สถูปพระเจ้าสุทโธทนะและมหามายาเทวี

ในวันที่แปด พระพุทธองค์ทรงปรารภถึงเรื่อง ความเป็นผู้ไม่ทรงเชื่อง่ายของพระพุทธบิดาในพระราชนิเวศน์ ครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชถวายข้าวยาคูและของเคี้ยวแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๒๐,๐๐๐ เป็นบริวาร ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ เมื่อทรงกระทำสัมโมทนียกถาในระหว่างภัต พระเจ้าสุทโธทนมหาราชได้ตรัสกับพระผู้มีพระภาคว่า

“พระเจ้าข้า เวลาที่พระองค์ทำความเพียรอยู่ มีหมู่เทวดามายืนอยู่ในอากาศบอกแก่หม่อมฉันว่า สิทธัตถกุมารโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์เสียแล้ว เพราะเสวยพระกระยาหารน้อย”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเชื่อหรือ”

“หม่อมฉันไม่เชื่อดอกพระเจ้าข้า ยังห้ามเทวดาที่ยืนกล่าวอยู่ในอากาศเสียอีกว่า พระโอรสของเรายังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์แล้ว จะยังไม่ปรินิพพาน”

“มหาบพิตร ในบัดนี้ พระองค์จักทรงเชื่อได้อย่างไร แม้ในครั้งก่อน ครั้งหม่อมฉันเกิดเป็นมหาธรรมปาลกุมาร เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์เอากระดูกแพะมาแสดงบอกว่า บุตรของท่านตายเสียแล้ว นี่กระดูกบุตรของท่าน พระองค์ก็มิได้ทรงเชื่อ กล่าวกับอาจารย์ว่า ในตระกูลของเรานี่จะตายกำลังหนุ่มนั้นเป็นไม่มี ก็เหตุไรในบัดนี้ พระองค์จักทรงเชื่อเล่า”

เมื่อได้ฟังดังนั้น พระพุทธบิดาจึงทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว พระพุทธองค์จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ได้มีบ้านธรรมปาลคาม ในแคว้นกาสีเป็นที่อยู่ของตระกูลธรรมบาลพราหมณ์ ที่ปรากฏชื่อว่าธรรมบาล เพราะเหตุที่รักษาธรรม คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ ในตระกูลของเขา ชั้นทาสและกรรมกรก็ให้ทาน รักษาศีล ทำอุโบสถกรรม

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลนั้น ได้นามว่า ธรรมปาลกุมาร ครั้นเจริญวัยแล้ว บิดาได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง ส่งไปเรียนศิลปะ ณ เมืองตักศิลา ธรรมปาลกุมารไป ณ ที่นั้นแล้ว เรียนศิลปะในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นหัวหน้ามาณพพวกอันเตวาสิก ๕๐๐ คน

ครั้งนั้นบุตรคนโตของอาจารย์ตายลง ทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์มาณพและหมู่ญาติต่างร้องไห้คร่ำครวญ ทำฌาปนกิจศพบุตรในป่าช้า ธรรมปาลบุตรคนเดียวเท่านั้น ไม่ร้องไห้ ไม่คร่ำครวญ เมื่อมาณพ ๕๐๐ คนนั้น มาจากป่าช้าแล้ว ได้พากันไปนั่งรำพันอยู่ในสำนักอาจารย์ว่า

“น่าเสียดาย มาณพหนุ่มสมบูรณ์ด้วยมารยาทเห็นปานนี้ พลัดพรากจากมารดาบิดา ตายเสียแต่ยังหนุ่มทีเดียว”

ธรรมปาลกุมารกล่าวว่า

“เพื่อน ท่านทั้งหลายกล่าวว่ายังหนุ่ม ก็เหตุไรเล่า จึงได้ตายกันเสียแต่ยังหนุ่ม เวลาหนุ่มยังไม่ควรตายมิใช่หรือ”

“แน่ะเพื่อน ท่านไม่รู้จักความตายของสัตว์เหล่านี้ดอกหรือ”

“เรารู้ แต่ไม่มีใครตายแต่ยังหนุ่ม ตายกันเมื่อแก่แล้วทั้งนั้น”

“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีแล้วกลับไม่มี มิใช่หรือ”

“จริง สังขารไม่เที่ยง แต่สัตว์ทั้งหลายไม่ตายแต่ยังหนุ่ม ตายกันเมื่อแก่แล้ว ถึงซึ่งความไม่เที่ยง”

“แน่ะเพื่อนธรรมปาละ ในเรือนของท่านไม่มีใครตายหรือ”

“ที่ตายแต่ยังหนุ่มไม่มี มีแต่ตายกันเมื่อแก่แล้วทั้งนั้น”

“ข้อนี้เป็นประเพณีแห่งตระกูลของท่านหรือ”

“ถูกแล้ว เป็นประเพณีแห่งตระกูลของเรา”

มาณพทั้งหลายได้ฟังถ้อยคำของธรรมปาลกุมารดังนั้นแล้ว จึงพากันบอกแก่อาจารย์  อาจารย์เรียกธรรมปาลกุมารมาถามว่า

“พ่อธรรมปาละ ได้ยินว่าในตระกูลของท่าน คนไม่ตายกันแต่ยังหนุ่ม จริงหรือ”

ธรรมปาลกุมารกล่าวตอบว่า “จริง ท่านอาจารย์”

อาจารย์ฟังคำของเขา แล้วคิดว่า

“กุมารนี้ พูดอัศจรรย์เหลือเกิน เราจักไปสำนักบิดาของกุมารนี้ ถามดู ถ้าเป็นจริง เราจักบำเพ็ญธรรมเช่นนั้นบ้าง”

อาจารย์นั้น ครั้นทำฌาปนกิจศพบุตรเสร็จแล้ว ล่วงมาได้ ๗ - ๘ วัน ได้เรียกธรรมปาลกุมารมาสั่งว่า

“แน่ะพ่อ เราจักจากไป เจ้าจงบอกศิลปะแก่มาณพเหล่านี้ จนกว่าเราจะกลับมา”

สั่งแล้วก็เก็บกระดูกแพะตัวหนึ่งมาล้างเอาใส่กระสอบ ให้คนรับใช้ผู้หนึ่งถือตามไป ออกจากเมืองตักศิลาไปโดยลำดับ ถึงบ้านนั้น เที่ยวถามถึงเรือนของมหาธรรมปาละว่าหลังไหน รู้แห่งแล้วก็ไปยืนอยู่ที่ประตู

พวกทาสของพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของธรรมปาละที่เห็นก่อน ต่างก็รับร่ม รับรองเท้าจากมือของอาจารย์ และรับกระสอบจากมือของคนรับใช้ เมื่ออาจารย์กล่าวว่า

“พวกท่านจงไปบอกบิดาของธรรมปาลกุมารว่า อาจารย์ของธรรมปาลกุมารบุตรของท่านมายืนอยู่ที่ประตู”

พวกทาสรับคำแล้วก็พากันไปบอกพราหมณ์ พราหมณ์รีบไปที่ใกล้ประตู เชื้อเชิญอาจารย์ขึ้นเรือน ให้นั่งบนบัลลังก์ ทำกิจทุกอย่างมีล้างเท้า เป็นต้น อาจารย์บริโภคอาหารแล้ว กล่าวว่า

“ท่านพราหมณ์ ธรรมปาลกุมารบุตรของท่านเป็นคนมีสติปัญญา เรียนจบไตรเพทและศิลปะ ๑๘ ประการแล้ว แต่ได้ตายเสียแล้วด้วยโรคอย่างหนึ่ง สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ท่านอย่าเศร้าโศกไปเลย”

บิดาของธรรมปาละตบมือหัวเราะดังลั่น เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์เห็นดังนั้น ก็ถามว่า

“ท่านพราหมณ์ ท่านหัวเราะอะไร” 

บิดาของธรรมปาละกล่าวว่า “ลูกฉันยังไม่ตาย ที่ตายนั้น จักเป็นคนอื่น”

“ท่านพราหมณ์ ท่านได้เห็นกระดูกบุตรของท่านแล้วจงเชื่อเถิด” แล้วนำกระดูกออกมา กล่าวว่า

“นี่กระดูกบุตรของท่าน”

“นี้จักเป็นกระดูกแพะหรือกระดูกสุนัข แต่ลูกฉันยังไม่ตาย เพราะในตระกูลของเรา ๗ ชั่วโคตรมาแล้ว ไม่มีใครเคยตายแต่ยังหนุ่มเลย ท่านพูดปด”

ขณะนั้น คนทั้งหมดได้ตบมือหัวเราะกันยกใหญ่ อาจารย์ทิศาปาโมกข์เห็นความอัศจรรย์นั้นแล้วมีความโสมนัส จึงถามว่า

“อะไรเป็นวัตรของท่าน อะไรเป็นพรหมจรรย์ของท่าน การที่คนหนุ่ม ๆ ในตระกูลของท่านไม่ตายนี้ เป็นผลของกรรมอะไรที่ท่านได้ประพฤติมาเป็นอย่างดีแล้ว ดูกรพราหมณ์ ขอท่านช่วยบอกเนื้อความนี้แก่เรา เหตุไรหนอคนหนุ่ม ๆ ของท่านจึงไม่ตาย”

“พวกเราประพฤติธรรม ไม่กล่าวมุสา งดเว้นกรรมชั่ว งดเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งปวง เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

พวกเราได้ฟังธรรมของอสัตบุรุษและสัตบุรุษแล้ว ไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ เลยละทิ้งอสัตบุรุษเสีย แต่ไม่ละทิ้งสัตบุรุษ เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

ก่อนจะให้ทาน พวกเราก็เป็นผู้ตั้งใจดี แม้กำลังให้ก็ชื่นชมยินดี ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

พวกเราเลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง วณิพก ยาจก และคนขัดสนทั้งหลาย ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าว น้ำ เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

พวกเราไม่นอกใจภรรยา ถึงภรรยาก็ไม่นอกใจพวกเรา พวกเราประพฤติพรหมจรรย์นอกจากภรรยาของตน เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

เราทุกคนงดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้ในโลก ไม่กล่าวมุสา ไม่ดื่มน้ำเมา เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

บุตรของพวกเราเกิดในหญิงที่ดีเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาดเฉลียว มีปัญญามาก เป็นพหูสูต เรียนจบไตรเพท เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

มารดาบิดา พี่น้องหญิงชาย บุตรภรรยา และเราทุกคนประพฤติธรรมเพราะเหตุแห่งโลกหน้า เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย     

ทาส ทาสี คนอาศัยเลี้ยงชีพ คนใช้ และกรรมกรทั้งหมด ก็ประพฤติธรรมเพราะเหตุแห่งโลกหน้า เพราะเหตุนี้แหละ คนหนุ่ม ๆ ของพวกเราจึงไม่ตาย

ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ

ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มใหญ่ในฤดูฝน ฉะนั้น ธรรมปาละบุตรของเรา อันธรรมคุ้มครองแล้ว กระดูกที่ท่านนำเอามานี้ เป็นกระดูกสัตว์อื่น บุตรของเรายังมีความสุข”

อาจารย์ทิศาปาโมกข์ฟังแล้วมีความยินดี ขอขมาโทษกะบิดาธรรมปาละ แล้วกล่าวว่า

“การมาของข้าพเจ้าเป็นการมาดี มีผล ไม่ไร้ผล นี้เป็นกระดูกแพะ ข้าพเจ้านำมาเพื่อจะลองท่าน บุตรของท่านสบายดี ท่านจงให้ธรรมที่ท่านรักษาแก่ข้าพเจ้าบ้าง”

ดังนี้แล้วเขียนข้อความลงในสมุด อยู่ในที่นั้น ๒ - ๓ วัน แล้วไปเมืองตักศิลา ให้ธรรมปาลกุมารศึกษาศิลปะทุกอย่าง แล้วส่งไปด้วยบริวารใหญ่

พระทศพลทรงประชุมชาดกว่า

“มารดาบิดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธมารดาพุทธบิดาในบัดนี้ อาจารย์ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ บริษัทในครั้งนั้นได้มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนธรรมปาลกุมาร ได้มาเป็นเราตถาคต”

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้ มาแสดงแก่พระเจ้าสุทโธทนมหาราชแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมในเวลาจบสัจจะ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล

 

 

อ้างอิง : มหาธรรมปาลชาดก พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๗ ข้อที่ ๑๔๑๐-๑๔๒๑ หน้า ๒๖๓-๒๖๕ และอรรถกถา