แม่น้ำคงคา ระหว่างปาฏลิคาม
ก็สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะ อำมาตย์ผู้ใหญ่ในมคธรัฐ ต่างตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ ด้วยคิดว่า
“วันนี้ พระสมณโคดมจักเสด็จออกทางประตูใด ประตูนั้นจักมีนามว่า ประตูโคดม จักเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาทางท่าใด ท่านั้นจักมีนามว่า ท่าโคดม”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกทางประตูใด ประตูนั้นได้นามแล้วว่า ประตูโคดม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังแม่น้ำคงคา
ก็สมัยนั้น แม่น้ำคงคาเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้ พวกมนุษย์ผู้ประสงค์จะข้ามฟาก บางพวกเที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์ทรงหายไป ณ ที่ฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา ไปปรากฏตนที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ไว้ หรือคู้แขนที่เหยียดออกแล้ว ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรมนุษย์เหล่านั้น ผู้ประสงค์จะข้ามฟาก บางพวกเที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่นอยู่ พระองค์ทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งพระอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
“เหล่าชนที่จะข้ามสระ คือ ตัณหาอันเวิ้งว้าง
ต้องสร้างสะพานเพื่อพ้นเปือกตม
ก็และขณะที่ชนกำลังผูกทุ่นอยู่
หมู่ชนผู้มีปัญญา ข้ามได้แล้ว”
อ้างอิง : มหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๘๕ หน้า ๗๘-๗๙