พระคันธกุฏี วิหารเชตวัน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงได้ทรงปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

"พระโคดมผู้เจริญย่อมทรงปฏิญาณบ้างหรือไม่ว่า เราได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม "

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

"ดูกรมหาบพิตร ก็พระองค์เมื่อจะตรัสโดยชอบก็พึงตรัสถึงอาตมภาพว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม

ดูกรมหาบพิตร เพราะว่าอาตมภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ"

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณะกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถ์นาฏบุตร สัญชัย เวลัฏฐบุตร ปกุธะ กัจจายนะ อชิตเกสกัมพล  สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น เมื่อถูกหม่อมฉันถามว่า ท่านทั้งหลายย่อมปฏิญาณได้หรือว่า เราได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดังนี้  ก็ยังไม่ปฏิญาณตนได้ว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่มโดยกำเนิดและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ไฉนจึงปฏิญาณได้เล่า"

ของ ๔ อย่าง ที่ไม่ควรดูหมิ่น

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

"ดูกรมหาบพิตร ของ ๔ อย่าง เหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย ๔ อย่างเป็นไฉน คือ

๑.  กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
๒.  งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
๓.  ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
๔.  ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม

พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยพระชาติ มีพระชาติสูง ผู้ทรงพระยศว่ายังทรงพระเยาว์ เพราะเหตุว่า พระองค์เป็นมนุษย์ชั้นสูง ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ทรงพระพิโรธขึ้น ย่อมทรงลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้ ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทกษัตริย์ นั้นเสีย

นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก เพราะเหตุว่างูเป็นสัตว์มีพิษ ย่อมเที่ยวไปด้วย รูปร่างต่าง ๆ งูนั้นพึงมากัดชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทงู นั้นเสีย

นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก ลุกเป็นเปลว มีทางที่ ๆ ไฟไหม้ไปดำ ว่าเล็กน้อย เพราะว่าไฟนั้นได้เชื้อแล้ว ก็เป็นกองไฟใหญ่ พึงลามไหม้ชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราว ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการ สบประมาทไฟนั้นเสีย

แต่ว่าป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำไปแล้ว เมื่อวันคืนล่วงไป ๆ พรรณหญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้ ส่วนผู้ใดถูกภิกษุผู้มีศีลแผดเผาด้วยเดช บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ ไม่มีเผ่าพันธุ์ ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน

ฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต พิจารณาเห็นงู ไฟ กษัตริย์ผู้ทรงยศ และภิกษุผู้มีศีล ว่าเป็นภัยแก่ตน พึงประพฤติต่อโดยชอบทีเดียว

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสจบลงแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะได้เห็นรูป ฉันใด

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึก ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณคมน์จนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"

 

 

อ้างอิง : ทหรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๒๒-๓๒๗ หน้า ๘๖-๘๘