สัพพาสวสังวรสูตร - การสังวรในอาสวะทั้งปวง



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย”

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

“พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปริยายว่าด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวงแก่พวกเธอ พวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้อยู่ เห็นอยู่

เราไม่กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้อะไร เห็นอยู่อะไร

ความสิ้นอาสวะจะมีได้แก่ภิกษุผู้รู้เห็นโยนิโสมนสิการและอโยนิโสมนสิการ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย
อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น
...และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น

เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย
อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมไม่เกิดขึ้น
...และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสิ้นไป

การละอาสวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็น มีอยู่   
ที่จะพึงละได้เพราะการสังวร ก็มี
ที่จะพึงละได้เพราะเสพเฉพาะ ก็มี   
ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น ก็มี   
ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบ ก็มี  
ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทา ก็มี   
ที่จะพึงละได้เพราะอบรม ก็มี

อาสวะที่ละได้เพราะการเห็น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการเห็น

ปุถุชนผู้ไม่ได้เห็น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัปบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนควรมนสิการ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนไม่ควรมนสิการ


เมื่อเขาไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ...ย่อมมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ...ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการที่ปุถุชนมนสิการอยู่ เป็นไฉน 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ที่เขามนสิการอยู่

ก็ธรรมที่ควรมนสิการที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่ เป็นไฉน   

เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสิ้นไป

ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ที่เขาไม่มนสิการอยู่ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น เพราะมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ 

ธรรมที่ปุถุชนผู้ไม่ได้เห็น มนสิการอยู่

ปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า

เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ  
เราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ
ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ
ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ
ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไร
...แล้วจึงเป็นอะไรหนอ

ในอนาคตกาลเราจักมีหรือหนอ
ในอนาคตกาลเราจักไม่มีหรือหนอ
ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ
ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอ
ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไร
...แล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ

หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่า

เรามีอยู่หรือ เราไม่มีอยู่หรือ
เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ
สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมันจักไป ณ ที่ไหน

ทิฏฐิ ๖ ของปุถุชนผู้ไม่ได้เห็น

เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ บรรดาทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า

ตนของเรามีอยู่ ๑
หรือว่า ตนของเราไม่มีอยู่ ๑
หรือว่า เราย่อมรู้ชัดตนด้วยตนเอง ๑
หรือว่า เราย่อมรู้ชัดสภาพมิใช่ตนด้วยตนเอง ๑
หรือว่า เราย่อมรู้ตนด้วยสภาพมิใช่ตน  ๑

อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นว่า

ตนของเรานี้เป็นผู้เสวย ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรม ทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้น ๆ ก็ตนของเรานี้นั้น เป็นของแน่นอน ยั่งยืน เที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอ ด้วยสิ่งยั่งยืนแท้ ๑

ข้อนี้เรากล่าวว่า ทิฏฐิ

ชัฏ คือ ทิฏฐิ กันดาร คือ ทิฏฐิ เสี้ยนหนาม คือ ทิฏฐิ ความดิ้นรน คือ ทิฏฐิ สิ่งที่ประกอบสัตว์ไว้ คือ ทิฏฐิ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์

อริยสาวกผู้ได้เห็น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ผู้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ได้รับคำแนะนำด้วยดีในธรรมของสัปบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ที่ควรมนสิการและไม่ควรมนสิการ


เมื่ออริยสาวกนั้น รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการและไม่ควรมนสิการ ...ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ...และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

ก็ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ

เมื่ออริยสาวกนั้น มนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ที่อริยสาวกไม่มนสิการ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่ 

เมื่ออริยสาวกนั้น มนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสิ้นไป

ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ที่อริยสาวกมนสิการอยู่


อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้น ...เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ...และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

ธรรมที่อริยสาวกผู้ได้เห็น มนสิการอยู่

อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า

นี้ทุกข์
นี้เหตุให้เกิดทุกข์
นี้ความดับทุกข์
นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์


เมื่ออริยสาวกนั้น มนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น

อาสวะที่ละได้เพราะการสังวร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการสังวร

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว...

เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุ ผู้สำรวมจักขุนทรีย์อยู่อย่างนี้

เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในโสตินทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมโสตินทรีย์

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมโสตินทรีย์อยู่อย่างนี้

เป็นผู้สำรวม ด้วยความสำรวมในฆานินทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมฆานินทรีย์

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมฆานินทรีย์อยู่อย่างนี้

เป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในชิวหินทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมชิวหินทรีย์

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมชิวหินทรีย์อยู่อย่างนี้

เป็นผู้สำรวม ด้วยความสำรวมในกายินทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมกายินทรีย์

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมกายินทรีย์อยู่อย่างนี้

เป็นผู้สำรวม ด้วยความสำรวมในมนินทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมในมนินทรีย์อยู่

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมในมนินทรีย์อยู่อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการสังวร


อาสวะที่ละได้เพราะการพิจารณาเสพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวร เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาต มิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วยจักมีแก่เรา ฉะนี้

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกออกเร้นอยู่

พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ


อาสวะได้ที่เพราะความอดกลั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว...

เป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย

สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน

เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรง

ต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ กล้า แข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพล่าชีวิตเสียได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่อดกลั้นอยู่

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น

อาสวะที่ละได้เพราะความเว้นรอบ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ   

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว...

เว้น ช้างที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู (สัตว์ที่ดุร้าย)

หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว แอ่งน้ำครำ บ่อน้ำครำ (สถานที่อันตราย)

ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะ (ที่ที่ไม่ควรนั่ง) ผู้เที่ยวไป ณ ที่มิใช่โคจร (ที่ที่ไม่ควรไป) ผู้คบมิตรที่ลามก ในสถานทั้งหลายอันลามก

ภิกษุนั้นพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้นและมิตรผู้ลามกเหล่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานหรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเว้นรอบ

อาสวะที่ละได้เพราะความบรรเทา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความบรรเทา 

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว...

ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา
   กามวิตก
   พยาบาทวิตก
   วิหิงสาวิตก
   ธรรมที่เป็นบาปอกุศล

 ที่บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี   

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรมอันใดอันหนึ่ง

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทา

การละอาสวะได้เพราะการอบรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะอบรม    

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว

เจริญสติสัมโพชฌงค์
...อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
...น้อมไปในความสละลง

เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
...อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
...น้อมไปในความสละลง   

เจริญปิติสัมโพชฌงค์
...อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
...น้อมไปในความสละลง

เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
...อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
...น้อมไปในความสละลง

เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
...อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
...น้อมไปในความสละลง

เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
...อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
...น้อมไปในความสละลง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง

อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อบรมอยู่อย่างนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะอบรม

ผู้สำรวมด้วยความสังวรในอาสวะทั้งปวง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุว่า...

อาสวะเหล่าใด...
อันภิกษุใดพึงละได้เพราะการเห็น 
อาสวะเหล่านั้น...
อันภิกษุนั้นละได้แล้วเพราะการเห็น    

อาสวะเหล่าใด...
อันภิกษุใดพึงละได้เพราะการสังวร
อาสวะเหล่านั้น...
อันภิกษุนั้นละได้แล้วเพราะการสังวร   

อาสวะเหล่าใด...
อันภิกษุใด พึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ
อาสวะเหล่านั้น...
อันภิกษุนั้นละได้แล้วเพราะการพิจารณาเสพ  

อาสวะเหล่าใด...
อันภิกษุใดพึงละได้เพราะความอดกลั้น
อาสวะเหล่านั้น...
อันภิกษุนั้นละได้แล้วเพราะความอดกลั้น    

อาสวะเหล่าใด...
อันภิกษุใดพึงละได้เพราะการเว้นรอบ
อาสวะเหล่านั้น...
อันภิกษุนั้นละได้แล้วเพราะการเว้นรอบ    

อาสวะเหล่าใด...
อันภิกษุใดพึงละได้เพราะการบรรเทา
อาสวะเหล่านั้น...
อันภิกษุนั้นละได้แล้วเพราะการบรรเทา    

อาสวะเหล่าใด...
อันภิกษุใดพึงละได้เพราะการอบรม
อาสวะเหล่านั้น...
อันภิกษุนั้นละได้แล้วเพราะการอบรม      

ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้สำรวมด้วยความสังวรในอาสวะทั้งปวงอยู่  ตัดตัณหาได้แล้ว ยังสังโยชน์ให้ปราศไปแล้ว ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะความตรัสรู้ ด้วยการเห็นและการละมานะโดยชอบ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัส สังวรปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

 

 

อ้างอิง : สัพพาสวสังวรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐-๑๙ หน้า ๑๑-๑๖

 

ภาพประกอบ : ชิณวิชญ์ ชัยวีรภัทร์