ภายในบริเวณป่ามหาวัน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญัติผลแห่งทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบันหรือหนอ
“สามารถ สีหะ
ดูกรสีหะ ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก แม้ข้อนี้ เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายกผู้เป็นทานบดีย่อมขจร แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใด ๆ คือ ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขินเข้าไป แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงได้ในสัมปรายภพ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สีหะเสนาบดี ได้กราบทูลคำนี้ แด่พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้
แม้ข้าพระองค์เองก็ทราบดี คือ ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาข้าพระองค์ ผู้เป็นทายกเป็นทานบดี กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดีย่อมขจรทั่วไปว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใด ๆ ก็ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขินเข้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ย่อมทราบดี ส่วนผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกข้าพระองค์ว่า ทายกผู้เป็นทานบดีเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้”
“อย่างนั้นสีหะ ๆ คือ ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึง สุคติ โลกสวรรค์ นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก
ชนเป็นอันมากย่อมคบหานรชนนั้น
นรชนนั้นย่อมได้เกียรติ มียศ เจริญ
เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าเข้าสู่ที่ประชุมชน
เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตผู้หวังสุข
จงขจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ แล้วให้ทาน
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมประดิษฐานในไตรทิพย์
ถึงความเป็นสหายของเทวดา
ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน
บัณฑิตเหล่านั้น ได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง
ได้ทำกุศลแล้วจุติจากโลกนี้แล้ว
ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง
เที่ยวชมไปในอุทยานชื่อ นันทนวัน
ย่อมเพียบพร้อมด้วย กามคุณ ๕
เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ในนันทนวัน
สาวกทั้งปวงของพระสุคต ผู้ไม่มีกิเลส
ผู้คงที่ ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ”
อ้างอิง : สีหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๔ หน้า ๓๔-๓๕
รูปภาพ : http://unexploredbihar.blogspot.com/2016/04/kutagarshala-vaishali-bihar-india.html