10-01 ช้างใหญ่ปาริไลยกะอุปฐากพระผู้มีพระภาค



บริเวณกำแพงเมืองโกสัมพี

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในที่สงัดทรงหลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งพระทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า

“เมื่อก่อนเราวุ่นด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ก่อความบาดหมาง ก่อการทะเลาะ ก่อการวิวาท ทำความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์ในสงฆ์เหล่านั้น อยู่ไม่สำราญเลย

เดี๋ยวนี้ เราว่างเว้นจากภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเหล่านั้น อยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน เป็นสุขสำราญดี”

แม้ช้างใหญ่เชือกหนึ่งก็ยุ่งอยู่กับช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ได้กินแต่หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่พระยาช้างนั้นหักลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อพระยาช้างนั้นลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป ต่อมาพระยาช้างนั้น ได้มีความปริวิตก ดังนี้ว่า

“เรายุ่งอยู่ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ได้กินแต่หญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้ ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราลงและขึ้นจากท่า ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป ไฉนหนอ เราพึงหลีกออกจากโขลงอยู่แต่ผู้เดียว”

ครั้งนั้นแล พระยาช้างนั้น หลีกออกจากโขลงเข้าไป ณ บ้านปาริเลยยกะ ราวป่ารักขิตวัน ควงไม้สาละใหญ่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่แล้ว ก็แลครั้นเข้าไปแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แลดูอยู่ไม่เห็นวัตถุอะไร ๆ อื่น จึงกระทืบควงไม้สาละใหญ่ด้วยเท้า ถากให้เรียบ ถือกิ่งไม้ด้วยงวงกวาดทำความสะอาด

ตั้งแต่นั้นมา พระยาช้างนั้นจับหม้อด้วยงวง ตักน้ำฉัน น้ำใช้มาตั้งไว้ เมื่อพระศาสดาทรงประสงค์น้ำร้อน ก็จัดน้ำร้อนถวาย พระยาช้างนั้นสีไม้แห้งด้วยงวง ให้ไฟเกิด ใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น เผาศิลาในกองไฟนั้นแล้ว กลิ้งก้อนศิลาเหล่านั้นไปด้วยท่อนไม้ ทิ้งลงในแอ่งน้ำน้อยที่ตัวกำหนดหมายไว้ ลำดับนั้น หย่อนงวงลงไป รู้ว่าน้ำร้อนแล้ว จึงไปถวายบังคมพระศาสดา

พระศาสดาตรัสว่า

“ปาริเลยยกะ น้ำเจ้าต้มแล้วหรือ”

ดังนี้แล้ว เสด็จไปสรงในที่นั้น

ในกาลนั้น พระยาช้างนั้นนำผลไม้บางอย่างมาถวายแด่พระศาสดา ก็เมื่อพระศาสดาจะเสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต พระยาช้างนั้นถือบาตรจีวร วางไว้บนตระพอง ตามเสด็จพระศาสดาไป

พระศาสดาเสด็จถึงแดนบ้านแล้วรับสั่งว่า

“ปาริเลยยกะ ตั้งแต่ที่นี้ เจ้าไม่อาจไปได้ เจ้าจงเอาบาตรจีวรของเรามา”

ดังนี้แล้ว ให้พระยาช้างนั้นเอาบาตรจีวรมาถวายแล้ว เสด็จเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต ส่วนพระยาช้างนั้นยืนอยู่ที่นั้นเองจนกว่าพระศาสดาจะเสด็จออกมา

ในเวลาพระศาสดาเสด็จมา ทำการต้อนรับแล้ว ถือบาตรจีวร นำไปวางลง ณ ที่ประทับ ถวายงานพัดด้วยกิ่งไม้ ทำกิจทั้งปวง ในราตรี พระยาช้างนั้นถือท่อนไม้ใหญ่ด้วยงวง เที่ยวไปในราวป่ากว่าจนอรุณขึ้น เพื่อกันอันตรายจากสัตว์ร้าย ด้วยตั้งใจว่า จักรักษาพระศาสดา

ได้ยินว่า ราวป่านั้นชื่อว่า รักขิตวันสัณฑะ ตั้งแต่นั้นมา

ครั้นอรุณขึ้นแล้ว พระยาช้างนั้นทำวัตรทั้งปวง ตั้งแต่การถวายน้ำสรงพระพักตร์

วานรถวายรวงน้ำผึ้ง

ในกาลนั้น วานรตัวหนึ่งเห็นช้างนั้นลุกขึ้นแล้ว ๆ ทำอภิสมาจาริกวัตรแด่พระตถาคตเจ้าแล้ว คิดว่า

“เราก็จักทำอะไร ๆ ถวายบ้าง”

จึงเที่ยวไปอยู่ วันหนึ่ง เห็นรวงผึ้งที่ไม่มีตัวผึ้งที่กิ่งไม้หนึ่ง หักกิ่งไม้แล้ว นำรวงผึ้งพร้อมทั้งกิ่งไม้ไปสู่สำนักพระศาสดา ได้เด็ดใบตองรองถวาย พระศาสดาทรงรับแล้ว วานรแลดูอยู่ ด้วยคิดว่า

“พระศาสดาจักทรงบริโภคหรือไม่”

เห็นพระศาสดาทรงรับแล้ว นั่งเฉยอยู่ คิดว่า

“อะไรหนอแล”

จึงจับปลายกิ่งไม้พลิกพิจารณาดู เห็นตัวอ่อนแล้ว จึงค่อย ๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออกเสีย แล้วจึงได้ถวายใหม่

พระศาสดาทรงบริโภคแล้ว วานรนั้นมีใจยินดี ได้จับกิ่งไม้นั้น ๆ ยืนฟ้อนอยู่ ในกาลนั้น กิ่งไม้ที่วานรนั้นจับแล้วก็ดี กิ่งไม้ที่วานรนั้นเหยียบแล้วก็ดี ได้หักลง วานรนั้นได้ตกลงถูกปลายตอไม้แทงถึงแก่ความตาย และด้วยความที่มีจิตเลื่อมใส จึงเกิดในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ในภพดาวดึงส์ มีนางอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร

พระยาช้างสังเกตดูวัตรพระอานนท์

การที่พระตถาคตเจ้าประทับอยู่ในราวป่ารักขิตวัน โดยมีพระยาช้างอุปัฏฐากนั้น ได้ปรากฏในชมพูทวีปทั้งสิ้น ตระกูลใหญ่ ๆ คือ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี และนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นต้น ได้ส่งสาสน์จากนครสาวัตถีไปถึงพระอานนท์เถระว่า

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงพระศาสดาแก่พวกข้าพเจ้า” (ขอท่านจงทูลอาราธนาพระศาสดาให้เสด็จกลับ)

ฝ่ายภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้อยู่ในทิศ หลังออกพรรษาแล้ว เข้าไปหาพระอานนท์เถระ วอนขอว่า

“ท่านอานนท์ผู้มีอายุ ธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ฟังนานมาแล้ว

ท่านอานนท์ผู้มีอายุ ดีละ ข้าพเจ้าทั้งหลาย พึงได้ฟังธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด”

พระเถระพาภิกษุเหล่านั้นไป ณ ที่นั้นแล้ว คิดว่า

“การเข้าไปสู่สำนักพระตถาคตเจ้า ผู้เสด็จอยู่พระองค์เดียว ตลอดไตรมาส พร้อมกับภิกษุมีประมาณถึงเท่านี้ หาควรไม่”

ดังนี้แล้ว จึงให้ภิกษุเหล่านั้นรออยู่ข้างนอก แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดาเพียงรูปเดียวเท่านั้น

พระยาช้างปาริเลยยกะเห็นพระอานนทเถระนั้นแล้ว ถือท่อนไม้วิ่งไป พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ตรัสว่า

“หลีกไปเสียปาริเลยยกะ อย่าห้ามเลย ภิกษุนั่นเป็นพุทธอุปัฏฐาก”

พระยาช้างปาริเลยยกะนั้นทิ้งท่อนไม้เสียในที่นั้นเอง แล้วได้ขอรับบาตรจีวรของพระเถระ พระเถระมิได้ให้

พระยาช้างมีความคิดว่า

“ถ้าภิกษุรูปนี้จักมีวัตรอันได้เรียนแล้ว ท่านคงจักไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นศิลาที่ประทับของพระศาสดา”

พระเถระได้วางบาตรจีวรไว้ที่พื้นแล้ว

ไม่ได้สหายที่มีปัญญา
เที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า

จริงอยู่ ชนผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวัตร ย่อมไม่วางบริขารของตนไว้บนที่นั่งหรือบนที่นอนของครู พระยาช้างเห็นอาการนั้น ได้เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว พระเถระอภิวาทพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามว่า

“อานนท์ เธอมาผู้เดียวเท่านั้นหรือ”

ทรงสดับความที่พระเถระเป็นผู้มาพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ แล้วตรัสว่า

“ก็ภิกษุเหล่านั้น อยู่ที่ไหน”

“ข้าพระองค์ไม่ทราบน้ำพระทัยของพระองค์ จึงให้เธอทั้งหลายรออยู่ข้างนอก แล้วมาแต่รูปเดียว”

“เรียกเธอทั้งหลายมาเถิด”

พระเถระได้ทำตามรับสั่งแล้ว

ภิกษุเหล่านั้น เข้ามาถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเธอทั้งหลายแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าอันสุขุม และเป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จยืนและประทับนั่งพระองค์เดียวตลอดไตรมาส ทำกิจที่ทำได้ด้วยยาก ผู้ทำวัตรและปฏิวัตรก็ดี ผู้ถวายน้ำสรงพระพักตร์ก็ดี ชะรอยจะมิได้มีแล้ว”

“ภิกษุทั้งหลาย กิจทั้งปวงของเราอันพระยาช้างปาริเลยยกะทำแล้ว ก็อันบุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนี้ อยู่ด้วยกันควรแล้ว เมื่อไม่ได้สหายเห็นปานนี้ ความเป็นผู้เที่ยวไปผู้เดียวเท่านั้นประเสริฐกว่า”

ดังนี้แล้ว ได้ภาษิต ๓ คาถา ในนาควรรคเหล่านี้ว่า

“ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
มีปัญญาทรงจำ
มีคุณธรรมเป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้
บุคคลผู้ได้สหายเห็นปานนั้น
ควรมีใจยินดี มีสติ ครอบงำอันตราย
ซึ่งคอยเบียดเบียนรอบข้างทั้งปวงเสียแล้ว เที่ยวไปกับสหายนั้น

ถ้าบุคคลไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
มีปัญญาทรงจำ มีคุณธรรม
เป็นเครื่องอยู่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ไว้เป็นผู้เที่ยวไปด้วยกันไซร้
บุคคลนั้นควรเที่ยวไปคนเดียว
เหมือนพระราชาผู้ละแว่นแคว้น
ที่พระองค์ทรงชำนะแล้ว เสด็จอยู่แต่องค์เดียว
และเหมือนพระยาช้างอันชื่อว่ามาตังคะเที่ยวอยู่ในป่าแต่เชือกเดียว

การเที่ยวไปผู้เดียวประเสริฐกว่า
ความเป็นสหายไม่มีในเพราะชนพาล
บุคคลผู้ไม่ได้สหายเห็นปานนั้น
ควรมีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปผู้เดียว
และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย
เหมือนพระยาช้างชื่อมาตังคะ
ผู้มีความขวนขวายน้อย เที่ยวไปในป่าแต่เชือกเดียว และหาได้ทำบาปไม่”

ในกาลจบคาถา ภิกษุเหล่านั้นทั้ง ๕๐๐ รูป ตั้งอยู่ในพระอรหัต

ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลสาสน์ที่ตระกูลใหญ่ ๆ มีท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เป็นต้นส่งมา แล้วกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวก ๕ โกฏิ มีท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเป็นหัวหน้า ปรารถนาให้พระองค์เสด็จกลับ”

“ถ้าอย่างนั้นเธอจงรับบาตร จีวร”

ดังนี้แล้ว ให้พระเถระรับบาตร จีวร แล้วเสด็จออกไป พระยาช้างได้ไปยืนขวางทางไว้ ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระยาช้างทำอะไร”

“ภิกษุทั้งหลาย ช้างหวังจะถวายภิกขาแก่เธอทั้งหลาย ก็แลช้างนี้ได้ทำอุปการะแก่เราตลอดราตรีนาน การยังจิตของช้างนี้ให้ขัดเคืองไม่ควร ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายกลับเถิด”

พระศาสดาทรงพาภิกษุทั้งหลายเสด็จกลับไป

ฝ่ายช้างเข้าไปสู่ราวป่าแล้ว รวบรวมผลไม้ต่าง ๆ มีผลขนุนและกล้วย เป็นต้น มาทำให้เป็นกองไว้ ในวันรุ่งขึ้น ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่อาจฉันผลไม้ทั้งหลายให้หมดสิ้น

ในกาลเสร็จภัตกิจ พระศาสดาทรงถือบาตรจีวรเสด็จออกไปแล้ว พระยาช้างไปตามระหว่าง ๆ แห่งภิกษุทั้งหลาย ยืนขวางพระพักตร์พระศาสดาไว้ ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างนี้ทำอะไร”

“ภิกษุทั้งหลาย ช้างนี้จะส่งพวกเธอไปแล้ว ชวนให้เรากลับ”

“อย่างนั้นหรือ พระองค์ผู้เจริญ”

“อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย”

ช้างทำกาละไปเกิดเป็นเทพบุตร

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะช้างนั้นว่า

“ปาริเลยยกะ นี้ความไปไม่กลับของเรา ฌานก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคและผลก็ดี ย่อมไม่มีแก่เจ้าด้วยอัตภาพนี้ เจ้าหยุดอยู่เถิด”

พระยาช้างได้ฟังรับสั่งดังนั้นแล้ว ได้สอดงวงเข้าปากร้องไห้ เดินตามไปข้างหลัง ๆ ฝ่ายพระศาสดาเสด็จถึงแดนบ้านนั้นแล้ว ตรัสว่า

“ปาริเลยยกะ จำเดิมแต่นี้ไป มิใช่ที่ของเจ้า เป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์ มีอันตรายเบียดเบียนอยู่รอบข้าง เจ้าจงหยุดอยู่เถิด”

ช้างนั้นยืนร้องไห้อยู่ในที่นั้น ครั้นเมื่อพระศาสดาทรงละคลองจักษุไป ก็หัวใจแตก แล้วไปเกิดในท่ามกลางนางเทพอัปสรพันหนึ่ง ในวิมานทองสูง ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ เพราะความเสื่อมใสในพระศาสดา เทพบุตรนั้นจึงชื่อว่า "ปาริเลยยกเทพบุตร"

ฝ่ายพระศาสดาได้เสด็จถึงพระเชตะวันแล้ว โดยลำดับ

 

 

อ้างอิง : ช้างใหญ่ปาริไลยกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๒๔๙-๒๕๐ หน้า ๒๖๖-๒๖๗