อริยวสสูตรที่ ๒ - ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ



กัมมาสธัมมะนิคม แคว้นกุรุ 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธรรม ในแคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย”

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

 “ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเป็นที่อยู่แห่งพระอริยะ
ที่พระอริยะอยู่แล้วก็ดี
กำลังอยู่ก็ดี จักอยู่ก็ดี
๑๐ ประการนี้ คือ


ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ๑
ประกอบด้วยองค์หก ๑
รักษาแต่อย่างเดียว ๑
มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการ ๑
มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้แล้ว ๑
มีการแสวงหาอันสละแล้วด้วยดี ๑
มีความดำริไม่ขุ่นมัว ๑
มีกายสังขารอันสงบระงับแล้ว ๑
มีจิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี ๑
มีปัญญาอันหลุดพ้นแล้วด้วยดี ๑

ละองค์ ๕

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้วอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละกามฉันทะได้แล้ว ๑
เป็นผู้ละพยาบาทได้แล้ว ๑
เป็นผู้ละถีนมิทธะได้แล้ว ๑

เป็นผู้ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว ๑
เป็นผู้ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ๑

ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้วอย่างนี้แล

ประกอบด้วยองค์ ๖

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่

ฟังเสียงด้วยหูแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่

ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่

ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่

ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่

รู้แจ้งธรรมด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่

ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างนี้แล

รักษาแต่อย่างเดียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้รักษาแต่อย่างเดียวอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีใจอันรักษาด้วย สติ

ภิกษุเป็นผู้รักษาแต่อย่างเดียวอย่างนี้แล

มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาแล้วเสพ ๑
พิจารณาแล้วอดกลั้น ๑
พิจารณาแล้วเว้น ๑
พิจารณาแล้วบรรเทา ๑

ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พักพิง ๔ ประการ อย่างนี้แล

มีปัจเจกสัจจะบรรเทาแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาแล้วอย่างไร

ปัจเจกสัจจะเป็นอันมากเหล่าใดเหล่าหนึ่งของสมณพราหมณ์เป็นอันมาก คือ

สัจจะว่าโลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง 
โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง

ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง
ชีพเป็นอื่น สรีระเป็นอื่นบ้าง

สัตว์เมื่อตายไปย่อมเป็นอีกบ้าง
สัตว์เมื่อตายไปย่อมไม่เป็นอีกบ้าง

สัตว์เมื่อตายไปย่อมเป็นอีกก็มี
ย่อมไม่เป็นอีกก็มีบ้าง

สัตว์เมื่อตายไปย่อมเป็นอีกก็หามิได้
ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง

สัจจะเหล่านั้นทั้งหมดเป็นของอันภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรเทาได้แล้ว กำจัดออกแล้ว สละได้แล้ว คลายได้แล้ว พ้นได้แล้ว ละได้แล้ว สลัดได้เฉพาะแล้ว

ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะอันบรรเทาได้แล้วอย่างนี้แล

มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละการแสวงหากามได้แล้ว
เป็นผู้ละการแสวงหาภพได้แล้ว
เป็นผู้สงบระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ได้แล้ว

ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้แล้วด้วยดีอย่างนี้แล 

มีความดำริไม่ขุ่นมัว 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัวอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ละความดำริในกามได้แล้ว
เป็นผู้ละความดำริในพยาบาทได้แล้ว
เป็นผู้ละความดำริในวิหิงสาได้แล้ว

ภิกษุเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัวอย่างนี้แล

มีกายสังขารสงบระงับแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารสงบระงับแล้วอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับแล้วอย่างนี้แล

มีจิตอันหลุดพ้นแล้วด้วยดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีจิตอันหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างไร

จิตของภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
เป็นธรรมชาติหลุดพ้นแล้วจากราคะ
หลุดพ้นแล้วจากโทสะ
หลุดพ้นแล้วจากโมหะ

ภิกษุเป็นผู้มีจิตอันหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างนี้แล

มีปัญญาหลุดพ้นแล้วด้วยดี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดว่า
ราคะ  โทสะ  โมหะ  เราละได้แล้ว
ตัดรากได้ขาดแล้ว 
ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี
มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาอันหลุดพ้นแล้วด้วยดีอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอดีตกาล  อยู่อาศัยแล้วซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการ เหล่านี้เทียว

พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในอนาคตกาล  จักอยู่อาศัยซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการ เหล่านี้เทียว  

พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ในปัจจุบันนี้  อยู่อาศัยซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการ เหล่านี้เทียว

พระอริยเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมอยู่อาศัยซึ่งธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ๑๐ ประการ เหล่านี้เทียว

ธรรมเป็นที่อยู่ของพระอริยเจ้า ที่พระอริยเจ้าอยู่อาศัยแล้วก็ดี กำลังอยู่อาศัยก็ดี จักอยู่อาศัยก็ดี ๑๐ ประการนี้แล


 

 

 

อ้างอิง : อริยวสสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อ ๒๐ หน้า ๒๘-๓๑