เวสาลีสูตร - การเจริญอสุภกรรมฐาน



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี

ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภะแก่ภิกษุทั้งหลายโดยอเนกปริยาย

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่สักกึ่งเดือน ใคร ๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว”

ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว ไม่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตรูปเดียว

ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่า

พระผู้มีพระภาค ตรัสอสุภกถา
ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภ
ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภโดยอเนกปริยาย  

จึงขวนขวายประกอบการเจริญอสุภ อันเกลื่อนกล่นด้วยอาการเป็นอเนกอยู่

ภิกษุเหล่านั้นอึดอัด ระอา เกลียดกายนี้  แสวงหาศาตราสำหรับปลงชีวิต สิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง สามสิบรูปบ้าง นำศาตรามาโดยวันเดียวกัน

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นเมื่อล่วงกึ่งเดือนนั้นแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา ตรัสถามว่า

“ดูกรอานนท์ เพราะเหตุไรหนอ ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนเบาบางไป”

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเช่นนั้น

ภิกษุเหล่านั้นคิดกันว่าพระผู้มีพระภาคตรัสอสุภกถา ตรัสสรรเสริญคุณแห่งอสุภะ ตรัสสรรเสริญคุณแห่งการเจริญอสุภะโดยอเนกปริยาย จึงขวนขวายประกอบการเจริญอสุภะอันเกลื่อนกล่นด้วยอาการเป็นอเนกอยู่ ภิกษุผู้อึดอัด ระอา เกลียดกายนี้ ได้แสวงหาศาตราสำหรับปลงชีวิต สิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง สามสิบรูปบ้าง นำศาตรามาโดยวันเดียวกัน

ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกปริยายโดยวิธีที่ภิกษุสงฆ์จะพึงดำรงอยู่ในอรหัตผลเถิด”

“ถ้าอย่างนั้น ภิกษุมีประมาณเท่าใดที่อาศัยเมืองเวสาลีอยู่ เธอจงให้ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดมาประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา”

ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว ยังภิกษุทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลีให้มาประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด”

สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสตินี้แล
อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
เป็นสภาพสงบ ประณีต ชื่นใจ
เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
และยังอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว ๆ
ให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนธุลีและละอองที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ในสมัยมิใช่กาล ย่อมยังธุลีและละอองนั้นให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน ฉันใด


สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เป็นสภาพสงบ ประณีต ชื่นใจ เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธาน สงบไปโดยพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร เป็นสภาพสงบ ประณีต ชื่นใจ เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี

นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติ หายใจออก มีสติ หายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว 
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจออก 

เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจออก 

เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก 

เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก 

เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก 

เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขาร หายใจออก 

เราจักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจออก 

เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจออก 

เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก 

เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเปลื้องจิต หายใจออก 

เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักพิจารณาเห็น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก
เราจักพิจารณาเห็น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า 
เราจักพิจารณาเห็น
โดยความคลายกำหนัด หายใจออก
เราจักพิจารณาเห็น
โดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจออก
เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจออก
เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืน หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิอันสัมปยุตด้วยอานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ เป็นสภาพสงบ ประณีต ชื่นใจ เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน”

 

 

อ้างอิง : เวสาลีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๓๔๘-๑๓๕๔ หน้า ๓๒๖-๓๒๘