สมุคคสูตร - นิมิต ๓ ประการ



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจซึ่งนิมิต ๓ ตลอดกาลตามกาล คือ

พึงกำหนดไว้ในใจซึ่งสมาธินิมิต ๑
พึงกำหนดไว้ในใจซึ่งปัคคาหนิมิต ๑
พึงกำหนดไว้ในใจซึ่งอุเบกขานิมิต ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่ สมาธินิมิต โดยส่วนเดียวเท่านั้น พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิตเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน 

ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่ ปัคคาหนิมิต (การปรารภความเพียรทางใจ) โดยส่วนเดียวเท่านั้น พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิตเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน

ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่ อุเบกขานิมิต โดยส่วนเดียว พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิตไม่ตั้งมั่นเพื่อความสิ้นอาสวะโดยชอบ

กำหนดนิมิต ๓ ตลอดกาลตามกาล

เมื่อใด ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต กำหนดไว้ในใจซึ่ง สมาธินิมิต ปัคคาหนิมิต อุเบกขานิมิต ตลอดกาลตามกาล

เมื่อนั้น จิตนั้นย่อมอ่อน ควรแก่การงาน ผุดผ่อง และไม่เสียหาย แน่วแน่เป็นอย่างดี เพื่อความสิ้นอาสวะ

เปรียบเหมือนช่างทองหรือลูกมือช่างทอง ตระเตรียมเบ้าแล้ว ติดไฟ แล้วเอาคีมคีบทองใส่ลงที่ปากเบ้า แล้วสูบลมเสมอ ๆ เอาน้ำพรมเสมอ ๆ เพ่งดูเสมอ ๆ   

ถ้าช่างทองหรือลูกมือช่างทอง
พึงสูบทองนั้นแต่อย่างเดียว
พึงเป็นเหตุให้ทองนั้นไหม้  

ถ้าช่างทองหรือลูกมือช่างทอง
พึงเอาน้ำพรมแต่อย่างเดียว
พึงเป็นเหตุให้ทองนั้นเย็น

ถ้าช่างทองหรือลูกมือช่างทอง
พึงเพ่งดูทองนั้นแต่อย่างเดียว
พึงเป็นเหตุให้ทองนั้นสุกไม่ทั่วถึง

เมื่อใด ช่างทองหรือลูกมือช่างทอง สูบลมทองนั้นเสมอ ๆ เอาน้ำพรมเสมอ ๆ เพ่งดูเสมอ ๆ  

เมื่อนั้น ทองนั้นย่อมเป็นของอ่อน ควรแก่การงาน ผุดผ่อง และไม่แตกง่าย เข้าถึงเพื่อการทำโดยชอบ

ช่างทองหรือลูกมือช่างทองมุ่งประสงค์ทองนั้นสำหรับเครื่องประดับชนิดใด ๆ คือ แผ่นทอง ต่างหู เครื่องประดับคอ หรือดอกไม้ทองก็ดี ย่อมสำเร็จสมความประสงค์ของเขาทั้งนั้นแม้ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกันแล


ผู้สมควรเป็นพยานในธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อใด ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต
กำหนดไว้ในใจซึ่งสมาธินิมิตตลอดกาลตามกาล
กำหนดไว้ในใจซึ่งปัคคาหนิมิตตลอดกาลตามกาล
กำหนดไว้ในใจซึ่งอุเบกขานิมิตตลอดกาลตามกาล 

เมื่อนั้น จิตนั้นย่อมอ่อน ควรแก่การ งาน ผุดผ่อง และไม่เสียหาย ย่อมตั้งมั่นโดยชอบเพื่อความสิ้นอาสวะ


และภิกษุนั้นย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองใด ๆ เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

อภิญญา ๖

อิทธิวิธีญาณ

ถ้าภิกษุนั้นพึงหวังว่า เราพึงแสดงฤทธิ์หลายประการ คือ

คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้

ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้

ทะลุกำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้

ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้

เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้

เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้

ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้  

ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

ทิพจักขุญาณ

ถ้าภิกษุนั้น หวังว่า เราพึงฟังเสียง ๒ ชนิด คือ

เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งในที่ไกลและใกล้ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์   

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

เจโตปริยญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่น ด้วยใจของตน คือ

จิตมีราคะพึงรู้ว่า จิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะก็พึงรู้ว่า จิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะก็พึงรู้ว่า จิตมีโทสะ
หรือจิตปราศจากโทสะก็พึงรู้ว่า  จิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะก็พึงรู้ว่า จิตมีโมหะ
หรือจิตปราศจากโมหะก็พึงรู้ว่า จิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ก็พึงรู้ว่า จิตหดหู่
หรือจิตฟุ้งซ่านก็พึงรู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรคตก็พึงรู้ว่า จิตเป็นมหรคต
หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็พึงรู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็พึงรู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็พึงรู้ว่า จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิก็พึงรู้ว่า  จิตเป็นสมาธิ
หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็พึงรู้ว่า จิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้นก็พึงรู้ว่า จิตหลุดพ้น
หรือจิตไม่หลุดพ้นก็พึงรู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่

ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

ถ้าภิกษุนั้น หวังว่า เราพึงระลึกชาติก่อน ๆ ได้เป็นอันมาก คือ

พึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง...สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง

จากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้

เราพึงระลึกชาติก่อน ๆ ได้เป็นอันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้  

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

ทิพยจักขุญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์

พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า

สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิยึดถือการทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

เราพึงเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

อาสวักขยญาณ

ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่

เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้น ๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่เป็นอยู่

 

 

อ้างอิง : สมุคคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๕๔๒ หน้า ๒๔๒-๒๔๔