20-01 ทรงแต่งตั้งพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ



อานันทโพธิ์ เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีอุปัฏฐากไม่ประจำถึง ๒๐ ปี ในปฐมโพธิกาล บางคราวท่านพระนาคสมาล ถือบาตรจีวรตามเสด็จ บางคราวท่านพระนาคิตะ บางคราวท่านพระอุปวานะ บางคราวท่านพระสุนักขัตตะ บางคราวท่านจุนทะสามเณร บางคราวท่านพระสาคตะ บางคราวท่านพระราธะ บางคราวท่านพระเมฆิยะ บรรดาพระอุปัฏฐากไม่ประจำเหล่านั้น ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเดินทางไกลกับพระนาคสมาลเถระ ถึงทางสองแพร่ง พระนาคสมาลเถระลงจากทางทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จะไปทางนี้”

มาเถิด ภิกษุ เราจะไปกันทางนี้”

แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์ทรงถือทางพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะไปทางนี้”

แล้วเริ่มจะวางบาตรจีวรลงที่พื้นดิน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

เอามาสิ ภิกษุ”

ทรงรับบาตรจีวรแล้วเสด็จดำเนินไป เมื่อภิกษุรูปนั้น เดินทางไปตามลำพัง พวกโจรก็ชิงบาตร จีวร และตีศีรษะของท่านแตก ท่านคิดว่า

บัดนี้ ก็มีแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งของเราได้ ไม่มีผู้อื่นเลย”

แล้วมายังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งที่โลหิตไหล เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

อะไรกันล่ะ ภิกษุ”

พระนาคสมาลเถระก็ทูลเรื่องราวถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปลอบว่า

“อย่าคิดเลย ภิกษุ เราห้ามเธอก็เพราะเหตุอันนั้นนั่นแหละ”

อนึ่ง ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังบ้านชันตุคาม ใกล้ปาจีนวังสมฤคทายวันกับพระเมฆิยเถระ ในที่นั้น พระเมฆิยะเที่ยวบิณฑบาตไปในชันตุคาม พบสวนมะม่วงน่ารื่นรมย์ ริมฝั่งแม่น้ำ ก็ทูลว่า  

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดรับบาตรจีวรของพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะทำสมณธรรมที่ป่ามะม่วงนั้น”

แม้ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึงสามครั้งก็ยังไป ถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำ ก็กลับมาทูลเรื่องราวถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านว่า

เรากำหนดถึงเหตุของเธออันนี้แหละจึงห้าม”

แล้วเสด็จดำเนินไปยังกรุงสาวัตถี ตามลำดับ  ณ กรุงสาวัตถีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่เขาจัดไว้บริเวณพระคันธกุฎี อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า  

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราแก่ลง ภิกษุบางพวกกล่าวว่า ‘ข้าพระองค์จะไปทางนี้’ แล้วก็ไปเสียอีกทางหนึ่ง บางพวกก็วางบาตรจีวรของเราไว้บนพื้นดิน พวกเธอจงช่วยกันเลือกภิกษุอุปัฏฐากประจำให้แก่เราเถิด”

ภิกษุทั้งหลายเกิดธรรมสังเวช ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลว่า  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เมื่อปรารถนาพระองค์ พระองค์เดียว จึงบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย สิ้นอสงไขยกำไรแสนกัป ผู้มีปัญญามากเช่นข้าพระองค์ ชื่อว่าเป็นอุปัฏฐาก ก็ควรมิใช่หรือ ข้าพระองค์จะอุปัฏฐากพระองค์”

“อย่าเลย สารีบุตร เธออยู่ทิศใด ทิศนั้นก็ไม่ว่างเลย โอวาทของเธอก็เหมือนโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กิจที่เธอจะอุปัฏฐากเรา ไม่มีดอก”

พระอสีติมหาสาวก ตั้งต้นแต่ท่านพระโมคคัลลานะ ก็ลุกขึ้นโดยอุบายนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงห้ามเสียสิ้น ส่วนพระอานนท์เถระนั่งนิ่งเฉย

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า

“ท่านอานนท์ ภิกษุสงฆ์ทูลขอตำแหน่งอุปัฏฐากกัน แม้ท่านก็จงทูลขอสิ”

“ท่านผู้มีอายุ ธรรมดาว่าตำแหน่งที่ทูลขอได้แล้ว เป็นเช่นไรเล่า พระศาสดาไม่ทรงเห็นกระผมหรือ ถ้าพระศาสดาจักทรงชอบพระทัย ก็จักตรัสว่า อานนท์จงอุปัฏฐากเรา”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไม่ต้องมีผู้อื่นชวนให้อุตสาหะดอก จักรู้ตัวเองแหละ แล้วอุปัฏฐากเรา”

“ลุกขึ้นสิอานนท์ ทูลขอตำแหน่งอุปัฏฐากกะพระทศพล”



อานันทโพธิ์ เชตวันมหาวิหาร

พระอานนท์ทูลขอพร

พระเถระลุกขึ้นแล้วทูลขอพร ๘ ประการ คือ ส่วนที่ขอห้าม ๔ ส่วนที่ขอร้อง ๔ พระเถระทูลว่า

“ชื่อว่าพร ส่วนที่ขอห้าม ๔ คือ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ประทานจีวร ๑

จักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ทรงได้มาแล้วแก่ข้าพระองค์ ๑

จักไม่ประทานให้ข้าพระองค์อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระองค์ ๑

จักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ ๑

อย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐาก”

“อานนท์ เธอเห็นโทษอะไรในข้อนี้”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์จักได้วัตถุประสงค์เหล่านี้ไซร้ จักมีผู้กล่าวได้ว่า อานนท์บริโภคจีวร บริโภคบิณฑบาตอันประณีต อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน ไปสู่ที่นิมนต์เดียวกันกับพระทศพล เมื่อได้ลาภนี้ จึงอุปัฏฐากพระตถาคต หน้าที่ของผู้อุปัฏฐากอย่างนี้ จะมีอะไร”

เพราะฉะนั้น ท่านจึงทูลขอพรส่วนที่ขอห้าม ๔ ประการ เหล่านี้ พระเถระทูลต่อว่า

“พรส่วนที่ขอร้อง ๔ คือ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้ ๑

ถ้าข้าพระองค์จะพาคนที่มาแต่รัฐภายนอกชนบทภายนอกเข้าเฝ้าได้ ในขณะที่เขามาแล้ว ๑

ขณะใด ข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขณะนั้น ข้าพระองค์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ๑

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมใดลับหลังข้าพระองค์ จักเสด็จมาตรัสธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์ ๑

อย่างนี้ ข้าพระองค์จึงจักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า”

“อานนท์ ในข้อนี้ เธอเห็นอานิสงส์อะไร”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหล่ากุลบุตรผู้มีศรัทธาในโลกนี้ เมื่อไม่ได้โอกาสของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ พรุ่งนี้ขอท่านพร้อมด้วยพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับภิกษาในเรือนของกระผม ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จไปในที่นั้น ข้าพระองค์ไม่สามารถให้คนเข้าเฝ้า ในขณะที่เขาประสงค์ และบรรเทาความสงสัย พวกเขาก็จักกล่าวได้ว่า ท่านอานนท์อุปัฏฐากพระทศพลไปทำไม พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์ท่านแม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้

และพวกเขาจักถามข้าพระองค์ลับหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านอานนท์คาถานี้ พระสูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ณ ที่ไหน ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้พรข้อนั้น พวกเขาก็จักกล่าวได้ว่า ท่านไม่รู้แม้แต่เรื่องเท่านี้ ท่านไม่ละพระศาสดาเที่ยวตามเสด็จอยู่ดุจเงาตามตัวสิ้นกาลนาน เพราะเหตุไร ด้วยข้อนั้น ข้าพระองค์ต้องการจะกล่าวธรรมที่แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงลับหลังอีก”

เพราะฉะนั้น ท่านจึงทูลขอพรส่วนที่ขอร้อง ๔ ประการ เหล่านี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพรแก่ท่าน ท่านรับพร ๘ ประการ อย่างนี้ จึงได้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ

ผลแห่งบารมีทั้งหลายที่บำเพ็ญมาตลอดแสนกัปก็มาถึงท่านผู้ปรารถนาตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากประจำนั้นนั่นแล

ตั้งแต่วันที่ได้ตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากแล้ว ท่านอุปัฏฐากพระทศพลด้วยกิจทั้งหลาย เป็นต้น อย่างนี้ คือ ด้วยน้ำ ๒ อย่าง ด้วยไม้สีฟัน ๓ อย่าง ด้วยการนวดพระหัตถ์และพระบาท ด้วยการนวดพระปฤษฎางค์ ด้วยการกวาดบริเวณพระคันธกุฎี เพราะคิดว่า พระศาสดาควรได้กิจนี้ ในเวลานี้ แล้วถือประทีปด้ามขนาดใหญ่ไว้ ต่อจากเวลาเที่ยงคืนเดินตรวจรอบ ๆ บริเวณพระคันธกุฎีราตรีหนึ่ง ๙ ครั้ง อนึ่ง ท่านมีความดำริอย่างนี้ว่า ถ้าเราจะพึงง่วงนอนไซร้ เราก็ไม่อาจขานรับเมื่อพระทศพลตรัสเรียก เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ปล่อยประทีปด้ามหลุดจากมือตลอดคืนยังรุ่ง

ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงสรรเสริญท่านพระอานนท์เถระผู้รักษาเรือนคลังธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้เป็นพหูสูต มีสติ มีธิติ และพุทธอุปัฏฐากในพระศาสนานี้แล

 

 

อ้างอิง : ประวัติพระอานนทเถระ พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๓๒ หน้า ๔๕๑-๔๕๕