ภายในบริเวณสวนลุมพินีวัน
พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า
“ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ผู้สงัด และมีความสงบเป็นที่ตั้ง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่
ภิกษุเห็นอย่างไร จึงไม่ถือมั่น ธรรมอะไร ๆ ในโลก ย่อมดับ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
“ภิกษุพึงปิดกั้นเสียซึ่งธรรมทั้งปวง
อันเป็นรากเง่าแห่งส่วนของธรรม
เป็นเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้า
ซึ่งเป็นไปอยู่ว่า เป็นเรา ด้วยปัญญา
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งพึงบังเกิดขึ้น ณ ภายใน
ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ
เพื่อปราบตัณหาเหล่านั้น
ภิกษุพึงรู้ยิ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ณ ภายใน หรือภายนอก
ไม่พึงกระทำความถือตัวด้วยธรรมนั้น
สัตบุรุษทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส
ภิกษุไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา
เสมอเขา หรือเลวกว่าเขา ด้วยความถือตัวนั้น
เมื่อถูกผู้อื่นถามด้วยคุณหลายประการ
ก็ไม่พึงกำหนดตนโดยนัย เป็นต้นว่า
เราบวชแล้วจากสกุลสูง
ภิกษุพึงสงบระงับภายในเทียว
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอย่างอื่น
ความเห็นว่าตัวตน
ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สงบแล้ว ณ ภายใน
อนึ่ง ความเห็นว่าไม่มีตัวตน
คือ เห็นว่าขาดสูญ จักมีแต่ที่ไหน
คลื่นไม่เกิดที่ท่ามกลางแห่งสมุทร
สมุทรนั้นตั้งอยู่ไม่หวั่นไหว ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว
ในอิฐผล มีลาภ เป็นต้น ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงกระทำกิเลสเครื่องฟูขึ้น
มีราคะ เป็นต้น ในอารมณ์ไหน ๆ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุเปิดแล้ว ขอพระองค์ได้ตรัสบอกธรรมที่ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง อันนำเสียซึ่งอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อปฏิบัติ
และศีลเครื่องให้ผู้รักษาพ้นจากทุกข์ หรือสมาธิเถิด”
“ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุเลย
พึงปิดกั้นโสตเสียจากถ้อยคำของชาวบ้าน
(ดิรัจฉานกถา)
ไม่พึงกำหนัดยินดีในรส
และไม่พึงถือสิ่งอะไร ๆ ในโลกว่าเป็นของเรา
เมื่อภิกษุถูกผัสสะกระทบในกาลใด
ในกาลนั้น ภิกษุไม่พึงกระทำความร่ำไร
ไม่พึงปรารถนาภพในที่ไหน ๆ
และไม่พึงหวั่นไหวเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว
ภิกษุได้ข้าว น้ำ ของเคี้ยว หรือแม้ผ้าแล้ว
ไม่พึงกระทำการสั่งสมไว้
และเมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่พึงสะดุ้งดิ้นรน
พึงเป็นผู้เพ่งฌาน
ไม่พึงโลเลด้วยการเที่ยว
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
อีกอย่างหนึ่ง
ภิกษุพึงอยู่ในที่นั่งและที่นอนอันเงียบเสียง
ไม่พึงนอนมาก พึงมีความเพียร เสพความเป็นผู้ตื่นอยู่
พึงละเสียให้เด็ดขาดซึ่งความเกียจคร้าน
ความล่อลวง ความร่าเริง การเล่นเมถุนธรรม กับทั้งการประดับ
ภิกษุผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา
ไม่พึงประกอบการทำอาถรรพ์ การทำนายฝัน
การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม
ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง
การทำยาให้หญิงมีครรภ์ และการเยียวยารักษา
ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะนินทา
เมื่อเขาสรรเสริญก็ไม่พึงเห่อเหิม
พึงบรรเทาความโลภ พร้อมทั้งความตระหนี่
ความโกรธ และคำส่อเสียดเสีย
ภิกษุไม่พึงขวนขวายในการซื้อการขาย
ไม่พึงกระทำการกล่าวติเตียนในที่ไหน ๆ
และไม่พึงคลุกคลีในชาวบ้าน
ไม่พึงเจรจากะชนเพราะความใคร่ลาภ
ภิกษุไม่พึงเป็นผู้พูดโอ้อวด
ไม่พึงกล่าววาจาประกอบปัจจัย มีจีวร เป็นต้น
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง
ไม่พึงกล่าวถ้อยคำเถียงกัน
ภิกษุพึงเป็นผู้มีสัมปชัญญะ
ไม่พึงนิยมในการกล่าวมุสา
ไม่พึงกระทำความโอ้อวด
อนึ่ง ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น...
...ด้วยความเป็นอยู่ ปัญญา ศีล และพรต
ภิกษุถูกผู้อื่นเสียดสีแล้ว
ได้ฟังวาจามากของสมณะทั้งหลาย...
...หรือของชนผู้พูดมาก
ไม่พึงโต้ตอบด้วยคำหยาบ
เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่สร้างศัตรู
ภิกษุรู้ทั่วถึงธรรมนี้แล้ว ค้นคว้าพิจารณาอยู่
รู้ความดับกิเลสว่าเป็นความสงบ ดังนี้แล้ว
พึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม
ก็ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้ครอบงำอารมณ์ มีรูป เป็นต้น
ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ มีรูป เป็นต้น
เป็นผู้เห็นธรรมที่ตนเห็นเอง ประจักษ์แก่ตน
เพราะเหตุนั้นแล
ภิกษุผู้ไม่ประมาท พึงนอบน้อมศึกษาไตรสิกขาอยู่เนือง ๆ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทุกเมื่อเทอญ”
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสปฏิปทาบริบูรณ์แก่พระพุทธนิมิตอย่างนี้แล้ว จึงทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอด คือ พระอรหัต ด้วยประการฉะนี้
อ้างอิง : ตุวฏกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๒๑ หน้า ๓๘๓-๓๘๕