ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

ปฏิปทาสายกลาง


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน


ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่ อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑

อริยสัจ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็น ทุกขอริยสัจ คือ

ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์  ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็น ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ

ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ  คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็น ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ

ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือ ด้วยมรรค คือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ

อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑  ความดำริชอบ ๑  เจรจาชอบ ๑  การงานชอบ ๑  เลี้ยงชีวิตชอบ ๑  พยายามชอบ ๑  ระลึกชอบ ๑  ตั้งจิตชอบ ๑



ธัมเมกขสถูป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ดวงตา  ญาณ  ปัญญา  วิทยา  แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า

นี้ทุกขอริยสัจ
ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล ควรกำหนดรู้
ทุกขอริยสัจนี้นั้นแล เราก็ได้กำหนดรู้แล้ว

นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ
ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล ควรละเสีย
ทุกขสมุทัยอริยสัจนี้นั้นแล เราได้ละแล้ว

นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้นั้นแล เราทำให้แจ้งแล้ว  

นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ 
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล ควรให้เจริญ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้นั้นแล เราให้เจริญแล้ว

ญาณทัสสนะ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด เรายังยืนยันไม่ได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

ก็เมื่อใดแล ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒  อย่างนี้หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์  พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความพ้นวิเศษของเราไม่กลับกำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด ภพใหม่ไม่มีต่อไป

ก็แล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี  ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า 


สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้บันลือเสียงว่า 

“นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้"

เทวดาชั้นจาตุมหาราช ได้ยินเสียงของพวกภุมมเทวดาแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป

เทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไป

เทวดาชั้นยามา...
เทวดาชั้นดุสิต...
เทวดาชั้นนิมมานรดี...
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี...

เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของพวกเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ก็บันลือเสียงต่อไปว่า

“นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกจะปฏิวัติไม่ได้”

ชั่วขณะกาลครู่หนึ่งนั้น เสียงกระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้แล     

ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้  ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานว่า 

"ท่านผู้เจริญโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ท่านผู้เจริญโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ”

เพราะเหตุนั้น คำว่าอัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ ด้วยประการฉะนี้

 

 

อ้างอิง : ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๔/๑๓-๑๗/๑๕-๑๙