16-1 หัตถราชกุมารทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าทรงมีความสุขหรือ



บริเวณหน้าวิหารบุพพาราม เมืองสาวัตถี

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนที่ลาดใบไม้ในสีสปาวัน ข้างทางโค ใกล้เมืองอาฬวี ครั้งนั้นแล หัตถกราชกุมารชาวเมืองอาฬวี เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ เมื่อกำลังเดินพักผ่อน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่บนที่ลาดใบไม้ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระองค์ทรงเป็นสุขดีหรือ”

“ดูกรกุมาร ตถาคตอยู่เป็นสุขดี ก็แหละ ตถาคตเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนที่เป็นสุขในโลก”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีฤดูเหมันต์เยือกเย็น ระหว่าง ๘ วัน เป็นสมัยหิมะตก พื้นดินแข็งแตกระแหง ที่ลาดใบไม้บาง ใบต้นไม้ห่าง ผ้ากาสายะเย็น ทั้งลมเวรัมพวาตอันเยือกเย็นก็กำลังพัด”

“อย่างนั้น กุมาร ตถาคตเป็นสุขดี ก็แหละ ตถาคตเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนที่อยู่เป็นสุขในโลก

ถ้าเช่นนั้น ตถาคตจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพึงพยากรณ์ปัญหานั้นตามที่ท่านชอบใจ

ดูกรกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีในโลกนี้ พึงมีเรือนยอดที่เขาฉาบทาทั้งภายในภายนอก ลมพัดเข้าไม่ได้ มีบานประตูมิดชิด มีหน้าต่างปิดสนิท ในเรือนยอดนั้นพึงมีบัลลังก์ ซึ่งลาดด้วยผ้าลาดมีขนยาว ลาดด้วยเครื่องลาดขาว ทอด้วยขนสัตว์ยาว ลาดด้วยเครื่องลาดขาวด้วยดอกไม้ ลาดด้วยเครื่องลาดชั้นสูงคือหนังชมด ข้างบนมีเพดาน มีหมอนสีแดงวางไว้ทั้งสองข้าง ตามประทีปน้ำมันไว้สว่างไสว ปชาบดีสี่นางพึงบำรุงบำเรอด้วยวิธีที่น่าชอบอกชอบใจ

ดูกรกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นอยู่เป็นสุขหรือหาไม่ หรือท่านมีความคิดเห็นเป็นไฉนในเรื่องนี้”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้นพึงอยู่เป็นสุข  และเขาเป็นคนหนึ่งในจำนวนคนที่อยู่เป็นสุขในโลก”

“ดูกรกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีพึงเกิดความเร่าร้อนที่เป็นไปทางกายหรือทางจิต ซึ่งเกิดแต่ราคะอันเป็นเหตุ ทำให้ผู้ที่ถูกราคะเผาอยู่ เป็นทุกข์มิใช่หรือ”

“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรกุมาร คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น ถูกความเร่าร้อนอันเกิดแต่ราคะใดแผดเผาอยู่ จึงอยู่เป็นทุกข์

ราคะนั้นตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา  เพราะฉะนั้น ตถาคตจึงอยู่เป็นสุข  

ดูกรกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน 

คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น พึงเกิดความเร่าร้อนที่เป็นไปทางกายหรือทางจิต ซึ่งเกิดแต่โทสะ... ซึ่งเกิดแต่โมหะ อันเป็นเหตุทำให้ผู้ที่ถูกโทสะ... โมหะเผาอยู่ เป็นทุกข์มิใช่หรือ”

“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“ดูกรกุมาร คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนั้น ถูกความเร่าร้อนอันเกิดแต่โทสะ เกิดแต่โมหะใดแผดเผาอยู่ จึงอยู่เป็นทุกข์

โทสะนั้น โมหะนั้นตถาคตละได้เด็ดขาดแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ตถาคตจึงอยู่เป็นสุข

พราหมณ์ผู้ดับกิเลสได้แล้ว อยู่สบายทุกเมื่อแล
ผู้ใดไม่ติดอยู่ในกาม
ผู้นั้นเป็นผู้เยือกเย็นหมดอุปธิ
ตัดธรรมชาติเครื่องมาข้องเสียทุกอย่าง
ปราบปรามความกระวนกระวายในหทัยได้
เข้าไปสงบแล้ว ถึงความสงบใจ อยู่สบาย”

 

 

อ้างอิง : หัตถกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๗๔ หน้า ๓๓๐-๓๓๑