สามัญญผลสูตร - วาทะของศาสดาทั้ง ๖



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ สวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ เป็นวันครบ ๔ เดือน ฤดูดอกโกมุทบาน

ในราตรีเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร แวดล้อมด้วยราชอำมาตย์ ประทับนั่ง ณ พระมหาปราสาทชั้นบน ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งพระอุทานว่า


 

"ดูกรอำมาตย์
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่ารื่นรมย์หนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าชมจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง น่าเบิกบานจริงหนอ
ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะจริงหนอ

วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ ซึ่งจิตของเราผู้เข้าไปหา พึงเลื่อมใสได้”

ครั้นท้าวเธอดำรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์ผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ ท่านปูรณะกัสสป เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณะกัสสปนั้นเถิด เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปูรณะกัสสป พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ ท่านมักขลิโคศาล ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านมักขลิโคศาลนั้นเถิด เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านมักขลิโคศาล พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ ท่านอชิตเกสกัมพล ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านอชิตเกสกัมพลนั้นเถิด เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านอชิตเกสกัมพล พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ ท่านปกุธะกัจจายนะ ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปกุธะกัจจายนะนั้นเถิด เห็นด้วยเกล้าว่า

เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านปกุธะกัจจายนะ พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว

ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ ท่านสญชัยเวลัฏฐบุตร ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านสญชัยเวลัฏฐบุตรนั้นเถิด เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านสญชัยเวลัฏฐบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ ท่านนิครนถ์นาฏบุตร ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่ บวชมานาน มีอายุล่วงกาล ผ่านวัยมาโดยลำดับ

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านนิครนถ์นาฏบุตรนั้นเถิด เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปหาท่านนิครนถ์นาฏบุตร พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

เมื่ออำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอก็ทรงนิ่งอยู่

สมัยนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ นั่งนิ่งอยู่ในที่ไม่ไกลพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหีบุตร ท้าวเธอจึงมีพระราชดำรัสกะหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า

“ชีวกผู้สหาย เธอทำไมจึงนิ่งเสียเล่า”

หมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สวนอัมพวันของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑๒๕๐ รูป พระเกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า

กถาปรารภพระพุทธคุณ

แม้เพราะเหตุนี้ ๆ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม ดังนี้

เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้าว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระหฤทัยพึงเลื่อมใส”

"ชีวกผู้สหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงสั่งให้เตรียมหัตถียานไว้"

หมอชีวกโกมารภัจจ์รับสนองพระราชโองการแล้ว สั่งให้เตรียมช้างพังประมาณ ๕๐๐ เชือก และช้างพระที่นั่ง เสร็จแล้วจึงกราบทูลว่า

“ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าสั่งให้เตรียมหัตถียานพร้อมแล้ว เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จได้พระเจ้าข้า”

พระเจ้าอชาตศัตรูเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้พวกสตรีขึ้นช้างพัง ๕๐๐ เชือก เชือกละนาง แล้วจึงทรงช้างพระที่นั่ง มีผู้ถือคบเพลิง เสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ ด้วยพระราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่

เสด็จไปสวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ พอใกล้จะถึง ท้าวเธอเกิดทรงหวาดหวั่น ครั่นคร้าม และทรงมีความสยดสยองขึ้น

ครั้นท้าวเธอทรงกลัว ทรงหวาดหวั่น มีพระโลมชาติชูชันแล้ว จึงตรัสกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า

“ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ลวงเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้หลอกเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ล่อเรามาให้ศัตรูหรือ

เหตุไฉนเล่า ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ตั้ง ๑๒๕๐ รูป จึงไม่มี เสียงจาม เสียงกระแอม เสียงพึมพำเลย”

“ขอพระองค์อย่าได้ทรงหวาดหวั่นเกรงกลัวเลยพระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้า ไม่ได้ลวงพระองค์ ไม่ได้หลอกพระองค์ ไม่ได้ล่อพระองค์มาให้ศัตรูเลยพระเจ้าข้า

ขอเดชะ เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเถิด นั่นประทีปที่โรงกลมยังตามอยู่”

ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างพระที่นั่งไปจนสุดทาง เสด็จลงทรงพระดำเนินเข้าประตูโรงกลม แล้วจึงรับสั่งกะหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า

“ชีวกผู้สหาย ไหนพระผู้มีพระภาค”

“ขอเดชะ นั่นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา ภิกษุสงฆ์แวดล้อมอยู่”

ลำดับนั้น ท้าวเธอเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์นิ่งสงบเหมือนห้วงน้ำใส ทรงเปล่งพระอุทานว่า

“ขอให้อุทยภัทท์กุมารของเรา จงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์นี้”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาทั้งความรัก”

“พระพุทธเจ้าข้า อุทยภัทท์กุมารเป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอให้อุทยภัทท์กุมารของหม่อมฉัน จงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์นี้เถิด”

ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วทรงประนมอัญชลีแก่ภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะขอทูลถามปัญหาบางเรื่องสักเล็กน้อย ถ้าพระองค์จะประทานพระวโรกาสพยากรณ์ปัญหาแก่หม่อมฉัน”

“เชิญถามเถิดมหาบพิตร ถ้าทรงพระประสงค์”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศิลปศาสตร์เป็นอันมากเหล่านี้ คือ

พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดกระบวนทัพ พนักงานจัดส่งเสบียง พวกอุคคราชบุตร พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะหนัง พวกบุตรทาส ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณ พวกนับคะแนน หรือศิลปศาสตร์เป็นอันมาก แม้อย่างอื่นใดที่มีคติเหมือนอย่างนี้

คนเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์ เลี้ยงชีพในปัจจุบัน

ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาย่อมบำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา มิตร อำมาตย์ ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุข เป็นผลให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฉันใด

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจบัญญัติ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้บ้างหรือไม่”

“มหาบพิตร ทรงจำได้หรือไม่ว่า ปัญหาข้อนี้ มหาบพิตรได้ตรัสถามสมณพราหมณ์ พวกอื่นแล้ว”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จำได้อยู่ ปัญหาข้อนี้ หม่อมฉันได้ถามสมณพราหมณ์พวกอื่นแล้ว”

“ดูกรมหาบพิตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์อย่างไร ถ้ามหาบพิตรไม่หนักพระทัยก็ตรัสเถิด”

“ณ ที่ที่พระผู้มีพระภาค หรือท่านผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจ พระพุทธเจ้าข้า”

“ถ้าอย่างนั้น มหาบพิตรตรัสเถิด”

วาทะของศาสดาปูรณะกัสสป

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูปูรณะกัสสปถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับครูปูรณะกัสสป ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว หม่อมฉันได้กล่าวคำนี้กะครูปูรณะกัสสปว่า ท่านอาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่

เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูปูรณะกัสสป ได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉันว่า

"ดูกรมหาบพิตร เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภริยาเขา พูดเท็จ ...ผู้ทำไม่ชื่อว่า ทำบาป

แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกน สังหารเหล่าสัตว์ในปัฐพีนี้ให้เป็นลาน เป็นกองมังสะอันเดียวกัน ...บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ...บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา ...บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา

ด้วยการให้ทาน การทรมานอินทรีย์ การสำรวมศีล การกล่าวคำสัตย์ ...บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณะกัสสปกลับตอบถึงการที่ทำแล้ว ไม่เป็นอันทำ ฉะนี้


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึง สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณะกัสสปกลับตอบถึง การที่ทำแล้ว ไม่เป็นอันทำ เปรียบเหมือน เขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง ฉะนั้น

หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเราจะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้แล้ว

ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครูปูรณะกัสสป ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป”

วาทะของศาสดามักขลิโคศาล

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา ครูมักขลิโคศาลถึงที่อยู่ ได้กล่าวว่า

ท่านโคศาล ...ท่านอาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่  

เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูมักขลิโคศาล ได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉันว่า ดูกรมหาบพิตร

ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาสาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมอง

ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาสาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์

ไม่มีการกระทำของตนเอง ไม่มีการกระทำของผู้อื่น ไม่มีการกระทำของบุรุษ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ

สัตว์ทั้งปวง ปาณะทั้งปวง ภูตะทั้งปวง ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร แปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย  ตามความประจวบ ตามความเป็นเอง ย่อมเสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาตทั้งหกเท่านั้น

อนึ่ง กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๑๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑ กรรม กึ่งปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ ๘ อาชีวก ๔,๙๐๐ ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาควาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓,๐๐๐ รโชธาตุ ๓๖ สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคัณฐีครรภ์ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗ สระ ๗ ปวุฏะ ๗ ปวุฏะ ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗ สุบิน ๗๐๐ จุลมหากัป ๘,๐๐๐,๐๐๐ เหล่านี้ ที่พาลและบัณฑิตเร่ร่อนท่องเที่ยวไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้

ความสมหวังว่า เราจักอบรมกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำให้สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ ไม่มีในที่นั้น

สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้ เหมือนตวงของให้หมดด้วยทะนาน ย่อมไม่มีในสงสารด้วยอาการอย่างนี้เลย

ไม่มีความเสื่อม ความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง

พาลและบัณฑิตเร่ร่อน ท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่บุคคลขว้างไป ย่อมคลี่หมดไปเอง ฉะนั้น ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูมักขลิโคศาล กลับพยากรณ์ถึงความบริสุทธิ์ด้วยการเวียนว่าย ฉะนี้


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึง สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูมักขลิโคศาลกลับพยากรณ์ถึงความบริสุทธิ์ด้วยการเวียนว่าย เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง ฉะนั้น

หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเราจะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้แล้ว

ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครู มักขลิโคศาล ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป

วาทะของศาสดาอชิตะเกสกัมพล

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูอชิตะเกสกัมพล ถึงที่อยู่ ได้กล่าวว่า

ท่านอชิตะ ...ท่านอาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่

เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูอชิตะ เกสกัมพลได้กล่าวคำนี้ กะหม่อมฉันว่า ดูกรมหาบพิตร

ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี

สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก

คนเรานี้ เป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อทำกาลกิริยา ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ

คนทั้งหลายมีเตียงเป็นที่ ๕ จะหามเขาไป ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกมีสีดุจสีนกพิราบ

การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด

ทานนี้ คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกพูดว่า มีผล มีผล ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ

เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิด ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูอชิตะเกสกัมพล กลับตอบถึงความขาดสูญ ฉะนี้


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึง สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูอชิตะเกสกัมพลกลับตอบถึงความขาดสูญ เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง ฉะนั้น

หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเราจะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้แล้ว

ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครู มักขลิโคศาล ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป

วาทะของศาสดาปกุธะกัจจายนะ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูปกุธะกัจจายนะถึงที่อยู่ ได้กล่าวว่า

ท่านกัจจานะ ...ท่านอาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่  

เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูปกุธะ กัจจายนะได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉันว่า ดูกรมหาบพิตร

สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้นไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุข หรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน

สภาวะ ๗ กอง เป็นไฉน คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ เป็นที่ ๗ สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีแบบอย่างอันใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาพยั่งยืน ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด สภาวะ ๗ กองเหล่านั้น ไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่อาจให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุข ทั้งทุกข์ แก่กันและกัน

ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะว่าบุคคลจะเอาศาสตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ไม่ชื่อว่าใคร ๆ ปลงชีวิตใคร ๆ เป็นแต่ศาสตราสอดไปตามช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปกุธะกัจจายนะ กลับเอาเรื่องอื่นมาพยากรณ์


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึง สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปกุธะกัจจายนะกลับเอาเรื่องอื่นมาพยากรณ์ เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง ฉะนั้น

หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเราจะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้แล้ว

ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครูปูรณะกัสสป ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป”

 วาทะของศาสดานิครนถ์นาฏบุตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูนิครนถ์นาฏบุตร ถึงที่อยู่ ได้กล่าวว่า

ท่านอัคคิเวสนะ ...ท่านอาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่  

เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูนิครนถ์ นาฏบุตรได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉันว่า ดูกรมหาบพิตร

นิครนถ์ในโลกนี้ เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ

นิครนถ์ในโลกนี้ เป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง ๑
เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง ๑
เป็นผู้กำจัดด้วยน้ำทั้งปวง ๑
เป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง ๑

นิครนถ์เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ อย่างนี้แลมหาบพิตร

เพราะเหตุที่นิครนถ์ เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการอย่างนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า เป็นผู้มีตนถึงที่สุดแล้ว มีตนสำรวมแล้ว มีตนตั้งมั่นแล้ว ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูนิครนถ์นาฏบุตร กลับตอบถึงสังวร ๔ ประการ ฉะนี้


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึง สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูนิครนถ์นาฏบุตรกลับตอบถึงสังวร ๔ ประการ เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง ฉะนั้น

หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเรา จะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้แล้ว

ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครูปูรณะกัสสป ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป”

 วาทะของศาสดาสญชัยเวลัฏฐบุตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ณ กรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูสญชัย เวลัฏฐบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าวว่า

ท่านสญชัย ...ท่านอาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่  

เมื่อหม่อมฉันกล่าวอย่างนี้ ครูสญชัย เวลัฏฐบุตรได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉันว่า

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้ามีอยู่หรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่า มี ก็จะพึงทูลตอบว่า มี

ความเห็นอาตมภาพว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้าไม่มีหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่าไม่มี ก็จะพึงทูลตอบว่า ไม่มี

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า โลกหน้ามีด้วย ไม่มีด้วยหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่า มีด้วยไม่มีด้วย ก็จะพึงทูลตอบว่า มีด้วยไม่มีด้วย ...

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า โลกหน้ามีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่หรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่า มีก็มิใช่ไม่มีก็มิใช่ ก็จะพึงทูลตอบว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นมีหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่ามี ก็จะพึงทูลตอบว่า มี

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มีหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่าไม่มี ก็จะพึงทูลตอบว่า ไม่มี

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นมีด้วย ไม่มีด้วยหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่า มีด้วยไม่มีด้วย ก็จะพึงทูลตอบว่า มีด้วย ไม่มีด้วย

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นมีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่หรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่ ก็จะพึงทูลตอบว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่หรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่ามี ก็จะพึงทูลตอบว่า มี

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว ไม่มีหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่าไม่มี ก็จะพึงทูลตอบว่าไม่มี ...

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีด้วย ไม่มีด้วยหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่ามีด้วยไม่มีด้วย ก็จะพึงทูลตอบว่า มีด้วย ไม่มีด้วย

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว ก็มิใช่ไม่มี ก็มิใช่หรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่ามีก็มิใช่ไม่มีก็มิใช่ ก็จะพึงทูลตอบว่า มีก็มิใช่ไม่มีก็มิใช่ ...

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย เกิดอีกหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่าเกิดอีก ก็จะพึงทูลตอบว่า เกิดอีก

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ไม่เกิดหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่าไม่เกิด ก็จะพึงทูลตอบว่า ไม่เกิด

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย เกิดด้วย ไม่เกิดด้วยหรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่า เกิดด้วย ไม่เกิดด้วย ก็จะพึงทูลตอบว่า เกิดด้วย ไม่เกิดด้วย

ถ้ามหาบพิตรตรัสถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่หรือ

ถ้าอาตมภาพมีความเห็นว่า เกิดก็มิใช่  ไม่เกิดก็มิใช่ ก็จะพึงทูลตอบว่า เกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่

อาตมภาพมีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ดังนี้

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูสญชัยเวลัฏฐบุตรกลับตอบส่ายไป ฉะนี้


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูสญชัยเวลัฏฐบุตรกลับตอบส่ายไป เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง ฉะนั้น

หม่อมฉันมีความดำริว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านี้ ครูสญชัยเวลัฏฐบุตรนี้  โง่กว่าเขาทั้งหมด งมงายกว่าเขาทั้งหมด  เพราะเมื่อหม่อมฉัน ถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์อย่างไร กลับตอบส่ายไป

หม่อมฉันมีความดำริว่า ไฉนคนอย่างเรา จะพึงมุ่งรุกรานสมณะหรือพราหมณ์ ผู้อยู่ในราชอาณาเขต ดังนี้แล้ว

ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของครูปูรณะกัสสป ไม่พอใจ แต่ก็มิได้เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ ไม่เชื่อถือ ไม่ใส่ใจถึงวาจานั้น ลุกจากที่นั่งหลีกไป”

 

 

อ้างอิง : สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๙๑-๙๙ หน้า ๔๕-๕๖