หัวสิงห์ เสาอโศก เมืองเวสาลี
ก็ธรรมปริยายชื่อว่าธรรมาทาสนั้น เป็นไฉน
“ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งซึ่งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้
เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังนี้
เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ คือ คู่บุรุษสี่ บุรุษบุคคลแปดนี้
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้ เป็นผู้ประกอบ ด้วยศีลอันพระอริยะใคร่แล้ว อันไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญแล้ว อันตัณหาและทิฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ"
ดูกรอานนท์ อันนี้แลคือ ธรรมปริยายชื่อว่า ธรรมาทาส สำหรับที่จะให้อริยสาวกผู้ประกอบแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดแห่งสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาต สิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับในที่พักซึ่งก่อด้วยอิฐในนาทิกคามนั้น ทรงกระทำธรรมีกถานี้แหละ เป็นอันมากแก่พวกภิกษุว่า
“อย่างนี้ศีล อย่างนี้สมาธิ อย่างนี้ปัญญา
สมาธิอันศีลอบรมแล้ว
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ”
อ้างอิง : มหาปรินิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๘๙ หน้า ๘๑-๘๒