สามัญญผลสูตร - ศีล



สันทิฏฐิกสามัญญผลปุจฉา

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลถามพระผู้มีพระภาคบ้างว่า

ศิลปศาสตร์เป็นอันมากเหล่านี้ คือ

พลช้าง พลม้า พลรบ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงานจัดกระบวนทัพ พนักงานจัดส่งเสบียง พวกอุคคราชบุตร พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะหนัง พวกบุตรทาส ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นักคำนวณ พวกนับคะแนน หรือศิลปศาสตร์เป็นอันมาก แม้อย่างอื่นใดที่มีคติเหมือนอย่างนี้

คนเหล่านั้นย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์ เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น

เขาย่อมบำรุงตน มารดาบิดา บุตรภริยา มิตร อำมาตย์ ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ บำเพ็ญทักษิณาทานอันมีผลอย่างสูง เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุข เป็นผลให้เกิดในสวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ฉันใด

พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน เหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่  พระพุทธเจ้าข้า”


“อาจอยู่ มหาบพิตร

แต่ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถามมหาบพิตรก่อน โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย

มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

สมมติว่า มหาบพิตร พึงมีบุรุษผู้เป็นทาสกรรมกร มีปกติตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังพระบัญชาว่า จะโปรดให้ทำอะไร ประพฤติถูกพระทัย กราบทูลไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์ เขาจะมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า

คติของบุญ วิบากของบุญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา

ความจริง พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหีบุตรพระองค์นี้ เป็นมนุษย์

...แม้เราก็เป็นมนุษย์

แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า

...ส่วนเราสิเป็นทาสรับใช้ของพระองค์ท่าน ต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง ต้องคอยฟังพระบัญชาว่า โปรดให้ทำอะไร ต้องประพฤติให้ถูกพระทัย  ต้องกราบทูลไพเราะ ต้องคอยเฝ้าสังเกตพระพักตร์

เราพึงทำบุญ จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

สมัยต่อมา เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่ สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง  ยินดียิ่งในความสงัด  

ถ้าพวกราชบุรุษพึงกราบทูลถึงพฤติการณ์ของเขา อย่างนี้ว่า  

ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด บุรุษผู้เป็นทาสกรรมของพระองค์ ผู้ตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยฟังพระบัญชาว่า จะโปรดให้ทำอะไร ...เขาปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจอยู่ สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด

มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้เทียวหรือว่า

เฮ้ย คนนั้น ...
จงมาสำหรับข้า
จงมาเป็นทาสและกรรมกรของข้า
จงตื่นก่อนนอนทีหลัง
จงคอยฟังบัญชาว่าจะให้ทำอะไร
ประพฤติให้ถูกใจ พูดไพเราะ
คอยเฝ้าสังเกตดูหน้าอีกตามเดิม”

“จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า

อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีก ...ควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม”

“มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็นประจักษ์จะมีหรือไม่”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็นประจักษ์มีอยู่อย่างแน่แท้”

“ดูกรมหาบพิตร

นี้แหละ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน  ซึ่งอาตมภาพบัญญัติถวายมหาบพิตร เป็นข้อแรก

สันทิฏฐิกสามัญญผลเทศนา

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน แม้ข้ออื่น ให้เหมือนอย่างนั้นได้หรือไม่"

“อาจอยู่ มหาบพิตร

แต่ในข้อนี้ อาตมภาพจะขอย้อนถามมหาบพิตรก่อน โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย

มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้น เป็นไฉน

สมมติว่า มหาบพิตรพึงมีบุรุษเป็นชาวนา เป็นคฤหบดี ซึ่งเสียค่าอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์อยู่คนหนึ่ง เขาจะมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า

คติของบุญ วิบากของบุญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา

ความจริง พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหีบุตรพระองค์นี้ เป็นมนุษย์

...แม้เราก็เป็นมนุษย์

แต่พระองค์ท่านทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณดุจเทพเจ้า

...ส่วนเราสิเป็นชาวนา เป็นคฤหบดี ต้องเสียค่าอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์

เราพึงทำบุญ จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน

ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อยู่สันโดษด้วย ความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด

ถ้าพวกราชบุรุษ พึงกราบทูล พฤติการณ์ของเขา อย่างนี้ว่า

ขอเดชะ ขอพระองค์พึงทรงทราบเถิด

บุรุษผู้เป็นชาวนา เป็นคฤหบดี ซึ่งเสียค่าอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ของพระองค์อยู่นั้น เขาปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว เขาเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อยู่สันโดษด้วยความมีเพียงอาหารและผ้าปิดกายเป็นอย่างยิ่ง ยินดียิ่งในความสงัด

มหาบพิตรจะพึงตรัสอย่างนี้ เทียวหรือว่า

เฮ้ย เจ้าคนนั้น เจ้าจงมา
จงเป็นชาวนา เป็นคฤหบดี
เสียค่าอากรเพิ่มพูนพระราชทรัพย์ตามเดิม”

“จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้เลย พระเจ้าข้า

อันที่จริงหม่อมฉันเสียอีก... ควรจะไหว้เขา ควรจะลุกรับเขา ควรจะเชื้อเชิญเขาให้นั่ง ควรจะบำรุงเขาด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ควรจะจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองเขาอย่างเป็นธรรม”

“มหาบพิตร จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็นประจักษ์ จะมีหรือไม่”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้น สามัญผลที่เห็นประจักษ์ มีอยู่อย่างแน่แท้”

“ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน ซึ่งอาตมภาพบัญญัติถวายมหาบพิตร เป็นข้อที่สอง”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

พระองค์อาจบัญญัติสามัญผลที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน แม้ข้ออื่น ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า สามัญผลที่เห็นประจักษ์เหล่านี้ได้หรือไม่“

“อาจอยู่ มหาบพิตร ถ้าอย่างนั้นมหาบพิตรจงคอยสดับ จงตั้งพระทัยให้ดี อาตมภาพจักแสดง”

ครั้นพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า อชาตศัตรู เวเทหีบุตร ทูลสนองพระพุทธพจน์แล้ว

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

“ดูกรมหาบพิตร

พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม

พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ให้รู้ตาม

ทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต

เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า... ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชา เป็นทางปลอดโปร่ง

การที่บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผม และหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต

สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว
สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่
ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร
มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล
มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ

อริยศีลขันธ์

จุลศีล

ดูกรมหาบพิตร อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

๑.  ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้ เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๒.  เธอ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๓.  เธอ ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๔.  เธอ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๕.  เธอ ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๖.  เธอ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๗.  เธอ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๘.  เธอเว้นจากการพรากพืชคามและภูตคาม

๙.  เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล

๑๐. เธอเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล

 ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับและตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว

๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่ง นอน บนที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่

๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน

๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส

๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน

๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้

๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย

๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด

๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

มัชฌิมศีล

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคาม เห็นปานนี้ คือ

พืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบห้า

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือ

สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้คือ

การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังขวนขวายเล่นการพนัน อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เห็นปานนี้คือ

เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละสิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อย ๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เห็นปานนี้คือ

เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐาน เป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือ เป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะ อันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด  เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตกแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังขวนขวาย ประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เห็นปานนี้คือ

อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้าทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังประกอบติรัจฉานกถา เห็นปานนี้คือ

พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและ ความเสื่อมด้วยประการนั้น ๆ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังขวนขวายกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เห็นปานนี้ เช่นว่า

ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้จักทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร

ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก

ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์

คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน

ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้น จงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือ

รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา ดังนี้

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง และการพูดเลียบเคียง เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

 มหาศีล

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น 

อย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ

ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ  เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกาเป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้คือ

ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะศาตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ  ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค  

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

 ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้คือ

ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิดพระราชาภายในจักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ ๆ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้คือ

พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง

จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง

จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้

มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้  

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ

พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก

จักมีความเกษม จักมีภัย

จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้

หรือนับคะแนนคำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์โลกายศาสตร์

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้คือ

ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ให้ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย

ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง

เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า

บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น

อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้คือ

ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน

ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย

ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ

ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล  

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง

ดูกรมหาบพิตร

ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เลย เพราะศีลสังวรนั้น

เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เพราะราชศัตรูนั้น

ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เพราะศีลสังวรนั้น


ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุข อันปราศจากโทษในภายใน

ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

 

 

 

อ้างอิง : สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่๙๑-๑๔๐ หน้า ๔๕-๗๙