ภัทเทกรัตตสูตร - ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย”

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว 

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า 

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังอุเทศและวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป” 

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า 

“ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”


อุเทศ - ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

“บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง 

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน...
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ ได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ
ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ 

วิภังค์ - ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ

รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้น ๆ ว่า

เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว
ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว 

อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

ก็บุคคลจะไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ 

ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้น ๆ ว่า 

เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว 
ได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว 
ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว 
ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว 
ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว 

อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว

ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ 

รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้น ๆ ว่า 

ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต
พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต 
พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต
พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต
พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต

อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ

ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้น ๆ ว่า 

ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต
พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต
พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต
พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต
พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต 

อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้
เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง 
เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง 
เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง

ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง 
เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง
เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง 
เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง

ย่อมเล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง

ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง 

ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง
เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง  

อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

ก็บุคคล ย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ 

อริยสาวกผู้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ 
ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
ได้เห็นสัตบุรุษ
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ
ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง 
ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง 

ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง 
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีเวทนาบ้าง 
ไม่เล็งเห็นเวทนาในอัตตาบ้าง 
ไม่เล็งเห็นอัตตาในเวทนาบ้าง 

ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสัญญาบ้าง
ไม่เล็งเห็นสัญญาในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในสัญญาบ้าง

ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีสังขารบ้าง
ไม่เล็งเห็นสังขารในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในสังขารบ้าง

ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง
ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง 

อย่างนี้แลชื่อว่า ไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง 

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน
ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้น ๆได้
บุคคลนั้น พึงเจริญธรรมนั้นเนือง ๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ
ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย


พระมุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำที่เรากล่าวไว้ว่า เราจักแสดงอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เธอทั้งหลายนั้น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว ด้วยประการฉะนี้

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

 

 

อ้างอิง : ภัทเทกรัตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๕๒๖-๕๓๔ หน้า ๒๖๕-๒๖๗