2-01 เมืองเวสาลีเกิดทุพภิกขภัย



วังเจ้าลิจฉวี เมืองเวสาลี

ในสมัยหนึ่ง เมืองเวสาลีเป็นเมืองมั่งคั่ง กว้างขวาง มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย ก็ในเมืองเวสาลีนั้นมีกษัตริย์ครอบครองราชสมบัติตามวาระกันถึง ๗,๗๐๐ พระองค์ ปราสาทเพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับของกษัตริย์เหล่านั้นก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน เรือนยอดก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน สถานที่รื่นรมย์และสระโบกขรณีเพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับอยู่ในพระราชอุทยานก็ได้มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน

เกิดภัย ๓ อย่างในเมืองเวสาลี

สมัยต่อมา เมืองเวสาลีเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้ง ข้าวกล้าตาย คนยากคนจนที่ตายก่อนถูกทิ้งไปนอกพระนคร พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร จากนั้นผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้นเพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย ชาวเมืองเวสาลีซึ่งถูกภัย ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขภัย (ภัยจากการขาดแคลนอาหาร) อมนุสสภัย (ภัยจากอมนุษย์) และโรคภัยเบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าเจ้าลิจฉวีผู้เป็นพระราชา กราบทูลว่า

“ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่างในพระนครนี้แล้วพระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชะรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น”

พระราชารับสั่งให้ทำการประชุมชนทั้งปวงในท้องพระโรงแล้วตรัสว่า

“ถ้าว่าความไม่ทรงธรรมของเรามีอยู่ไซร้ ท่านทั้งหลายจงตรวจดูซึ่งเหตุนั้น”

ชาวเมืองเวสาลีตรวจดูประเพณีทุกอย่าง ไม่เห็นโทษอะไร ๆ ของพระราชา จึงพากันคิดว่าภัยนี้ของเราจะระงับไปได้อย่างไร



ป้ายแสดงเขตโบราณสถานเมืองเวสาลี

ชาวเมืองเวสาลีให้ไปทูลเชิญพระศาสดา

ในที่ประชุมนั้น บางพวกอ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า

"พอศาสดาเหล่านั้นย่างเท้าลงเมืองเวสาลีเท่านั้น ภัยก็จะระงับไป"

บางพวกกล่าวว่า

“ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่างก็จะระงับไป”

ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นจึงดีพระทัย ตรัสว่า

“ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญก็เกรงว่าจะไม่เสด็จมาน่ะสิ”

“ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไรจะไม่เสด็จมาเล่า”

“ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นบัดนี้ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุปัฏฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา”

“ถ้าอย่างนั้นเราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัย แล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา”

แล้วพระราชาก็ทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก ส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า

“ขอท่านทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัย แล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา”

เจ้าลิจฉวีทั้งสองพระองค์เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แจ้งให้ทรงทราบเรื่องราว แล้วทูลว่า

“ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระเจ้าพิมพิสารไม่ทรงรับรอง ตรัสว่า

“พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด”

เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับคำ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคม แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาใคร่ครวญอยู่ ก็ทรงทราบว่า

“ในเมืองเวสาลี เมื่อเราสวดรัตนสูตร อาชญาจักแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล ในกาลจบพระสูตร การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน ภัยเหล่านั้นก็จักสงบไป”

เมื่อพระพุทธองค์เห็นดังนั้นแล้วจึงทรงรับนิมนต์



โบราณสถานภายในประตูเมืองเวสาลี

พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองเวสาลีจัดการต้อนรับพระศาสดา

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงโปรดให้โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์เสด็จไปเมืองเวสาลีแล้ว จากนั้นพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทูลถามว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงรับการเสด็จไปเมืองเวสาลีแล้วหรือพระเจ้าข้า”

“ถวายพระพร มหาบพิตร”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นโปรดทรงรอจนกว่าหม่อมฉันจะตระเตรียมหนทางเสด็จเรียบร้อยพระเจ้าข้า”

แล้วรับสั่งให้ปรับพื้นที่ ๕ โยชน์ในระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้สม่ำเสมอ ให้จัดแจงวิหารไว้ในที่โยชน์หนึ่ง ๆ จึงกราบทูลกาลเป็นที่เสด็จไปแด่พระศาสดา

ครั้งนั้น พระศาสดาเสด็จเดินทางกับภิกษุ ๕๐๐ รูป พระราชารับสั่งให้โปรยดอกไม้ ๕ สี โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่าในระหว่างโยชน์หนึ่ง ๆ แล้วให้ยกธงชัย ธงแผ่นผ้า และต้นกล้วย เป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ คันซ้อนกันแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กั้นเศวตฉัตรแก่ภิกษุรูปละคัน ๆ ทรงทำบูชาด้วยดอกไม้และของหอม เป็นต้น พร้อมด้วยบริวารของพระองค์ ทรงอาราธนาพระศาสดาให้ประทับอยู่ในวิหารแห่งหนึ่ง ๆ ถวายมหาทาน แล้วทรงนำเสด็จถึงฝั่งแม่น้ำคงคาในเวลา ๕ วัน ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด

เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นตกลงกันว่า เราทั้งหลายจักทำการบูชาทวีคูณ แล้วปรับพื้นที่ประมาณ ๓ โยชน์ ในระหว่างเมืองเวสาลีและแม่น้ำคงคาให้สม่ำเสมอ ตระเตรียมเศวตฉัตรซ้อน ๆ กันด้วยเศวตฉัตร เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ๔ คัน เพื่อภิกษุรูปละ ๒ คัน ทำการบูชาอยู่ เสด็จมาคอยที่ฝั่งแม่น้ำคงคา

ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงขนานเรือ ๒ ลำ ให้ทำพลับพลา ให้ประดับด้วยพวงดอกไม้เป็นต้น ปูลาดพุทธอาสน์สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่างไว้

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์นั้น แม้ภิกษุทั้งหลายก็ขึ้นสู่เรือ นั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระเจ้าพิมพิสารเมื่อตามส่งเสด็จลงไปสู่น้ำประมาณเพียงพระศอ ก็กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้นั่นแหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา”



บริเวณภายนอกกำแพงเมืองเวสาลี

พระศาสดาเสด็จถึงเมืองเวสาลี

พระเจ้าพิมพิสารส่งเรือไปแล้วก็เสด็จกลับ พระศาสดาเสด็จไปในแม่น้ำคงคา สิ้นทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง จึงถึงแดนของชาวเมืองเวสาลี เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงต้อนรับพระศาสดา ลุยน้ำประมาณเพียงพระศอ นำเรือเข้ายังฝั่งแล้ว เชิญเสด็จพระศาสดาให้ลงจากเรือ พอเมื่อพระศาสดาเสด็จขึ้นจากเรือเหยียบฝั่งแม่น้ำเท่านั้น มหาเมฆตั้งขึ้น ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกแล้วในที่ทุก ๆ แห่ง น้ำประมาณเพียงเข่า เพียงขา เพียงสะเอวเป็นต้น ไหลบ่าพัดพาเอาซากศพทั้งปวง ให้เข้าไปในแม่น้ำคงคาแล้ว ภูมิภาคได้สะอาดแล้ว เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทูลให้พระศาสดาประทับอยู่ในที่โยชน์หนึ่ง ๆ ถวายมหาทานทำการบูชาให้เป็น ๒ เท่า นำเสด็จไปสู่เมืองเวสาลีโดยเวลา ๓ วัน       

มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืด มีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไป ส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ตั้งขึ้นทั้งสี่ทิศ. ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้นเท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน

พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุก ๆ หนึ่งโยชน์ ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพอันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง             

ท้าวสักกเทวราชอันหมู่เทวดาแวดล้อมได้เสด็จมาแล้ว อมนุษย์ทั้งหลายหนีไปโดยมาก เพราะเทวดาทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกันแล้ว

น้ำมนต์แห่งพระปริตรมีอำนาจมาก

พระศาสดา ประทับยืนที่ประตูพระนครในเวลาเย็น ตรัสเรียกพระอานนท์มา แล้วตรัสว่า

“อานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้แล้วเที่ยวไปกับเจ้าลิจฉวีกุมารทั้งหลาย ทำพระปริตรในระหว่างกำแพง ๓ ชั้นในเมืองเวสาลี”

พระอานนท์เรียนรัตนสูตรที่พระศาสดาประทานแล้ว เอาบาตรสำเร็จด้วยศิลาของพระศาสดาตักน้ำ ยืนอยู่ประตูพระนคร แล้วระลึกถึงพระพุทธคุณของพระตถาคตเหล่านั้นทั้งหมด พระอานนท์ทรงตั้งความเพียรไว้ว่า พระบารมี ๓๐ ถ้วน คือ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓ คือ โลกัตถจริยา ๑ ญาตัตถจริยา ๑ พุทธัตถจริยา ๑ การก้าวลงสู่พระครรภ์ในภพที่สุด การประสูติ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การทรงประพฤติความเพียร การชำนะมาร การแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณเหนือบัลลังก์ไม้โพธิ์ การยังพระธรรมจักรให้เป็นไป และพระโลกุตรธรรม ๙  แล้วเข้าไปยังพระนคร

พระอานนท์เที่ยวทำพระปริตรในระหว่างกำแพงทั้ง ๓ ตลอด ๓ ยามแห่งราตรี เมื่อพระอานนท์นั้นกล่าวคำสักว่า “ยงฺกิญฺจิ” เป็นต้นเท่านั้น น้ำที่สาดขึ้นไปเบื้องบนตกลงบนกระหม่อมของอมนุษย์ทั้งหลาย

จำเดิมแต่การกล่าวคาถาว่า “ยานีธ ภูตานิ” เป็นต้น หยาดน้ำเป็นราวกะว่าเทิดเงินพุ่งขึ้นในอากาศ แล้วตกลง ณ เบื้องบนแห่งมนุษย์ทั้งหลายผู้ป่วย มนุษย์ทั้งหลายหายโรคในทันใดนั่นเอง แล้วลุกขึ้นแวดล้อมพระอานนท์

ก็จำเดิมแต่บทว่า "ยงฺกิญฺจิ " เป็นต้น อันพระอานนท์กล่าวแล้ว อมนุษย์ทั้งหลายถูกเมล็ดน้ำกระทบแล้ว ๆ ยังไม่หนีไปก่อน ที่อาศัยกองหยากเยื่อและส่วนแห่งฝาเรือนเป็นต้น ก็หนีไปแล้วโดยประตูนั้น ๆ ประตูทั้งหลายไม่มีช่องว่างแล้ว อมนุษย์เหล่านั้นเมื่อไม่ได้โอกาส ก็ทำลายกำแพงหนีไป มหาชนประพรมท้องพระโรงในท่ามกลางพระนครด้วยของหอมทั้งปวง ผูกผ้าเพดานอันวิจิตรด้วยดาวทองเป็นต้นในเบื้องบน ตกแต่งพุทธอาสน์ นำเสด็จพระศาสดามาแล้ว

พระศาสดา ประทับนั่งบนอาสนะอันตกแต่งแล้ว ทั้งภิกษุสงฆ์ ทั้งหมู่เจ้าลิจฉวีนั่งแวดล้อมพระศาสดาแล้ว แม้ท้าวสักกเทวราชอันหมู่เทวดาแวดล้อมแล้ว ได้ประทับยืนในโอกาสสมควร ฝ่ายพระอานนท์เที่ยวไปสู่พระนครทั้งสิ้นโดยลำดับแล้ว มากับมหาชนผู้หายโรค ถวายบังคมพระศาสดา นั่งแล้ว พระศาสดาทรงตรวจดูบริษัทแล้ว ได้ทรงภาษิตรัตนสูตร

ในกาลจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พันแล้ว

พระศาสดาทรงแสดงรัตนสูตรนั้นเหมือนกันตลอด ๗ วัน คือ แม้ในวันรุ่งขึ้นก็ทรงแสดงอย่างนั้น ทรงทราบความที่ภัยทั้งปวงสงบแล้ว ตรัสเตือนหมู่เจ้าลิจฉวีแล้ว เสด็จออกจากเมืองเวสาลี เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงทำสักการะทวีคูณ นำเสด็จพระศาสดาไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคาโดย ๓ วัน อีก

 



ต้นโพธิ์บริเวณกำแพงเมืองเวสาลี

พวกพระยานาคทำการบูชาพระศาสดา

พระยานาคทั้งหลายผู้เกิดในแม่น้ำคงคา คิดว่า

“มนุษย์ทั้งหลายย่อมทำสักการะแด่พระตถาคต เราทั้งหลายจะทำอะไรหนอ” 

พระยานาคเหล่านั้นนิรมิตเรือสำเร็จด้วยทองคำ เงิน และแก้วมณี จัดตั้งบัลลังก์สำเร็จด้วยทองคำ เงิน และแก้วมณี ทำน้ำให้ดารดาษด้วยดอกปทุม ๕ สี แล้วทูลอ้อนวอนพระศาสดาเพื่อประโยชน์ เสด็จขึ้นเรือของตน ๆ ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงทำการอนุเคราะห์แม้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด”

มนุษย์และนาคทั้งหลายย่อมทำการบูชาพระตถาคต

เทวดาทั้งปวง ตั้งต้นแต่เทวดาผู้สถิต ณ ภาคพื้น ตลอดถึงพรหมโลกชั้นอกนิฏฐ์ คิดว่า

“พวกเราจะทำอะไรหนอ แล้วทำสักการะ”

บรรดามนุษย์และอมนุษย์เหล่านั้น นาคทั้งหลายยกฉัตรซ้อน ๆ กันขึ้นประมาณโยชน์หนึ่ง ฉัตรที่ซ้อน ๆ กัน อันมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย คือ นาคภายใต้มนุษย์ที่พื้นดิน ภุมมัฏฐกเทวดาที่ต้นไม้ กอไม้ และภูเขา เป็นต้น อากาสัฏฐกเทวดาในกลางหาว ต่างก็ยกขึ้นแล้ว ตั้งต้นแต่นาคภพตลอดถึงพรหมโลก โดยรอบจักรวาล ด้วยประการฉะนี้ ในระหว่างฉัตรมีธงชัย ในระหว่างธงชัยมีธงแผ่นผ้า ในระหว่าง ๆ แห่งธงเหล่านั้น ได้มีเครื่องสักการะมีพวงดอกไม้ จุณเครื่องอบ และกระแจะเป็นต้น

เทพบุตรทั้งหลายประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ถือเพศแห่งคน เล่นมหรสพ ป่าวร้องเที่ยวไปในอากาศ ได้ยินว่า สมาคม ๓ แห่งเท่านั้น คือ สมาคมในเวลาแสดงยมกปาฏิหาริย์ ๑ สมาคมในเวลาเสด็จลงจากเทวโลก ๑ สมาคมในเวลาลงสู่คงคานี้ ๑  ได้เป็นสมาคมใหญ่

พระเจ้าพิมพิสารให้เตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าอีก

ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ทรงตระเตรียมสักการะทวีคูณ จากสักการะอันพวกเจ้าลิจฉวีทำ ได้ทรงยืนแลดูการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ที่ฝั่งโน้น พระศาสดาทอดพระเนตรการบริจาคใหญ่ ของพระราชาทั้งหลายใน ๒ ฝั่งแห่งแม่น้ำคงคา และทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายมีนาคเป็นต้น แล้วทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตพระองค์หนึ่ง ๆ มีภิกษุองค์ละ ๕๐๐ เป็นบริวารไว้ที่เรือลำหนึ่ง ๆ

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันหมู่นาคแวดล้อมแล้ว ได้ประทับนั่ง ณ ภายใต้แห่งเศวตฉัตรคันหนึ่ง ๆ และต้นกัลปพฤกษ์และพวงระเบียบดอกไม้ ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตพระองค์หนึ่ง ๆ พร้อมทั้งบริวารในโอกาสแห่งหนึ่ง ๆ แม้ในเทวดาทั้งหลายมีเทวดาชั้นภุมมัฏฐกะเป็นต้น

เมื่อห้องจักรวาลทั้งสิ้นเกิดเป็นประหนึ่งว่ามีมหรสพอันเดียวและมีการเล่นอันเดียวด้วยประการฉะนี้แล้ว

พระศาสดาเมื่อจะทรงทำการอนุเคราะห์แก่นาคทั้งหลาย ได้เสด็จขึ้นสู่เรือแก้วลำหนึ่ง แม้บรรดาภิกษุทั้งหลายรูปหนึ่ง ๆ ก็ขึ้นสู่เรือลำหนึ่ง ๆ เหมือนกัน พระยานาคทั้งหลาย นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้เข้าไปสู่นาคภพ ฟังธรรมกถาในสำนักของพระศาสดาตลอดคืนยังรุ่ง

ในวันที่ ๒ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยของควรเคี้ยว ด้วยของควรบริโภคอันเป็นทิพย์ พระศาสดาทรงทำอนุโมทนาแล้วออกจากนาคภพ   อันเทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นบูชาอยู่ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาด้วยเรือ ๕๐๐ ลำแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารทรงต้อนรับ อัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จลงจากเรือ ทรงทำสักการะทวีคูณ จากสักการะอันเจ้าลิจฉวีทั้งหลายทำในเวลาเสด็จมา นำพระศาสดามาสู่กรุงราชคฤห์โดย ๕ วัน โดยนัยก่อนนั่นแล

พวกภิกษุชมพุทธานุภาพ

หลังจากองค์พระสัมมาสัมพุทโธเสด็จกลับมายังที่ประทับในกรุงราชคฤห์แล้ว ในวันที่ ๒ พวกภิกษุกลับจากบิณฑบาตแล้ว ในเวลาเย็นนั่งประชุมกันในโรงธรรม สนทนากันว่า

“น่าชมในอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าประหลาดใจที่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสในพระศาสดา พระราชาทั้งหลายทรงทำพื้นที่ให้สม่ำเสมอในหนทาง ๘ โยชน์ ทั้งฝั่งนี้ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา เกลี่ยทรายลงลาดดอกไม้มีสีต่าง ๆ โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่า ด้วยความเลื่อมใสอันเป็นไปแล้วในพระพุทธเจ้า น้ำในแม่น้ำคงคาก็ดาดาษด้วยดอกปทุม ๕ สี ด้วยอานุภาพนาค เทวดาทั้งหลายก็ยกฉัตรซ้อน ๆ กันขึ้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ ห้องจักรวาลทั้งสิ้น เกิดเป็นเพียงดังว่ามีเครื่องประดับเป็นอันเดียวและมีมหรสพเป็นอันเดียว”

พระศาสดาเสด็จมา แล้วตรัสถามว่า

“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ”

 เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลเล่าแล้วพระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เครื่องบูชาและสักการะนี้ มิได้บังเกิดขึ้นแก่เราด้วยพุทธานุภาพ มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพนาค เทวดา และพรหม แต่ว่าเกิดด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อยในอดีต

ภิกษุทั้งหลายในกาลก่อนนั้นเราได้เป็นสังขพราหมณ์

เราได้ถอนหญ้าในลานพระเจดีย์ ของพระปัจเจกพุทธะชื่อสุสิมะ ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงทำหนทาง ๘ โยชน์ ให้ปราศจากตอและหนาม ทำให้สะอาด มีพื้นสม่ำเสมอ

เราได้เกลี่ยทรายลงในลานพระเจดีย์นั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงเกลี่ยทรายลงในหนทาง ๘ โยชน์แล้ว

เราทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่าที่พระสถูปนั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงโปรยดอกไม้สีต่าง ๆ ลงในหนทาง ๘ โยชน์ น้ำในคงคาในที่ประมาณโยชน์หนึ่งจึงดาดาษไปด้วยดอกปทุม ๕ สี

เราได้ประพรมพื้นที่ในลานพระเจดีย์นั้นด้วยน้ำในลักจั่น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงในเมืองเวสาลี

เราได้ยกธงแผ่นผ้าขึ้นและผูกฉัตรไว้บนพระเจดีย์นั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ห้องจักรวาลทั้งสิ้นจึงเป็นราวกะว่ามีมหรสพเป็นอันเดียวกันด้วยธงชัย ธงแผ่นผ้า และฉัตรซ้อน ๆ กันเป็นต้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุดังนี้แล บูชาสักการะนั่นเกิดในแก่เรา ด้วยพุทธานุภาพก็หาไม่ เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งนาค เทวดา และพรหมก็หาไม่ แต่ว่าเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อยในอดีตกาล"


ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณเสีย ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ก็พึงสละสุขพอประมาณเสีย จึงจะได้พบสุขอันไพบูลย์

 

 

อ้างอิง :  อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรควรรณนา เรื่อง บุรพกรรมของพระองค์