2-03 อนาถบิณฑิกคหบดีถวายพระเชตวัน



พระคันธกุฏี เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี

ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีซื้อสวนเจ้าเชตราชกุมารด้วยเงิน ๑๘ โกฏิ ครั้นแล้ว ให้สร้างวิหารอันเป็นที่รื่นรมย์ใจในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ด้วยการบริจาคเงินอีก ๑๘ โกฏิ  คือ ให้สร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระศาสดาในท่ามกลาง ให้สร้างเสนาสนะที่เหลือ เช่น กุฎีเดี่ยว กุฎีคู่ กุฎีทรงกลม ศาลาหลังยาว ศาลาสั้น และปะรำ เป็นต้น และสระโบกขรณี ที่จงกรม ที่พักกลางคืน และที่พักกลางวันในอาวาสอันเป็นที่อยู่แห่งหนึ่ง โดยแยกเป็นส่วนบุคคลสำหรับพระมหาเถระ  ๘๐  รูป รายล้อมพระคันธกุฎีนั้น เสร็จแล้ว ส่งทูตไปนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จมา

พระศาสดาทรงสดับคำของทูตนั้นแล้ว มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เสด็จถึงนครสาวัตถีโดยลำดับ

ฝ่ายท่านคหบดีก็ตระเตรียมการฉลองพระวิหารในวันที่พระตถาคตเสด็จเข้าพระเชตวัน ได้แต่งตัวบุตรด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วส่งไปพร้อมกับกุมาร ๕๐๐ คน ผู้ตกแต่งประดับประดาแล้วเหมือนกัน บุตรของคหบดีนั้นพร้อมด้วยบริวาร ถือธง ๕๐๐ คัน อันเรืองรองด้วยผ้า ๕ สี อยู่ข้างหน้าของพระทศพล ธิดาของคหบดี ๒ คน คือ นางมหาสุภัททา และนางจูฬสุภัททา พร้อมกับกุมาริกา ๕๐๐ นาง ถือหม้อมีน้ำเต็ม เดินไปข้างหลังของกุมารเหล่านั้น ภริยาของคหบดีประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง พร้อมกับมาตุคาม ๕๐๐ นาง ถือถาดมีของเต็ม ออกเดินไปข้างหลังของกุมาริกาเหล่านั้น ท่านมหาคหบดีนุ่งห่มผ้าใหม่ พร้อมกับคหบดี  ๕๐๐ คน ผู้นุ่งห่มด้วยผ้าใหม่เหมือนกัน มุ่งไปเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าเบื้องหลังของคนทั้งหมด

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอุบาสกบริษัทนี้ไว้เบื้องหน้า อันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงกระทำระหว่างป่าให้เป็นดุจราดรดด้วยการราดด้วยน้ำทองด้วยพระรัศมีจากพระสรีระของพระองค์ จึงเสด็จเข้าพระเชตวันวิหารด้วยพุทธลีลาอันหาที่สุดมิได้  ด้วยพุทธสิริอันหาประมาณมิได้

ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะจัดการดูแลปฏิบัติในวิหารนี้อย่างไร”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรคหบดี ถ้าอย่างนั้นท่านจงให้ประดิษฐานวิหารนี้เพื่อภิกษุสงฆ์ผู้อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา”   

ท่านคหบดีรับพระพุทธฎีกาว่า

“ดีแล้วพระเจ้าข้า”  

แล้วถือเต้าน้ำทองคำหลั่งน้ำให้ตกลงเหนือพระหัตถ์ของพระทศพล แล้วได้ถวายด้วยคำว่า

“ข้าพระองค์ขอถวายพระเชตวันวิหารนี้แก่ภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ในทิศทั้ง ๔ ผู้มาแล้ว และที่ยังไม่ได้มา มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”

พระศาสดาทรงรับพระวิหารแล้ว เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา ได้ตรัสอานิสงส์การถวายวิหารว่า

“เสนาสนะย่อมป้องกันความหนาวและความร้อน แต่นั้น ย่อมป้องกันเนื้อร้าย งู ยุง น้ำค้าง และฝน แต่นั้น ย่อมป้องกันลมและแดดอันกล้าที่เกิดขึ้นแล้วย่อมบรรเทาไป การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณา และเพื่อเห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ

เพราะเหตุนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ ถวายให้เป็นที่อยู่ในภิกษุผู้เป็นพหูสูตเถิด

อนึ่ง พึงถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะแก่ท่านเหล่านั้นด้วยใจอันเลื่อมใสในท่านผู้ปฏิบัติตรง เขาผู้ถวายวิหารรู้ธรรมใดในโลกนี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพาน ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมนั้น อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา”

จำเดิมแต่วันที่สองไป ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเริ่มการฉลองวิหาร การฉลองวิหารของนางวิสาขา ๔ เดือนเสร็จ ส่วนการฉลองวิหารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๙ เดือนเสร็จ แม้ในการฉลองวิหารก็สิ้นทรัพย์ไปถึง ๑๘ โกฏิ ทีเดียว เฉพาะวิหารอย่างเดียวเท่านั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์นับได้ ๕๔ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้

ก็ในพระวิหารเชตวันนี้นั่นแล พระตถาคตทรงสถาปนาพระมหาสาวกไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า พระสารีบุตรเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้มีปัญญามาก พระมหาโมคคัลลานะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์มาก

 

 

อ้างอิง : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๒๗๐-๒๗๑ หน้า ๗๘-๗๙ และอรรถกถา พุทธาปทาน และ เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค