ติณกัฏฐสูตร - ที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายของสงสาร



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุด
เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่
…ที่สุด เบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ
 


เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้

ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัด ๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ

มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้นไม่พึงสิ้นสุด

ส่วนว่า หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป

ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะว่า สงสารนี้
กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ 
...ที่สุด เบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ


พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน เหมือนฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้” 

 

 

 อ้างอิง : ติณกัฏฐสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๒๑-๔๒๒ หน้า ๑๗๗

 

ภาพประกอบ
www.pixabay.com