ส่วนของความรู้นั้น บัณฑิตก็เรียกว่า อุปาทานของท่านสมณพราหมณ์พวกนั้น ๆ
เรื่องอุปาทานดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
นิพพานในปัจจุบัน
ปฐมฌาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เหตุสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้
ย่อมเข้าถึงปีติอันเกิดแต่วิเวกอยู่
ด้วยสำคัญว่า…
เรากำลังเข้าถึงสิ่งที่ดี ประณีต คือ ปีติเกิดแต่วิเวกอยู่
ปีติเกิดแต่วิเวกนั้นของเธอ ย่อมดับไปได้
เพราะปีติเกิดแต่วิเวกดับ ย่อมเกิดโทมนัส
เพราะโทมนัสดับ ย่อมเกิดปีติเกิดแต่วิเวก
เปรียบเหมือนร่มเงาละที่แห่งใด แดดย่อมแผ่ไปยังที่แห่งนั้น แดดละที่แห่งใด ร่มเงาก็ย่อมแผ่ไปยังที่แห่งนั้น ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะปีติเกิดแต่วิเวกดับ ย่อมเกิดโทมนัส เพราะโทมนัสดับ ย่อมเกิดปีติเกิดแต่วิเวก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณะหรือพราหมณ์นี้แล เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เหตุสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้
ย่อมเข้าถึงปีติอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ด้วยสำคัญว่า เรากำลังเข้าถึงสิ่งที่ดี ประณีต คือปีติเกิดแต่วิเวกอยู่ ปีติเกิดแต่วิเวกนั้นของเธอ ย่อมดับไปได้ เพราะปีติเกิดแต่วิเวกดับ ย่อมเกิดโทมนัส เพราะโทมนัสดับ ย่อมเกิดปีติเกิดแต่วิเวก
เรื่องปีติเกิดแต่วิเวกดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
ตติยฌาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เพราะสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้
และเพราะก้าวล่วงปีติเกิดแต่วิเวกได้ ย่อมเข้าถึงสุขเสมือนปราศจากอามิสอยู่
ด้วยสำคัญว่า...
เรากำลังเข้าถึงสิ่งที่ดี ประณีต คือ นิรามิสสุขอยู่
สุขเสมือนปราศจากอามิสนั้นของเธอ ย่อมดับไปได้
เพราะสุขเสมือนปราศจากอามิสดับ
...ย่อมเกิดปีติอันเกิดแต่วิเวก
เพราะปีติอันเกิดแต่วิเวกดับ
...ย่อมเกิดสุขเสมือนปราศจากอามิส
เปรียบเหมือนร่มเงาละที่แห่งใด แดดย่อมแผ่ไปยังที่แห่งนั้น แดดละที่แห่งใด ร่มเงาก็ย่อมแผ่ไปยังที่แห่งนั้น ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะสุขเสมือนปราศจากอามิสดับ ย่อมเกิดปีติอันเกิดแต่วิเวก เพราะปีติอันเกิดแต่วิเวกดับ ย่อมเกิดสุขเสมือนปราศจากอามิส
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณะหรือพราหมณ์นี้แล เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เพราะสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้ และเพราะก้าวล่วงปีติอันเกิดแต่วิเวกได้ ย่อมเข้าถึงสุขเสมือนปราศจากอามิสอยู่
ด้วยสำคัญว่า เรากำลังเข้าถึงสิ่งที่ดีประณีต คือนิรามิสสุขอยู่ สุขเสมือนปราศจากอามิสนั้นของเธอ ย่อมดับไปได้ เพราะสุขเสมือนปราศจากอามิสดับ ย่อมเกิดปีติอันเกิดแต่วิเวก เพราะปีติอันเกิดแต่วิเวกดับย่อมเกิดสุขเสมือนปราศจากอามิส
เรื่องสุขเสมือนปราศจากอามิสดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
จตุตถฌาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เพราะสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีตและทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้
และเพราะก้าวล่วงปีติอันเกิดแต่วิเวก ก้าวล่วงสุขเสมือนปราศจากอามิสได้ ย่อมเข้าถึงเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่อยู่
ด้วยสำคัญว่า…
เรากำลังเข้าถึงสิ่งที่ดี ประณีต คือ อทุกขมสุขเวทนาอยู่
เวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่นั้นของเธอ ย่อมดับไปได้
เพราะเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่ดับ ย่อมเกิดสุขเสมือนปราศจากอามิส
เพราะสุขเสมือนปราศจากอามิสดับ ย่อมเกิดเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่
เปรียบเหมือนร่มเงาละที่แห่งใด แดดย่อมแผ่ไปยังที่แห่งนั้น แดดละที่แห่งใด ร่มเงาก็ย่อมแผ่ไปยังที่แห่งนั้น ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกันแล เพราะเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่ดับ ย่อมเกิดสุขเสมือนปราศจากอามิส เพราะสุขเสมือนปราศจากอามิสดับ ย่อมเกิดเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณะหรือพราหมณ์นี้ เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เพราะสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้ และเพราะก้าวล่วงปีติอันเกิดแต่วิเวก ก้าวล่วงสุขเสมือนปราศจากอามิสได้ ย่อมเข้าถึงเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่อยู่
ด้วยสำคัญว่า เรากำลังเข้าถึงสิ่งที่ดี ประณีต คือ อทุกขมสุขเวทนาอยู่ เวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่นั้นของเธอ ย่อมดับไปได้ เพราะเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่ดับ ย่อมเกิดสุขเสมือนปราศจากอามิส เพราะสุขเสมือนปราศจากอามิสดับ ย่อมเกิดเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่
เรื่องเวทนาอันทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่ดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไปล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
เห็นว่าตนเป็นผู้สงบแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แต่สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เพราะสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้
และเพราะก้าวล่วงปีติอันเกิดแต่วิเวก
ก้าวล่วงสุขเสมือนปราศจากอามิส
ก้าวล่วงเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่ได้
ย่อมเล็งเห็นตัวเองว่า เป็นผู้สงบแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปาทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ท่านสมณะหรือพราหมณ์นี้แล เพราะไม่ตั้งกามสัญโญชน์ไว้โดยประการทั้งปวง เพราะสลัดทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต และทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคตเสียได้ และเพราะก้าวล่วงปีติอันเกิดแต่วิเวก ก้าวล่วงสุขเสมือนปราศจากอามิส ก้าวล่วงเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่ได้
ย่อมเล็งเห็นตัวเองว่า เป็นผู้สงบแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปาทาน
ท่านผู้นี้ย่อมกล่าวยืนยันปฏิปทาที่ให้สำเร็จนิพพานอย่างเดียวโดยแท้
แต่ก็ท่านสมณะหรือพราหมณ์นี้ เมื่อถือมั่นทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ก็ชื่อว่า ยังถือมั่นอยู่
หรือเมื่อถือมั่นทิฐิอันคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ก็ชื่อว่า ยังถือมั่นอยู่
หรือเมื่อถือมั่นกามสัญโญชน์ ก็ชื่อว่า ยังถือมั่นอยู่
หรือเมื่อถือมั่นปีติอันเกิดแต่วิเวก ก็ชื่อว่า ยังถือมั่นอยู่
หรือเมื่อถือมั่นสุขเสมือนปราศจากอามิส ก็ชื่อว่า ยังถือมั่นอยู่
หรือเมื่อถือมั่นเวทนาอันเป็นทุกข์ก็มิใช่สุขก็มิใช่ ก็ชื่อว่า ยังถือมั่นอยู่
และแม้ข้อที่ท่านผู้นี้ เล็งเห็นตัวเองว่า เป็นผู้สงบแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปาทานนั้น บัณฑิตก็เรียกว่า อุปาทาน ของท่านสมณพราหมณ์นี้
เรื่องอุปาทานดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่ง เป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังมีอยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นไป ล่วงสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บทอันประเสริฐ สงบ ไม่มีบทอื่นยิ่งกว่า ที่ตถาคตตรัสรู้เองด้วยปัญญาอันยิ่งนี้แล คือ
ความรู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องออกไปแห่งผัสสายตนะทั้ง ๖ ตามความเป็นจริง แล้วหลุดพ้นได้ด้วยไม่ถือมั่น
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล
อ้างอิง : ปัญจัตตยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อ ๒๘-๔๑ หน้า ๒๐-๓๐
Artist : Ardnas