4-15 ลฏุกิกชาดก - คติของคนมีเวร



พุทธคยาและแม่น้ำเนรัญชรา

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้าง เจริญวัยแล้ว มีร่างกายใหญ่น่าเลื่อมใส เป็นจ่าโขลง มีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร อยู่ในหิมวันตประเทศ

ครั้งนั้น นางนกไส้ตัวหนึ่งออกไข่ในที่ที่เป็นที่เที่ยวไปของพวกช้าง ลูกนกทั้งหลายทำลายฟองไข่ที่แก่ ๆ ออกมา เมื่อลูกนกเหล่านั้นปีกยังไม่งอก ไม่สามารถจะบินได้เลย พระมหาสัตว์มีช้างแปดหมื่นห้อมล้อม เที่ยวหาอาหารไปถึงถิ่นนั้น นางนกไส้เห็นดังนั้น จึงคิดว่า

“พระยาช้างนี้จักเหยียบย่ำลูกทั้งหลายของเราตาย เอาเถอะ เราจักขอการอารักขาอันประกอบด้วยธรรมกะพระยาช้างนั้น เพื่อจะป้องกันลูกน้อยทั้งหลายของเรา”

ครั้นคิดแล้ว นางนกนั้นจึงประคองปีกทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน แล้วยืนอยู่ข้างหน้าพระยาช้างนั้น กล่าวว่า

“ดิฉันขอไหว้พญาช้างผู้มีกำลัง ในกาลที่มีอายุได้หกสิบปี ผู้อยู่ในป่า เป็นเจ้าโขลง เพียบพร้อมด้วยบริวารยศนั้น ดิฉันขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อย ๆ ของฉันผู้มีกำลังทุรพลเสียเลย”

พระมหาสัตว์กล่าวตอบว่า

“ดูกรนางนกไส้ เจ้าอย่าได้คิดเสียใจเลย เราจักรักษาบุตรน้อย ๆ ของเจ้า”

แล้วจึงยืนคร่อมอยู่เบื้องบนลูกนกทั้งหลาย เมื่อช้างแปดหมื่นเชือกผ่านไปแล้ว จึงเรียกนางนกไส้มาพูดว่า

“ดูกรนางนกไส้ มีช้างเชือกหนึ่งซึ่งมีปกติเที่ยวไปผู้เดียว จะมาข้างหลังพวกเรา ช้างนั้นจักไม่กระทำตามคำของเราทั้งหลาย เมื่อช้างนั้นมาถึง เจ้าพึงอ้อนวอนช้างแม้นั้น กระทำความปลอดภัยแก่ลูกน้อยทั้งหลาย”

ดังนี้แล้ว หลีกไป ฝ่ายนางนกไส้นั้น ก็กระทำการต้อนรับช้างนั้น เอาปีกทั้งสองกระทำอัญชลี แล้วกล่าวว่า

“ดิฉันขอไหว้พญาช้างผู้เที่ยวไปเชือกเดียว ผู้อยู่ในป่า เที่ยวหาอาหารกินตามเชิงภูเขา ดิฉันขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อย ๆ ของดิฉันผู้มีกำลังทุรพลเสียเลย”

พระยาช้างนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงกล่าวว่า

“แน่ะนางนกไส้ เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้าเสีย เจ้ามีกำลังน้อยจักทำอะไรเราได้ เราจะขยี้นกไส้อย่างเจ้าตั้งแสนตัวให้ละเอียดไปด้วยเท้าข้างซ้าย”

ครั้นช้างนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ได้เหยียบลูกน้อยของนางนกไส้นั้นจนแหลกละเอียด ร้องบันลือเสียง แล้วก็หลีกไป นางนกไส้จับอยู่ที่กิ่งไม้ ได้กล่าวว่า

“แน่ะช้าง บัดนี้ เจ้าจงบันลือไปก่อน ต่อล่วงไป ๒-๓ วัน เจ้าจักเห็นการกระทำของเรา เจ้าย่อมไม่รู้ว่า กำลังความรู้ยิ่งใหญ่กว่ากำลังกาย ข้อนั้นจงยกให้เรา เราจักให้เจ้ารู้กำลังความรู้นั้น”

แล้วกล่าวอย่างอาฆาตว่า

“กิจที่จะพึงทำด้วยกำลังกาย ย่อมสำเร็จในที่ทั้งปวง เพราะกำลังกายของคนพาลย่อมมีเพื่อฆ่าคนอื่น แน่ะพญาช้าง ผู้ใดฆ่าลูกน้อย ๆ ของเราผู้มีกำลังทุรพล เราจักทำสิ่งที่ไม่ใช่ความเจริญให้แก่ผู้นั้น”

นางนกไส้นั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงไปปรนนิบัติกาตัวหนึ่งอยู่ ๒ - ๓ วัน กานั้นรู้สึกยินดี จึงกล่าวว่า

“เราจะกระทำอะไรให้แก่ท่าน”

นางนกไส้ได้กล่าวว่า

“นาย กิจอย่างอื่นที่ท่านจะพึงทำแก่ข้าพเจ้าไม่มี แต่ข้าพเจ้าหวังให้ท่านเอาจะงอยปาก ประหารนัยน์ตาทั้งสองข้างของช้างที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียวเชือกหนึ่งให้แตก”

“ได้”

จากนั้นนางนกไส้จึงไปปรนนิบัติกแมลงวันหัวเขียวตัวหนึ่ง แมลงวันหัวเขียวนั้นก็กล่าวว่า

“เราจะทำอะไรให้แก่ท่าน”

นางนกไส้ได้กล่าวว่า

“เมื่อนัยน์ตาทั้งสองข้างของช้างที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียวแตกไปแล้ว ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านหยอดไข่ขังลงในนัยน์ตาทั้งสองข้างนั้น”

“ได้”

แล้วนางนกไส้จึงไปปรนนิบัติกบตัวหนึ่ง กบนั้นได้กล่าวว่า

“เราจะทำอะไรให้แก่ท่าน”

นางนกไส้กล่าวว่า

“ในกาลใดช้างตัวหนึ่งที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียว เป็นช้างตาบอด แล้วเที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม ในกาลนั้น ท่านพึงเกาะอยู่ที่ยอดเขาแล้วส่งเสียงร้อง เมื่อช้างนั้นขึ้นถึงยอดเขา พึงลงมาส่งเสียงร้องอยู่ที่เหว ข้าพเจ้าหวังการกระทำมีประมาณเท่านี้จากสำนักของท่าน”

กบนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงรับคำว่า

“ได้”

อยู่มาวันหนึ่ง กาเอาจงอยปากทำลายตาทั้งสองข้างของช้างแตกแล้ว แมลงวันจึงหยอดไข่ขังลงไปที่นัยน์ตา ช้างนั้นถูกตัวหนอนทั้งหลายชอนไชอยู่ ได้รับทุกขเวทนา อยากจะดื่มน้ำเป็นกำลัง จึงเที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม ในกาลนั้น กบจึงเกาะอยู่บนยอดเขาส่งเสียงร้อง

ช้างคิดว่า น้ำดื่มจักมี ณ ที่นี้ จึงขึ้นไปยังภูเขา ลำดับนั้น กบจึงลงมาเกาะอยู่ที่เหวส่งเสียงร้อง ช้างคิดว่า น้ำดื่มจักมี จึงบ่ายหน้าไปทางเหว ได้ลื่นพลัดตกลงไปที่เชิงเขาสิ้นชีวิต นางนกไส้รู้ว่าช้างนั้นตายแล้ว จึงร่าเริงดีใจว่า

“เราเห็นหลังปัจจามิตรแล้ว”

จึงเดินไป ๆ มา ๆ บนร่างของช้างนั้น แล้วไปตามยถากรรม

พระศาสดาตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเวร ไม่ควรทำกับใคร ๆ สัตว์ทั้ง ๔ เหล่านี้ ร่วมกันแล้ว ทำช้างผู้ถึงพร้อมด้วยกำลังให้ถึงสิ้นชีวิตได้

ดูกรมหาราชทั้งหลาย บางคราวผู้ที่มีกำลังน้อยก็หาช่องทำลายผู้มีกำลังมากได้ บางคราวผู้มีกำลังมากก็ได้ช่องทำแก่ผู้มีกำลังน้อย แม้แต่นางนกไส้ยังฆ่าพญาช้างตัวประเสริฐได้”

แล้วตรัสอภิสัมพุทธคาถานี้ว่า

“ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ และแมลงวันหัวเขียว สัตว์ทั้งสี่เหล่านี้ได้ร่วมใจกันฆ่าช้างเสียได้ ท่านจงเห็นคติของคนมีเวรแก่คนมีเวรทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นแล ท่านทั้งหลาย อย่าได้กระทำเวรกับใคร ๆ ถึงจะไม่เป็นที่รักใคร่กันเลย”

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า

“ช้างตัวที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียวในกาลนั้น ได้เป็นพระเทวทัต ส่วนช้างจ่าโขลงในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต”

 

 

อ้างอิง : ลฏุกิกชาดก พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๕๘ ข้อที่ ๗๓๒-๗๓๖ หน้า ๗๕๗-๗๖๔