ป้ายแสดงวังลิจฉวี เมืองเวสาลี

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่า มหาลี เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง เมื่อประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเห็นท้าวสักกะจอมเทพหรือ พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

“ดูกรมหาลี อาตมาเห็นท้าวสักกะจอมเทพ ถวายพระพร”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ผู้ที่พระองค์ทรงเห็นนั้นจักเป็นรูปเปรียบของท้าวสักกะเป็นแน่ เพราะว่าท้าวสักกะจอมเทพยากที่ใคร ๆ จะเห็นได้ พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรมหาลี อาตมารู้จักท้าวสักกะด้วย รู้ธรรมเครื่องกระทำให้เป็นท้าวสักกะด้วย และรู้ถึงธรรมที่ท้าวสักกะได้ถึงความเป็นท้าวสักกะเพราะเป็นผู้สมาทานธรรมนั้นด้วย

ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน เป็นมาณพชื่อว่า มฆะ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวมฆวา

ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ได้ให้ทานมาก่อน เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวปุรินททะ

ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ได้ให้ทานโดยเคารพ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสักกะ

 ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ได้ให้ที่พักอาศัย เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าววาสวะ

ท้าวสักกะจอมเทพย่อมทรงคิดเนื้อความได้ตั้งพันโดยครู่เดียว เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสหัสนัยน์

ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีนางอสุรกัญญานามว่า สุชา เป็นปชาบดี เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า ท้าวสุชัมบดี

ท้าวสักกะจอมเทพเสวยรัชสมบัติเป็นอิสราธิบดีของทวยเทพชั้นดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้น จึงถูกเรียกว่า เทวานมินทะ

วัตรที่ทำให้ถึงความเป็นท้าวสักกะ

ดูกรมหาลี ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตรบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ

วัตรบท ๗ ประการเป็นไฉน คือ

เราพึงเลี้ยงมารดาบิดาจนตลอดชีวิต ๑

เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๑

เราพึงพูดวาจาอ่อนหวานตลอดชีวิต ๑

เราไม่พึงพูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต ๑

เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๑

เราพึงพูดคำสัตย์ตลอดชีวิต ๑

เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราพึงกำจัดมันเสียโดยฉับพลันทีเดียว ๑

เพราะท้าวสักกะจอมเทพเป็นผู้สมาทานวัตรบท ๗ ประการ นี้บริบูรณ์ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ”

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

“เทวดาชั้นดาวดึงส์กล่าวนรชนผู้เป็นบุคคลเลี้ยงมารดาบิดา มีปรกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาอ่อนหวาน กล่าวแต่คำสมานมิตรสหาย ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์
ครอบงำความโกรธได้นั้นแลว่า เป็นสัปบุรุษ”

 

 

อ้างอิง : ตติยเทวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๙๑๒-๙๑๕ หน้า ๕๗๖-๕๗๘