ป้ายแสดงเขตโบราณสถานเมืองเวสาลี

สีหเสนาบดีนี้ เป็นพระโอรสของเจ้าลิจฉวีองค์หนึ่ง ท่านได้รับแต่งตั้งจากพวกเจ้าลิจฉวี ๗,๗๐๗ องค์ ให้เป็นเสนาบดี เป็นแม่ทัพบริหารแคว้นวัชชี ซึ่งมีกรุงเวสาลีเป็นราชธานี ท่านเป็นสาวกคนสำคัญของนิครนถ์นาฏบุตร

วันหนึ่ง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยอเนกปริยาย และเวลานั้น สีหเสนาบดีนั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย จึงคิดว่า

“พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้ จึงได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณโดยอเนกปริยาย ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

แล้วจึงได้เข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงสำนัก ครั้นแล้วให้นิครนถ์นาฏบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และได้แจ้งความประสงค์นี้แก่นิครนถ์นาฏบุตรว่า

“ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม”

อกิริยวาทกถา

นิครนถ์นาฏบุตรพูดค้านว่า

“สีหะ ก็ท่านเป็นคนกล่าวการทำ ไฉนจึงจักไปเฝ้าพระสมณโคดมผู้เป็นคนกล่าวการไม่ทำเล่า (อกิริยาวาท) เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้กล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น”

ขณะนั้น ความตระเตรียมในอันจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคของสีหเสนาบดีได้เลิกล้มไป

แม้ครั้งที่สอง...

แม้ครั้งที่สาม บรรดาเจ้าลิจฉวีที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก ได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณโดยอเนกปริยาย ท่านสีหเสนาบดีก็ได้คิดเป็นครั้งที่สามว่า

“พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง บรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านี้จึงได้มานั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณโดยอเนกปริยาย

ก็พวกนิครนถ์ เราจะบอกหรือไม่ บอกจักทำอะไรแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยทีเดียว”

เวลาบ่าย สีหเสนาบดีออกจากพระนครเวสาลีพร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคไปด้วยยวดยานตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะผ่านไปได้ แล้วลงจากยวดยานเดินเข้าไปถึงพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สีหเสนาบดีนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลเรื่องนี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทราบมาว่าพระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น

บุคคลพวกที่กล่าวอย่างนี้ได้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง กล่าวอ้างเหตุสมควรแก่เหตุ และถ้อยคำที่สมควรพูดบางอย่างที่มีเหตุผล จะไม่มาถึงฐานะที่วิญญูชนจะพึงติเตียนบ้างหรือ เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลยพระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

“มีอยู่จริง สีหะ  เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า

พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ
แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร  

ดูกรสีหะ  เพราะเรากล่าวการไม่ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรากล่าวการไม่ทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

พระสมณโคดมกล่าวการทำ
แสดงธรรมเพื่อการทำ
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร  

ดูกรสีหะ  เพราะเรากล่าวการทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เรากล่าวการทำสิ่งที่เป็นกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวการทำ แสดงธรรมเพื่อการทำ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญ
แสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร 

ดูกรสีหะ  เพราะเรากล่าวความขาดสูญแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรากล่าวความขาดสูญแห่งสถานะที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมกล่าวความขาดสูญแสดงธรรมเพื่อความขาดสูญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

พระสมณโคดมช่างรังเกียจ
แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร  

ดูกรสีหะ  เพราะเรารังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เรารังเกียจความถึงพร้อมแห่งสถานะที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

พระสมณโคดมช่างกำจัด
แสดงธรรมเพื่อความกำจัด
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร  

ดูกรสีหะ  เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ แสดงธรรมเพื่อกำจัดสถานะที่เป็นบาปอกุศลหลายอย่าง นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัดและแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ
แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร  

ดูกรสีหะ  เพราะเรากล่าวธรรมที่เป็นบาปอกุศล คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นธรรมควรเผาผลาญ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งควรเผาผลาญอันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนช่างเผาผลาญ 

ดูกรสีหะ  ธรรมที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งควรเผาผลาญ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด
แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร  

ดูกรสีหะ  เพราะการนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา เรากล่าวผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ผุดเกิด  

ดูกรสีหะ  การนอนในครรภ์ต่อไป การเกิดในภพใหม่ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มีในภายหลัง มีอันไม่เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมไม่ผุดเกิด แสดงธรรมเพื่อความไม่ผุดเกิด และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

พระสมณโคดมกล่าวเป็นผู้เบาใจ
แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ
และแนะนำสาวกตามแนวนั้น
ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก

ชื่อว่ากล่าวถูกนั้นเป็นอย่างไร  

ดูกรสีหะ  เพราะเราเบาใจด้วยธรรมที่ให้เกิดความโล่งใจอย่างสูง และแสดงธรรมเพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น นี้แล เหตุที่เขากล่าวหาเราว่า พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม เพื่อความเบาใจ และแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้ ชื่อว่ากล่าวถูก”

สีหเสนาบดีประกาศตนเป็นอุบาสก

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สีหะเสนาบดี ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า

“ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

“ดูกรสีหะ  เธอจงทำการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ”

“พระพุทธเจ้าข้า โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดี พอใจยิ่งกว่าคาดหมายไว้ เพราะพระองค์ตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าว่า จงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำเป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ

พวกอัญญเดียรถีย์ได้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก ก็ยกธงเที่ยวประกาศทั่วพระนครเวสาลีว่า สีหเสนาบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพวกเราแล้ว แต่ส่วนพระองค์สิ มาตรัสอย่างนี้กะข้าพระพุทธเจ้าว่า  ดูกรสีหะ  เธอจงทำการที่ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เพราะการใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทำ เป็นความดีสำหรับคนมีชื่อเสียงเช่นเธอ

ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สอง ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าข้า”

“นานนักแล สีหะ  ตระกูลของเธอได้เป็นสถานที่รับรองพวกนิครนถ์มา ด้วยเหตุนั้น เธอพึงสำคัญเห็นบิณฑบาตว่าเป็นของควรให้นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงแล้ว”

“โดยพระพุทธดำรัสแม้นี้ ข้าพระพุทธเจ้ายินดีพอใจยิ่งกว่าคาดหมายไว้

ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบว่า พระสมณะโคดมรับสั่งอย่างนี้ว่า ควรให้ทานแก่เราผู้เดียวไม่ควรให้ทานแก่คนพวกอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น เพราะทานที่ให้แก่เราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่คนพวกอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก

แต่พระองค์ทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ แม้ในพวกนิครนถ์ แต่ข้าพระพุทธเจ้าจักรู้กาลในข้อนี้เอง

ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่สาม

ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป พระพุทธเจ้าข้า”

 

 

อ้างอิง : สีหเสนาบดี พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๗๘-๘๐ หน้า ๗๘-๘๓

รูปภาพ : http://silentpagesindia.blogspot.com/2014/03/the-remains-of-ancient-vaishali.html