17-4 พระผู้มีพระภาคทรงเยี่ยมไข้พระวักกลิ



บริเวณที่คาดว่าเป็นพระคันธกุฏีในวิหารเวฬุวัน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ

ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมา แล้วกล่าวว่า

“มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเรา แล้วทูลว่า

พระพุทธเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า

และพวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า

พระพุทธเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด”

ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านวักกลิแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุ ตามคำของท่านพระวักกลิ

พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า

“อย่าเลย วักกลิ  เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น”

พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า

“ดูกรวักกลิ เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่า ทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ”



ต้นไทรในเวฬุวันมหาวิหาร นครราชคฤห์

ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกขเวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย”

“ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ”

“พระพุทธเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย”

“ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ”

“พระพุทธเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่”

การเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า

“ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร”

“พระพุทธเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ว่าร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”

“อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร

ดูกรวักกลิ
ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเห็นธรรม

วักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเรา ก็ย่อมเห็นธรรม

วักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูป เที่ยงหรือไม่เที่ยง

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา”

“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรวักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา”

“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรวักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา”

“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรวักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สังขาร เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา”

“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรวักกลิ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า”

“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา”

“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“เพราะเหตุนั้นแล วักกลิ

อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว

ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี”



พระคันธกุฏี ยอดเขาคิชกูฏ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน พระวักกลิได้เรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมา แล้วกล่าวว่า

“มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียง แล้วหามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญว่า ตนพึงทำกาละในละแวกบ้านเล่า”

ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้นรับคำท่านพระวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏตลอดราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น

ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“พระพุทธเจ้าข้า วักกลิภิกษุคิดเพื่อความหลุดพ้น”

เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้”

เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง

ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า

“มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงบอกวักกลิกภิกษุอย่างนี้ว่า  

อาวุโสวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์

ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้

แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า

อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ”

ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระวักกลิว่า

“อาวุโสวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์”

ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมา แล้วกล่าวว่า

“มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะพึงสำคัญว่า ตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นอย่างไรเล่า”

ภิกษุเหล่านั้น รับคำของท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียง แล้วบอกกับท่านพระวักกลิตามคำของพระผู้มีพระภาค

พระวักกลิกล่าวว่า

“อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของผมด้วยว่า

พระพุทธเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า
รูปไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี
ความรักใคร่ก็ดีในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์

ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนาไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี
ความรักใคร่ก็ดีในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์

ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า สัญญาไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี
ความรักใคร่ก็ดีในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์

ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า สังขารไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี
ความรักใคร่ก็ดีในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์

ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า วิญญาณไม่เที่ยง
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี
ความรักใคร่ก็ดีในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์  ดังนี้”

ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป  ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น หลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา

ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคตามคำของท่านพระวักกลิ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า

“มาไปกันเถิด ภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาตรามา”

ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว

ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือ มารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว”

 

 

อ้างอิง : วักกลิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๑๕-๒๒๑ หน้า ๑๑๕-๑๒๐