3-03 ปัญหาของท้าวสักกะ : ท้าวสักกะบรรลุโสดาบันพร้อมเทวดาแปดหมื่น



ทิวทัศน์จากถ้ำอินทสาละ

ท้าวสักกะได้ทูลต่อพระพุทธองค์ว่า

 “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น หากพระองค์ทรงกระทำโอกาสแล้ว จะขอทูลถามปัญหา”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคิดว่า

“ท้าวสักกะนี้เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน จักตรัสถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งกะเรา ท้าวเธอจักถามปัญหานั้นทุกข้อ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่ถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อนึ่ง เราอันท้าวเธอตรัสถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความใด ท้าวเธอจักทรงทราบข้อความนั้นได้พลันทีเดียว”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพด้วยพระคาถาว่า

“ดูกรท้าววาสพ พระองค์ปรารถนาไว้ในพระทัยเพื่อจะตรัสถามปัญหาข้อไร ก็จงตรัสถามปัญหาข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด  อาตมภาพจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้น ๆ แก่พระองค์

ท้าวสักกะจอมเทพอันพระผู้มีพระภาคทรงให้โอกาสแล้ว ได้ทูลถามปัญหาข้อแรกกะพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
พวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์
มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันใจไว้

อนึ่ง ชนเป็นอันมากเหล่าอื่นนั้น เป็นผู้ไม่มีเวร
ไม่มีอาชญา ไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท
ย่อมปรารถนาว่า

'ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่เถิด'

พวกเขามีความปรารถนาอยู่ดังนี้
ก็ไฉน... เขายังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู
มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่”

พระผู้มีพระภาคอันท้าวสักกะจอมเทพทูลถามปัญหาแล้ว ทรงพยากรณ์ว่า 

“ดูกรจอมเทพ
พวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์
มีความริษยาและความตระหนี่...
เป็นเครื่องผูกพันใจไว้

อนึ่ง ชนเป็นอันมากเหล่าอื่นนั้น เป็นผู้ไม่มีเวร
ไม่มีอาชญา ไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท
ย่อมปรารถนาว่า...

'ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่เถิด'...
ก็แหละพวกเขามีความปรารถนาอยู่ดังนี้
ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา
มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่”

ท้าวสักกะจอมเทพทรงดีพระทัย ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ในข้อนี้ ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่าอย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคในปัญหาพยากรณ์ข้อแรกดังนี้แล้ว จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นไปว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
...ก็ความริษยาและความตระหนี่
มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด...

เมื่ออะไรมี
ความริษยาและความตระหนี่...จึงมี

เมื่ออะไรไม่มี
ความริษยาและความตระหนี่...จึงไม่มี”

“ดูกรจอมเทพ
ความริษยาและความตระหนี่
มีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก
เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด...

เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก
และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...มีอยู่
ความริษยาและความตระหนี่...จึงมี

เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รัก
และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...ไม่มี
ความริษยาและความตระหนี่...จึงไม่มี”

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
อารมณ์อันเป็นที่รัก
และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...
มีอะไรเป็นเหตุ  มีอะไรเป็นสมุทัย  
มีอะไรเป็นกำเนิด  มีอะไรเป็นแดนเกิด...

เมื่ออะไรมี
อารมณ์อันเป็นที่รัก
และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...จึงมี

เมื่ออะไรไม่มี
อารมณ์อันเป็นที่รัก
และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...จึงไม่มี"

“ดูกรจอมเทพ
อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...
มีความพอใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย
เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด...

เมื่อความพอใจ ...มี
อารมณ์อันเป็นที่รัก
และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...จึงมี

เมื่อความพอใจ ...ไม่มี
อารมณ์อันเป็นที่รัก
และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก...จึงไม่มี”

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
...ความพอใจ
มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด...

เมื่ออะไรมี... ความพอใจ...จึงมี
เมื่ออะไรไม่มี... ความพอใจ...จึงไม่มี”

“ดูกรจอมเทพ
ความพอใจ
...มีความตรึก
เป็นเหตุ เป็นสมุทัย
เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด

เมื่อความตรึก ...มี
ความพอใจ ...จึงมี
เมื่อความตรึก ...ไม่มี
ความพอใจ ...จึงไม่มี

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
...ความตรึก

มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย
มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด...

เมื่ออะไรมี... ความตรึก...จึงมี
เมื่ออะไรไม่มี... ความตรึก...จึงไม่มี”

“ดูกรจอมเทพ
ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญา
อันประกอบด้วยปปัญจธรรม
เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด...

เมื่อส่วนแห่งสัญญา
อันประกอบด้วยปปัญจธรรม ...มี

ความตรึก ...จึงมี

เมื่อส่วนแห่งสัญญา
อันประกอบด้วยปปัญจธรรม ...ไม่มี

ความตรึก  ...จึงไม่มี

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร
จึงจะชื่อว่า ...ดำเนินปฏิปทาอันสมควร
ที่จะให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญา
อันประกอบด้วยปปัญจธรรม”

“ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าว
โสมนัส โดยแยกเป็น ๒ คือ
ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี...

โทมนัส ก็แยกเป็น ๒ คือ
ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี...

และ อุเบกขา ก็แยกเป็น ๒ คือ
ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี... 

ในโสมนัส ทั้ง ๒ นั้น
บุคคลพึงทราบโสมนัสอันใดว่า...

เมื่อเราเสพ โสมนัส นี้...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
โสมนัสเห็นปานนี้...ไม่ควรเสพ

เมื่อเราเสพโสมนัส นี้...
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
โสมนัสเห็นปานนั้น...ควรเสพ

ในโสมนัสทั้ง ๒ นั้น
ถ้าโสมนัสอันใดมีวิตก มีวิจาร
อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร...
ใน ๒ อย่างนั้น
โสมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า 

ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพกล่าวโสมนัสโดยแยกเป็น ๒
คือ ที่ควรเสพก็มี... ที่ไม่ควรเสพก็มี... ฉะนี้แล
ที่กล่าวถึงโสมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

ในโทมนัส ทั้ง ๒ นั้น
บุคคลพึงทราบโทมนัสอันใดว่า...

เมื่อเราเสพ โทมนัส นี้...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
โทมนัสเห็นปานนี้...ไม่ควรเสพ

เมื่อเราเสพโทมนัส นี้...
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
โทมนัสเห็นปานนั้น...ควรเสพ

ในโทมนัสทั้ง ๒ นั้น
ถ้าโทมนัสอันใดมีวิตก มีวิจาร
อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร...
ใน ๒ อย่างนั้น
โทมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า 

ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพกล่าวโทมนัสโดยแยกเป็น ๒
คือ ที่ควรเสพก็มี... ที่ไม่ควรเสพก็มี... ฉะนี้แล
ที่กล่าวถึงโทมนัสดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

ใน อุเบกขา ทั้ง ๒ นั้น
บุคคลพึงทราบโทมนัสอันใดว่า...
เมื่อเราเสพ อุเบกขา นี้...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
อุเบกขาเห็นปานนี้... ไม่ควรเสพ
เมื่อเราเสพโทมนัส นี้...
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
อุเบกขาเห็นปานนั้น... ควรเสพ

ใน อุเบกขา ทั้ง ๒ นั้น
ถ้าอุเบกขาอันใดมีวิตก มีวิจาร
อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร...
ใน ๒ อย่างนั้น
อุเบกขาที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า 

ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพกล่าว อุเบกขา โดยแยกเป็น ๒
คือ ที่ควรเสพก็มี... ที่ไม่ควรเสพก็มี... ฉะนี้แล
ที่กล่าวถึงอุเบกขาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่า
ดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึง
ความดับแห่งส่วนสัญญา
อันประกอบด้วยปปัญจธรรม”

พระผู้มีพระภาคอันท้าวสักกะจอมเทพทูลถามปัญหาแล้ว ทรงพยากรณ์ด้วยประการฉะนี้  ท้าวสักกะจอมเทพทรงดีพระทัย ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น

ในข้อนี้ ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่าอย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว  จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นไปว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร... จึงจะชื่อว่า
ปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมในปาติโมกข์”

“ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพกล่าว กายสมาจาร วจีสมาจาร
และการแสวงหา... โดยแยกเป็น ๒ คือ
ที่ควรเสพก็มี... ที่ไม่ควรเสพก็มี...

ดูกรจอมเทพ
ในกายสมาจาร วจีสมาจาร ทั้ง ๒ นั้น
บุคคลพึงทราบกายสมาจาร วจีสมาจารอันใดว่า...
เมื่อเราเสพกายสมาจาร วจีสมาจาร นี้...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
กายสมาจาร วจีสมาจารเห็นปานนี้... ไม่ควรเสพ

เมื่อเราเสพกายสมาจาร วจีสมาจาร นี้...
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
กายสมาจาร วจีสมาจาร เห็นปานนี้... ควรเสพ

ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพกล่าวกายสมาจาร วจีสมาจาร
โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี...
ที่ไม่ควรเสพก็มี... ฉะนี้แล
ที่กล่าวถึงกายสมาจาร วจีสมาจาร ดังนี้
กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้

ดูกรจอมเทพ
ใน การแสวงหา ทั้ง ๒ นั้น
บุคคลพึงทราบการแสวงหาอันใดว่า...

เมื่อเราเสพการแสวงหานี้...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
การแสวงหาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

เมื่อเราเสพการแสวงหานี้...
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น ...
การแสวงหาเห็นปานนี้...ควรเสพ

ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพกล่าวการแสวงหาโดยแยกเป็น ๒
คือ ที่ควรเสพก็มี... ที่ไม่ควรเสพก็มี... ฉะนี้แล

ที่กล่าวถึงการแสวงหาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้  

ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล  
จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อสำรวมในปาติโมกข์

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร... จึงจะชื่อว่า
ปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมอินทรีย์”

“ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพกล่าว รูป ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา...
กล่าว เสียง ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู...
กล่าว กลิ่น ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก...
กล่าว รส ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น...
กล่าว โผฏฐัพพะ ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย...
กล่าว ธรรม ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ...
โดยแยกเป็น ๒ คือ...
ที่ควรเสพก็มี... ที่ไม่ควรเสพก็มี...”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบเนื้อความแห่งภาษิตที่ตรัสโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า

เมื่อบุคคลเสพ รูป
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตาเห็นปานใด...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
รูปเห็นปานนี้...ไม่ควรเสพ
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
รูปเห็นปานนี้... ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพ เสียง
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหูเห็นปานใด...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
เสียงเห็นปานนี้...ไม่ควรเสพ
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
เสียงเห็นปานนี้... ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพ กลิ่น
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูกเห็นปานใด...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
กลิ่นเห็นปานนี้... ไม่ควรเสพ
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น
กลิ่นเห็นปานนี้... ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพ รส
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้นเห็นปานใด...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
รสเห็นปานนี้... ไม่ควรเสพ
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
รสเห็นปานนี้... ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพ โผฏฐัพพะ
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกายเห็นปานใด...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
โผฏฐัพพะเห็นปานนี้... ไม่ควรเสพ
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
โผฏฐัพพะเห็นปานนี้... ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพ ธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจเห็นปานใด...
อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม...
ธรรมเห็นปานนี้... ไม่ควรเสพ
อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น...
ธรรมเห็นปานนี้... ควรเสพ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งภาษิตที่ตรัสโดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้

ในข้อนี้ ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่าอย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นไปว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์ทั้งหมด
มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน  
มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน
มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน
มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกันหรือหนอ”

“ดูกรจอมเทพ
สมณพราหมณ์ทั้งหมด
มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน
มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน
มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน
มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกันหามิได้...

เพราะเหตุไร
เพราะโลกมีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกัน...
ในโลกที่มีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกันนั้น
สัตว์ทั้งหลายยึดธาตุใด ๆ อยู่...
ย่อมยึดมั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรง
และความยึดถือ กล่าวว่า...

'สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า'

เพราะเหตุนั้น...
สมณพราหมณ์ทั้งหมด
จึงไม่มีวาทะเป็นอย่างเดียวกัน
ไม่มีศีลเป็นอย่างเดียวกัน
ไม่มีฉันทะเป็นอย่างเดียวกัน
ไม่มีความปรารถนาเป็นอย่างเดียวกัน”

“ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความสำเร็จล่วงส่วน
มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน
มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนหรือหนอ”

“ดูกรจอมเทพ
สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความสำเร็จล่วงส่วน
มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน
มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนหามิได้...

ก็เพราะเหตุไร
สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มีความสำเร็จล่วงส่วน
ไม่มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน
ไม่มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน ไม่มีที่สุดล่วงส่วน

ภิกษุเหล่าใด...
น้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา...
ภิกษุเหล่านั้นมีความสำเร็จล่วงส่วน
มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน
มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน

เพราะเหตุนั้น...
สมณพราหมณ์ทั้งหมด
จึงไม่มีความสำเร็จล่วงส่วน
ไม่มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน
ไม่มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน ไม่มีที่สุดล่วงส่วน”

ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ตัณหาเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร...
ย่อมฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดในภพนั้น ๆ
เพราะฉะนั้น...
บุรุษนี้ย่อมถึงอาการขึ้น ๆ ลง ๆ

ปัญหาเหล่าใดที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้ซึ่งการกระทำโอกาสในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระธรรมวินัยนี้ ปัญหาเหล่านั้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นกาลไกล โปรดพยากรณ์แก่ข้าพระองค์แล้ว และลูกศรคือความสงสัยเคลือบแคลงของข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงถอนขึ้นแล้ว”

“ดูกรจอมเทพ พระองค์ยังทรงจำได้หรือว่า เคยตรัสถามปัญหาเหล่านี้กะสมณพราหมณ์เหล่าอื่น”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังจำได้ว่าเคยถามปัญหาเหล่านี้กะสมณพราหมณ์เหล่าอื่น”

“ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นพยากรณ์อย่างไร ถ้าพระองค์ไม่หนักพระทัยขอให้ตรัสบอกเถิด”

“ข้าพระองค์ไม่มีความหนักใจในสถานที่พระองค์ และท่านที่เป็นอย่างพระองค์ประทับนั่งอยู่แล้ว”

“ถ้าเช่นนั้น จงตรัสบอกเถิด”

“ข้าพระองค์เข้าใจสมณพราหมณ์เหล่าใดว่าเป็นสมณพราหมณ์ผู้อยู่ป่ามีเสนาสนะอันสงัดแล้ว ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถามปัญหาเหล่านี้

ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามปัญหาแล้ว ย่อมไม่สบายใจ เมื่อไม่สบายใจ กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า 'ท่านชื่ออะไร ' ข้าพระองค์ถูกท่านเหล่านั้นถามแล้วจึงตอบว่า 'ข้าพเจ้าคือท้าวสักกะจอมเทพ'

ท่านเหล่านั้นยังสอบถามข้าพระองค์ต่อไปว่า 'ท่านกระทำกรรมอะไรจึงลุถึงฐานะอันนี้'

ข้าพระองค์จึงได้แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เรียนมาแก่ท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นดีใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า

'พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวเธอได้ตอบปัญหาที่พวกเราได้ถามแล้วเป็นของแน่นอน'

ท่านเหล่านั้นกลับเป็นผู้รับฟังข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์หาได้เป็นผู้รับฟังท่านเหล่านั้นไม่ ก็ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์ชั้นโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

ความยินดี ความโสมนัสของท้าวสักกะ

พระองค์ยังทรงจำถึงการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสเห็นปานนี้ ก่อนแต่นี้ได้หรือ ข้าพระองค์ยังจำได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว
สงครามระหว่างเทวดาและอสูรได้ประชิดกันแล้ว
ก็ในสงครามคราวนั้น พวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้

เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามนั้นแล้ว ได้มีความดำริอย่างนี้ว่า บัดนี้ พวกเทวดาในเทวโลกนี้จักบริโภคโอชาทั้งสอง คือ ทิพย์โอชา และอสุรโอชา

การได้รับความยินดี ความโสมนัสของข้าพระองค์ประกอบไปด้วยทางมาแห่งอาชญา แห่งศาตรา ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน

ส่วนการได้รับความยินดี ความโสมนัสของข้าพระองค์เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งอาชญา แห่งศาตรา ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน”

“ดูกรจอมเทพ ก็พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไรเล่า จึงทรงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสเห็นปานนี้”

อำนาจประโยชน์ของการได้ฟังธรรม

“ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสเห็นปานนี้ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์อย่างนี้ว่า

๑.  เมื่อเราเกิดเป็นเทวดาดำรงอยู่ในภพดาวดึงส์นี้ เรากลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก

๒.  เราจุติจากทิพยกายแล้ว ละอายุอันมิใช่ของมนุษย์แล้ว เป็นผู้ไม่หลง จักเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลอันเป็นที่พอใจของเราดังนี้

๓.  เรานั้นยินดีแล้วในศาสนาของท่าน ที่มิได้หลงปัญหา เรามีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง จักอยู่โดยธรรมดังนี้

๔.  ถ้าความตรัสรู้จักมีแก่เราในภายหน้าโดยธรรมไซร้ เราจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงอยู่ นั่นแหละจักเป็นที่สุดของเราดังนี้

๕.  หากเราจุติจากกายมนุษย์แล้ว ละอายุอันเป็นของมนุษย์แล้ว จักกลับเป็นเทวดาอีก จักเป็นผู้สูงสุดในเทวโลกดังนี้

๖.  พวกเทวดาชั้นอกนิฏฐาเหล่านั้นเป็นผู้ประณีตกว่า มียศ เมื่อภพที่สุดเป็นไปอยู่ นิวาสนั้นจักเป็นของเราดังนี้ 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์หกประการนี้แล
จึงประกาศการได้รับความยินดี
การได้รับความโสมนัสเห็นปานนี้ 

ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด
ยังมีความสงสัยเคลือบแคลง
เที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคตอยู่ตลอดกาลนาน

ข้าพระองค์สำคัญสมณะเหล่าใดซึ่งเป็นผู้มีปรกติอยู่เงียบสงัด เข้าใจว่าเป็นพระสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปหาสมณะเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามว่า ความพอใจเป็นอย่างไร ความไม่พอใจเป็นอย่างไร ก็หาชี้แจงในมรรคและข้อปฏิบัติไม่

ในเวลาที่ท่านเหล่านั้นรู้ข้าพระองค์ว่าเป็นสักกะมาจากเทวโลก จึงถามข้าพระองค์ทีเดียวว่า ท่านทำอะไรจึงได้ลุถึงฐานะนี้

ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมตามที่ฟังมาแก่ท่านเหล่านั้นให้ปรากฏในหมู่ชน ท่านเหล่านั้นมีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว

ในเวลาใด ข้าพระองค์ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามความสงสัยได้แล้วในเวลานั้น ข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากความกลัว

วันนี้ ข้าพระองค์ได้เข้ามานั่งใกล้พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดเสียได้ซึ่งลูกศรคือตัณหา ซึ่งหาบุคคลเปรียบมิได้เป็น มหาวีระ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบน้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป...
ข้าพระองค์ขอถวายความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์
ข้าพระองค์ขอทำความนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยตนเอง พระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้พระนิพพาน พระองค์เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยมในโลกกับทั้งเทวโลก จะหาบุคคลเปรียบพระองค์มิได้”

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ตรัสเรียกปัญจสิขคันธรรพบุตรมา แล้วตรัสว่า

“พ่อปัญจสิขะ พ่อเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก ด้วยเหตุที่พ่อให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยก่อน พ่อให้พระองค์ทรงพอพระหฤทัยก่อนแล้วภายหลังพวกเราจึงได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เราจักตั้งพ่อไว้ในตำแหน่งแทนบิดา พ่อจักเป็นราชาแห่งคนธรรพ์ และเราจะให้นางภัททาสุริยวัจฉสาแก่พ่อ เพราะว่านางนั้น พ่อปรารถนายิ่งนัก"

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเอาพระหัตถ์ตบปฐพี แล้วทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า

“ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และบังเกิดขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นพวกอื่น

ปัญหาที่เชื้อเชิญให้ถามที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้วด้วยประการดังนี้ เพราะฉะนั้น คำว่าสักกปัญหา จึงเป็นชื่อของไวยากรณ์ภาษิตนี้ ฉะนี้แล

 

 

อ้างอิง : สักกปัญหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๕๓-๒๗๒ หน้า ๒๐๕-๒๑๕