ซากประตูเมืองกรุงกบิลพัสดุ์

ตระกูลพระญาติแปดหมื่นตระกูลประชุมกันในมงคลสถานแล้ว พระญาติองค์หนึ่งๆ ได้อนุญาตบุตรคนหนึ่ง ๆ ว่า พระราชกุมารนี้จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระราชาก็ตาม พวกเราจักให้บุตรคนละคน ถ้าแม้จักได้เป็นพระพุทธเจ้า จักเป็นผู้อันหมู่ขัตติยสมณะห้อมล้อมเที่ยวไป ถ้าแม้จักเป็นพระราชา จักเป็นผู้อันขัตติยกุมารห้อมล้อม กระทำไว้ในเบื้องหน้าเที่ยวไป ฝ่ายพระราชาก็ทรงตั้งนางนมผู้ปราศจากสรรพโรค สมบูรณ์ด้วยรูปอันอุดมแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เจริญด้วยบริวารใหญ่ ด้วยสิริโสภาคย์อันยิ่งใหญ่


วันหนึ่ง พระราชาสุทโธทนะทรงพาพระราชบุตรเสด็จออกในสถานที่ประกอบพระราชพิธีวัปปมงคล พระโพธิสัตว์ทรงนั่งขัดสมาธิ กำหนดอานาปานสติใต้ต้นหว้า ทำปฐมฌานให้เกิดขึ้น ในเวลานั้น เงาของต้นไม้อื่น ๆ คล้อยไปตามตะวันแล้ว ส่วนเงาของต้นไม้หว้ามิได้คล้อยไปด้วย พระราชาเสด็จมาเห็นปาฏิหาริย์ จึงไหว้พระโอรส 

เมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา พระราชาให้สร้างปราสาท ๓ หลัง อันเหมาะสมกับฤดูทั้งสาม และให้หญิงนักฟ้อนสี่หมื่นคอยรับใช้ เสวยมหาสมบัติอยู่ในปราสาทสามหลัง ส่วนพระเทวีมารดาพระราหุลเป็นพระอัครมเหสีของพระองค์

วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์มีพระประสงค์จะเสด็จยังอุทยาน จึงเรียกนายสารถีเทียมรถ พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นรถบ่ายพระพักตร์ไปทางอุทยาน เทวดาทั้งหลายคิดว่า



ภายในบริเวณกรุงกบิลพัสดุ์

"กาลที่จะตรัสรู้ของพระสิทธัตถกุมารใกล้เข้ามาแล้ว พวกเราจักแสดงบุพนิมิต" 

จึงแสดงเทวบุตรองค์หนึ่งให้เป็นคนแก่ชรา มีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง มีร่างกายค้อมลง ถือไม้เท้า สั่นงก ๆ เงิ่น ๆ

พระโพธิสัตว์ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ชรานั้น ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้ตรัสถามนายสารถีว่า "บุรุษนั่นชื่อไร แม้ผมของเขาก็ไม่เหมือนคนอื่น ๆ"  ได้ทรงสดับคำตอบของนายสารถีแล้ว ทรงดำริว่า "ความเกิดนี้น่าติเตียนจริงหนอ เพราะชื่อว่าความแก่จักปรากฏแก่สัตว์ผู้เกิดแล้ว" ดังนี้ มีพระทัยสลด เสด็จกลับจากที่นั้นขึ้นสู่ปราสาททันที

พระราชาตรัสถามว่า "เพราะเหตุไรบุตรของเราจึงกลับเร็ว"

นายสารถีกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ เพราะเห็นคนแก่ พระเจ้าข้า"

พระราชาตรัสว่า "พวกเขาพูดกันว่าเพราะพระโพธิสัตว์เห็นคนแก่จักบวช เพราะเหตุไรพวกเจ้าจึงจะทำเราให้ฉิบหายเสียเล่า จงรีบจัดนางฟ้อนรำให้ลูกเราดู เธอเสวยสมบัติอยู่ จักไม่ระลึกถึงการบวช" แล้วทรงเพิ่มการอารักขาให้มากขึ้น วางการอารักขาไว้ในที่ทุก ๆ กึ่งโยชน์ ในทิศทั้งปวง



วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังอุทยานเหมือนอย่างเดิม ทอดพระเนตรเห็นคนเจ็บที่เทวดานิมิตขึ้น มีพระทัยสลด เสด็จกลับขึ้นสู่ปราสาท

ฝ่ายพระราชาก็ตรัสถามแล้วทรงเพิ่มการอารักขาขึ้นอีก ทรงวางการอารักขาไว้ในที่มีประมาณ ๓ คาวุตโดยรอบ

ต่อมาอีกวัน พระโพธิสัตว์เสด็จไปอุทยานเหมือนเดิม ทอดพระเนตรเห็นคนตายที่เทวดานิมิตขึ้น มีพระทัยสลด หวนกลับขึ้นสู่ปราสาท

ฝ่ายพระราชาก็ตรัสถามแล้วทรงเพิ่มการอารักขาขึ้นอีก ทรงวางการอารักขาไว้ในที่ประมาณหนึ่งโยชน์โดยรอบ

วันรุ่งขึ้นต่อมา พระโพธิสัตว์เสด็จไปอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นบรรพชิตนุ่งห่มเรียบร้อยที่เทวดานิมิตไว้อย่างนั้นเหมือนกัน จึงตรัสถามนายสารถีว่า "สหาย ผู้นี้ชื่อไร"

เขากล่าวว่า "ผู้นี้ชื่อว่าบรรพชิต แล้วพรรณนาคุณของการบวช"

พระโพธิสัตว์ยังความพอพระทัยให้เกิดขึ้นในการบวช ได้เสด็จไปยังอุทยานตลอดวันนั้น

สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนะทรงสดับว่า มารดาพระราหุลประสูติพระโอรส จึงส่งสาส์นไปบอกพระโพธิสัตว์ เมื่อทรงสดับข่าวแล้วตรัสว่า

“ราหุล (ห่วง) เกิดแล้ว เครื่องจองจำเกิดแล้ว”  พระราชาทรงทราบข้อความนั้น จึงให้นามพระกุมารว่า ราหุลกุมาร



ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็เสด็จขึ้นทรงรถอันประเสริฐ เสด็จเข้าสู่พระนครด้วยพระยศอันยิ่งใหญ่ ด้วยพระสิริโสภาคย์อันรื่นรมย์ใจยิ่งนัก สมัยนั้น นางขัตติยกัญญาพระนามว่า กีสาโคตมี เสด็จอยู่ปราสาทชั้นบน เห็นพระโพธิสัตว์ขณะกำลังเข้าสู่พระนครด้วยพระยศ เมื่อเห็นความสง่างามแห่งพระรูปโฉมของพระโพธิสัตว์ผู้กระทำประทักษิณพระนคร ทรงเกิดปีติโสมนัส จึงเปล่งอุทานว่า “บุรุษเช่นนี้ เป็นบุตรของมารดาใด มารดานั้นก็ดับ(เย็นใจ)ได้แน่ เป็นบุตรของบิดาใด บิดานั้นก็ดับได้แน่ เป็นสามีของนารีใด นารีนั้นก็ดับได้แน่”

พระโพธิสัตว์สดับคำนั้นแล้วดำริว่า "พระนางตรัสอย่างนี้ว่า หทัยของมารดา หทัยของบิดา หทัยของภริยา ผู้เห็นอัตภาพนี้ ย่อมดับทุกข์ได้ เมื่ออะไรหนอดับ หทัยจึงชื่อว่าดับทุกข์ได้" 

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ผู้คลายกำหนัดในกิเลสทั้งหลายได้มีพระดำริว่า


"เมื่อไฟคือราคะดับ หทัยชื่อว่าดับ เมื่อไฟคือโทสะดับ หทัยชื่อว่าดับ เมื่อไฟคือโมหะดับ หทัยชื่อว่าดับ เมื่อความเร่าร้อนเพราะกิเลสทั้งปวงดับ หทัยชื่อว่าดับ วันนี้เราควรทิ้งการครองเรือน แล้วออกบวชแสวงหาความดับ"


พระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นสู่ปราสาท เพื่อเสด็จบรรทม เหล่านักฟ้อนผู้งามด้วยรูปโฉมถือดนตรีนานาชนิดมาแวดล้อม ทำพระโพธิสัตว์ให้อภิรมย์ยินดี พากันประกอบการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง พระโพธิสัตว์ไม่ทรงอภิรมย์ยินดีในการฟ้อนรำ ทรงมีพระหทัยเบื่อหน่ายในกิเลสทั้งหลาย เข้าสู่นิทรา

ฝ่ายสตรีเหล่านั้นคิดกันว่า "พวกเราประกอบการฟ้อนรำเป็นต้นเพื่อประโยชน์แก่พระราชกุมารใด พระราชกุมารนั้นเสด็จเข้าสู่นิทราแล้ว บัดนี้ พวกเราจะลำบากไปเพื่ออะไร" ต่างพากันวางเครื่องดนตรีที่ถือไว้ แล้วก็นอนหลับไป ดวงประทีป น้ำมันหอมยังคงลุกสว่างอยู่



พระโพธิสัตว์ทรงตื่นบรรทม ได้ทอดพระเนตรเห็นสตรีเหล่านั้นมีอาการผิดแปลกดุจซากศพนานาชนิด จึงเปล่งอุทานว่า “วุ่นวายจริงหนอ ขัดข้องจริงหนอ” ทรงดำริว่า "เราออกมหาภิเนษกรมณ์เสียในวันนี้แหละ" จึงตรัสกะนายฉันนะให้นำม้ากัณฐกะมา ได้เสด็จไปโดยสิริโสภาคย์ ล่วงเลยอาณาจักรทั้ง ๓ โดยราตรีเดียว ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมาในที่สุด ๓๐ โยชน์

พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนบนเนินทราย เอาพระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬาพร้อมกับพระเมาลี ตัดพระเกศาเหลือ ๒ องคุลี เวียนขวาแนบติดพระเศียร แม้พระเกศานั้นก็มีประมาณเท่านี้จนตลอดพระชนม์ชีพ พระโพธิสัตว์ถือพระจุฬากับพระเมาลีแล้วทรงอธิษฐานว่า


"ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้า พระจุฬาและพระเมาลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าจักไม่ได้เป็น จงตกลงบนแผ่นดิน"


เสาอโศกบริเวณที่คาดว่าเป็นเนินทรายที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากหลังม้ากัณฐกะ

ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงเอาผอบแก้วรับพระจุฬาและพระเกศาไว้ แล้วนำไปประดิษฐานในเจดีย์ชื่อ จุฬามณี ในดาวดึงส์ภพ ฆฏิการมหาพรหม สหายเก่าของพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความเป็นมิตรไม่เสื่อมคลายตลอดพุทธันดรหนึ่ง ได้นำบริขาร ๘ มาถวาย คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคด กับผ้ากรองน้ำ พระโพธิสัตว์ทรงนุ่งห่มธงชัยของพระอรหันต์ ถือเพศบรรพชิต แล้วส่งนายฉันนะให้กลับไปกราบทูลความแก่พระชนกและชนนี ม้ากัณฐกะไม่อาจอดกลั้นความโศก หทัยแตก แล้วบังเกิดในดาวดึงส์ภพ นาม เทพบุตรกัณฐกะ

 

 

อ้างอิง: อวิทูเรนิทาน