อรรถกรณสูตร - การกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้นั่ง ณ ที่พิจารณาคดี

เห็นกษัตริย์มหาศาลบ้าง พราหมณ์มหาศาลบ้าง คฤหบดีมหาศาลบ้าง ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องอุปกรณ์น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์คือข้าวเปลือกมากมาย

ยังกล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่
เพราะเหตุแห่งกาม
เพราะเรื่องกาม
เพราะมีกามเป็นเค้ามูล

หม่อมฉันได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า

เป็นการไม่สมควรเลย ด้วยการที่เราจะพิจารณาคดีในบัดนี้ เพราะบัดนี้ ราชโอรสนามว่า วิฑูฑภะ ผู้มีหน้าชื่นบาน จักปรากฏโดยการพิจารณาคดี”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

“ชอบแล้ว ๆ มหาบพิตร

กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล แม้บางพวกเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องอุปกรณ์น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์คือข้าวเปลือกมากมาย

ยังจัก กล่าวมุสาทั้งที่รู้สึกอยู่
เพราะเหตุแห่งกาม
เพราะเรื่องกาม
เพราะมีกามเป็นเค้ามูล

ข้อนั้น
จักเป็นไปเพื่อความเสื่อมประโยชน์
เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน”

พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

“สัตว์ทั้งหลาย
เป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่าใคร่
มักมาก หลงใหลในกามคุณ

…ย่อมไม่รู้สึกการล่วงเกิน
เหมือนพวกปลากำลังเข้าไปสู่เครื่องดัก

...ซึ่งอ้าดักอยู่ ฉะนั้น


ผลอันเผ็ดร้อน ย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรมเช่นนั้นมีวิบากเลวทราม”

 

 

 

อ้างอิง : อรรถกรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๔๓-๓๔๕ หน้า ๙๓-๙๔

 

ภาพประกอบ : วิวัฒนา วุฒาภิรมย์