พรหมชาลสูตร ตอนที่ ๒ - ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘



“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังมีธรรมอย่างอื่นอีก ที่ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ


ก็ธรรมเหล่านั้นเป็นไฉน

ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นไปตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ ๑๘ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นไปตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุ ๑๘ ประการ

สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง

สัสสตทิฏฐิ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่า เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ

ฐานะที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต

ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือ ตามระลึกชาติได้ หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง...ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ฉะนี้

เขากล่าวอย่างนี้ว่า

อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้ เพราะข้าพเจ้าตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ

ด้วยการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้

นี้เป็นฐานะที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง

ฐานะที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต

ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือ ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ได้สังวัฏฏวิวัฏฏกัปหนึ่งบ้าง สองบ้าง สามบ้าง...ห้าบ้าง สิบบ้าง ว่า ในกัปโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากนั้นแล้วได้ไปเกิดในกัปโน้น แม้ในกัปนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากนั้นแล้วได้มาบังเกิดในกัปนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ฉะนี้

เขากล่าวอย่างนี้ว่า

อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้ เพราะข้าพเจ้าตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ

ด้วยการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้

นี้เป็นฐานะที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง

ฐานะที่ ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต

ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือ ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ได้สิบสังวัฏฏวิวัฏฏกัปบ้าง ยี่สิบบ้าง สามสิบบ้าง สี่สิบบ้าง ว่าในกัปโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น ได้เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในกัปโน้น แม้ในกัปนั้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากนั้นแล้วได้มาบังเกิดในกัปนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ฉะนี้

เขากล่าวอย่างนี้ว่า

อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้ เพราะข้าพเจ้าตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ

ด้วยการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้

นี้เป็นฐานะที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง

ฐานะที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักค้นคิด กล่าวแสดงปฏิภาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ค้นคิดได้อย่างนี้ว่า

อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด ส่วนเหล่าสัตว์นั้นย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้

นี้เป็นฐานะที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า เที่ยง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกนั้น มีทิฏฐิว่าเที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ นี้แล

ก็สมณพราหมณ์เหล่าใดที่มีทิฏฐิว่าเที่ยง จะบัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๔ ประการนี้เท่านั้น หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี


เอกัจจสัสสติกทิฏฐิ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง จึงบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกนั้นอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

ฐานะที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลช้านานที่โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ เหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหมโดยมาก สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน

ในสมัยที่โลกนี้กลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่ วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า ครั้งนั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นอาภัสสรพรหมเพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ ย่อมเข้าถึงวิมานพรหมที่ว่างเปล่า แม้สัตว์ผู้นั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลช้านาน

เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานนั้นแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงเกิดความกระสัน ความดิ้นรนขึ้นว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง

ต่อมาสัตว์เหล่าอื่นก็จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมเพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ เข้าถึงวิมานพรหม เป็นสหายของสัตว์ผู้นั้น

แม้สัตว์พวกนั้นก็ได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกาย ตนเองสัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลช้านาน

บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นย่อมมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า

เราเป็นพรหม เราเป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้ว และกำลังเป็น สัตว์เหล่านี้เรานิรมิต

เพราะได้มีความคิดอย่างนี้ก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ความตั้งใจของเราเป็นเช่นนี้ และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว

แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลัง ก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า

ท่านผู้เจริญนี้แลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้  เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เป็นแล้ว และกำลังเป็น พวกเราอันพระพรหมผู้เจริญนี้ นิรมิตแล้ว

เพราะพวกเราได้เห็นพระพรหมผู้เจริญนี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดภายหลัง

บรรดาสัตว์จำพวกนั้น ผู้ใดเกิดก่อน ผู้นั้นมีอายุยืนกว่า มีผิวพรรณงามกว่า มีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้ที่เกิดภายหลังมีอายุน้อยกว่า มีผิวพรรณทรามกว่า มีศักดิ์น้อยกว่า

ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้ว มาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการ โดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้

เขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านผู้ใดแลเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครข่มได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ ผู้เป็นแล้วและกำลังเป็น

พระพรหมผู้เจริญใดที่นิรมิตพวกเรา พระพรหมผู้เจริญนั้นเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว

ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นนิรมิตแล้วนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้

นี้เป็นฐานะที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

ฐานะที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่าขิฑฑาปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวกนั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ สติก็ย่อมหลงลืม เพราะสติหลงลืม จึงพากันจุติจากชั้นนั้น

ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่ง จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการ โดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่ เคยอาศัยอยู่ในกาล ก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้

เขาจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านพวกเทวดา ผู้มิใช่เหล่าขิฑฑาปโทสิกะ ย่อมไม่พากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ คือ การสรวลเสและการเล่นหัวจนเกินเวลา เมื่อพวกนั้นไม่พากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ สติย่อมไม่หลงลืม

เพราะสติไม่หลงลืม พวกเหล่านั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว

ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ หมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ เมื่อพวกเรานั้นพากันหมกมุ่นอยู่แต่ในความรื่นรมย์ สติย่อมหลงลืม

เพราะสติหลงลืม พวกเราจึงพากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้

นี้เป็นฐานะที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

ฐานะที่ ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่ามโนปโทสิกะมีอยู่ พวกนั้นมักเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษกันเกินควร ย่อมคิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน จึงลำบากกาย ลำบากใจ พากันจุติจากชั้นนั้น

ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่ง จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการ โดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ ในกาลก่อนนั้นได้ หลังแต่นั้นไประลึกไม่ได้

เขาได้จึงกล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านพวกเทวดาผู้มิใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร ก็ไม่คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างไม่คิดมุ่งร้ายกันและกันแล้ว ก็ไม่ลำบากกาย ไม่ลำบากใจ

พวกนั้นจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว

ส่วนพวกเราได้เป็นพวกมโนปโทสิกะ มัวเพ่งโทษกันและกันเกินควร เมื่อมัวเพ่งโทษ กันและกันเกินควร ก็คิดมุ่งร้ายกันและกัน เมื่อต่างคิดมุ่งร้ายกันและกัน ก็พากันลำบากกาย ลำบากใจ

พวกเราจึงพากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีอายุน้อย ยังต้องจุติมาเป็นอย่างนี้ เช่นนี้

นี้เป็นฐานะที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

ฐานะที่ ๔

สมณพราหมณ์ผู้เจริญ อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง  

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักค้นคิด กล่าวแสดงปฏิภาณ ของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ค้นคิดได้ อย่างนี้ว่า

สิ่งที่เรียกว่าจักษุก็ดี โสตะก็ดี ฆานะก็ดี ชิวหาก็ดี กายก็ดี นี้ได้ชื่อว่าอัตตา เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอันแปรผันเป็นธรรมดา

ส่วนสิ่งที่เรียกว่า จิตหรือใจหรือวิญญาณ นี้ชื่อว่าอัตตา เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงทน มีอันไม่แปรผันเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เที่ยงเสมอไปเช่นนั้นทีเดียว

นี้เป็นฐานะที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว จึงมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้น มีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล

ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดมีทิฏฐิว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง จะบัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๔ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี


อันตานันติกทิฏฐิ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่าโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ บัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกนั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร มีทิฏฐิและบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้

ฐานะที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ย่อมมีความสำคัญในโลกว่ามีที่สุด

เขากล่าวอย่างนี้ว่า

โลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบ

เพราะข้าพเจ้าบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต จึงมีความสำคัญในโลกว่ามีที่สุด

ด้วยการบรรลุคุณวิเศษนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้อาการที่โลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบ

นี้เป็นฐานะที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิและบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้

ฐานะที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต จึงมีความสำคัญในโลกว่าไม่มีที่สุด

เขากล่าวอย่างนี้ว่า

โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดรอบมิได้

สมณพราหมณ์พวกที่พูดว่า โลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบนั้นเท็จ โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดรอบมิได้

เพราะข้าพเจ้าบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต จึงมีความสำคัญในโลกว่า หาที่สุดมิได้

ด้วยการบรรลุคุณวิเศษนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้อาการที่โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดรอบมิได้

นี้เป็นฐานะที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้วปรารภแล้ว มีทิฏฐิและบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้

ฐานะที่ ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิ อันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต จึงมีความสำคัญในโลกว่า ด้านบนด้านล่างมีที่สุด ด้านขวางหาที่สุดมิได้

เขากล่าวอย่างนี้ว่า

โลกนี้ทั้งมีที่สุด ทั้งไม่มีที่สุด

สมณพราหมณ์พวกที่กล่าวว่า โลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบ และพวกที่กล่าวว่า โลกนี้ไม่มีที่สุดหาที่สุดรอบมิได้ นั้นเท็จ

เพราะข้าพเจ้าบรรลุเจโตสมาธิ อันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ย่อมมีความสำคัญในโลกว่า ด้านบนด้านล่างมีที่สุด ด้านขวางไม่มีที่สุด

ด้วยการบรรลุคุณวิเศษนี้ ข้าพเจ้าจึงรู้อาการที่โลกนี้ทั้ง มีที่สุดทั้งไม่มีที่สุด

นี้เป็นฐานะที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิและบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้

ฐานะที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักค้นคิด กล่าวแสดงปฏิภาณของตน ตามที่ตรึกได้ ตามที่ค้นคิดได้อย่างนี้ว่า

โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่

สมณพราหมณ์พวกที่กล่าวว่า โลกนี้มีที่สุด กลมโดยรอบ นั้นเท็จ พวกที่กล่าวว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดรอบมิได้ และพวกที่กล่าวว่าโลกนี้ทั้งมีที่สุดทั้งไม่มีที่สุด นั้นก็เท็จ

นี้เป็นฐานะที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่าโลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ย่อมบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล

สมณะหรือพราหมณ์พวกใด มีทิฏฐิและบัญญัติว่า โลกมีที่สุดและหาที่สุดมิได้ สมณพราหมณ์พวกนั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๔ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี


อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง มีทิฏฐิ ดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ ๔ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกนั้นอาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว กล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว

ฐานะที่ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล

เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า

เราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จะพึงพยากรณ์ว่า นี้เป็นกุศล หรือนี้เป็นอกุศล คำพยากรณ์นั้นของเราจะพึงเป็นคำเท็จ

คำเท็จของเรานั้น จะพึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา ความเดือดร้อนของเรานั้นจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา

เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่กล้าพยากรณ์ว่านี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล เพราะกลัวการกล่าวเท็จ เพราะเกลียดการกล่าวเท็จ

เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ จึงกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า

ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

นี้เป็นฐานะที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้นๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว

ฐานะที่ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล

เขามีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า

เราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จะพึงพยากรณ์ว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ความพอใจ ความติดใจ หรือความเคืองใจ ความขัดใจในข้อนั้น พึงมีแก่เรา

ข้อที่มีความพอใจ ความติดใจ หรือความเคืองใจ ความขัดใจนั้นจะพึงเป็นอุปาทานของเรา อุปาทานของเรานั้น จะพึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา ความเดือดร้อนของเรานั้นจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา

เพราะฉะนั้นเขาจึง ไม่กล้าพยากรณ์ว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล เพราะกลัวแต่อุปาทาน เพราะเกลียดอุปาทาน

เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า

ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

นี้เป็นฐานะที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิ ดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว

ฐานะที่ ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล

เขามีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า

เราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จะพึงพยากรณ์ว่า นี้เป็นกุศล หรือนี้เป็นอกุศล สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียด ชำนาญการโต้วาทะ เป็นดุจคนแม่นธนู มีอยู่

สมณพราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวทำลายทิฏฐิด้วยปัญญา เขาจะพึงซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนเราในข้อนั้น เราไม่อาจโต้ตอบเขาได้

การที่โต้ตอบเขาไม่ได้นั้น จะพึงเป็นความเดือดร้อนแก่เรา ความเดือดร้อนของเรานั้น จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา

เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่กล้าพยากรณ์ว่า

นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล เพราะกลัวแต่การซักถาม เพราะเกลียดแต่การซักถาม

เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า

ความเห็นของเราอย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

นี้เป็นฐานะที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว

ฐานะที่ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็นคนเขลา งมงาย เพราะเขลา เพราะงมงาย เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ เขาจึงกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า

ถ้าท่านถามเราอย่างนี้ว่า โลกหน้ามีหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า โลกหน้ามี

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า

โลกหน้ามี แต่ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

ถ้าท่านถามเราว่า โลกหน้าไม่มีหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า ไม่มี

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า ไม่มี...

ถ้าท่านถามเราว่า โลกหน้ามีด้วย ไม่มีด้วยหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีด้วย ไม่มีด้วย

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีด้วย ไม่มีด้วย...

ถ้าท่านถามเราว่าโลกหน้า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่หรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า โลกหน้ามีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่

เราพึงพยากรณ์ว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่...

ถ้าท่านถามเราว่า สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มี

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มี...

ถ้าท่านถามเราว่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มีหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า ไม่มี

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า ไม่มี...

ถ้าท่านถามเราว่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้น มีด้วย ไม่มีด้วยหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีด้วย ไม่มีด้วย

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีด้วย ไม่มีด้วย...

ถ้าท่านถามเราว่า สัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่หรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่...

ถ้าท่านถามเราว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมีหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มี

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มี...

ถ้าท่าน ถามเราว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มีหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า ไม่มี

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า ไม่มี...

ถ้าท่านถามเราว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีด้วย ไม่มีด้วยหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีด้วย ไม่มีด้วย

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีด้วย ไม่มีด้วย ...

ถ้าท่านถามเราว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่หรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่...

ถ้าท่านถามเราว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายมีอยู่หรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีอยู่

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีอยู่...

ถ้าท่านถามเราว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย ไม่มีอยู่หรือ ถ้าเรามีความ เห็นว่า ไม่มีอยู่

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า ไม่มีอยู่...

ถ้าท่านถามเราว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายมีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วยหรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วย

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีอยู่ด้วย ไม่มีอยู่ด้วย...

ถ้าท่านถามเราว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ ถ้าเรามีความเห็นว่า มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่

เราก็จะพึงพยากรณ์ว่า มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ แต่ความเห็นของเราว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

นี้เป็นฐานะที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้นๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้น มีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว ด้วยเหตุ ๔ ประการนี้แล

สมณะหรือพราหมณ์พวกใดมีทิฏฐิดิ้นได้ไม่ตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัวด้วยเหตุ ๔ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี


อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเกิดขึ้นลอย ๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ

ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกนั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ

อสัญญีสัตว์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาชื่อว่าอสัญญีสัตว์มีอยู่ ก็และเทวดาเหล่านั้น ย่อมจุติจากชั้นนั้น เพราะความเกิดขึ้นแห่งสัญญา  

ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้ว มาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต

เมื่อบวชแล้ว อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วบรรลุเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องตั้งมั่นแห่งจิต ย่อมตามระลึกถึงความเกิดขึ้นแห่งสัญญาได้ เบื้องหน้าแต่นั้นไประลึกมิได้ เขากล่าวอย่างนี้ว่า

อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ

เพราะข้าพเจ้าเมื่อก่อนไม่ได้มีแล้ว เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้านั้นมี เพราะมิได้น้อมไปเพื่อความเป็นผู้สงบแล้ว

นี้เป็นฐานะที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ

ฐานะที่ ๒

สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เป็นนักตรึก เป็นนักค้นคิด เขากล่าวแสดงปฏิภาณของตนตามที่ตรึกได้ ตามที่ค้นคิดได้อย่างนี้ว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ

นี้เป็นฐานะที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์มีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ย่อมบัญญัติอัตตาและโลกว่าเกิดขึ้นลอยๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้แล

ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพมีทิฏฐิและบัญญัติว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ สมณพราหมณ์พวกนั้นทั้งหมด ย่อมบัญญัติด้วยเหตุ ๒ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากนี้ไม่มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิดด้วยเหตุทั้ง ๑๘ ประการนี้แล


ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต กล่าวคำแสดงทิฏฐิหลายชนิด สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ย่อมกล่าวยืนยัน ด้วยเหตุ ๑๘ ประการนี้เท่านั้น หรือแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไม่มี"

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ บุคคลถืออย่างนั้นแล้ว ยึดอย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น

และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นความรู้ชัดนั้นด้วย

เมื่อไม่ยึดมั่น...
ก็ทราบความเกิดขึ้น... ความดับไป...
คุณ และโทษของเวทนาทั้งหลาย
กับทั้งอุบายเป็นเครื่องออกไป
จากเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง
จึงทราบความดับได้เฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น


ธรรมเหล่านี้แล ที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต จะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ

 

อ้างอิง : พรหมชาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๒๖-๔๔ หน้าที่ ๑๑-๒๘