พรหมชาลสูตร ตอนที่ ๔ - ฐานะของผู้ถือทิฏฐิ



ทิฏฐิคือความดิ้นรนของคนมีตัณหา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ ๖๒ ประการ ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา เป็นความดิ้นรนของคนมีตัณหา


ทิฏฐิเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย

สมณพราหมณ์เหล่าใดกล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด ด้วยเหตุ ๖๒ ประการ ข้อนั้น เพราะผัสสะเป็นปัจจัย


เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้ว จะรู้สึกได้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกถูกต้องแล้วด้วยผัสสายตนะทั้ง ๖ ย่อมเสวยเวทนา

เพราะเวทนาของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส


เมื่อใด ภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณและโทษแห่งผัสสายตนะทั้ง ๖ กับทั้งอุบายเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น เมื่อนั้น ภิกษุนี้ย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด

ผู้ถือทิฏฐิย่อมถูกทิฏฐิปกคลุมไว้ในภพ

สมณะหรือพราหมณ์พวกใด กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ถูกทิฏฐิ ๖๒ เหล่านี้แหละ เป็นดุจข่ายปกคลุมไว้ อยู่ในข่ายนี้เอง เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ ติดอยู่ในข่ายนี้ ถูกข่ายปกคลุมไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้

เปรียบเหมือนชาวประมงหรือลูกมือชาวประมงผู้ฉลาด ใช้แหตาถี่ทอดลงยังหนองน้ำอันเล็ก เขาคิดอย่างนี้ว่า บรรดาสัตว์ตัวใหญ่ ๆ ในหนองนี้ทั้งหมด ถูกแหครอบไว้อยู่ในแห เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห ติดอยู่ในแห ถูกแหครอบไว้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในแห 

ภพดับเพราะตัณหาดับ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตมีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่  เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต

เปรียบเหมือนพวงมะม่วง เมื่อขาดจากขั้วแล้ว ผลใดติดขั้วอยู่ ย่อมติดขั้วไป กายของตถาคตมีตัณหาอันจะนำไปสู่ภพขาดแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

“น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร พระพุทธเจ้าข้า”

"เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์

เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า อรรถชาละ ก็ได้ ว่า ธรรมชาละ ก็ได้ ว่า พรหมชาละ ก็ได้ ว่า ทิฏฐิชาละ ก็ได้ ว่า พิชัยสงครามอันยอดเยี่ยม ก็ได้"

ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ หมื่นโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้วแล

 

 

อ้างอิง : พรหมชาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อ ๕๑-๙๐ หน้า ๓๘-๔๔