44-02 พระเจ้าปเสนทิโกศลสรรเสริญพระผู้มีพระภาคด้วยพระวาจาเคารพธรรม



เสาอโศกสถานที่ประสูติพระพุทธเจ้ากกุสันธะ เมืองโกฏิหะวา (Gotihawa)  เนปาล

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของพวกเจ้าศากยะอันมีชื่อว่า เมทฬุปะ ในแคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึงนครกนิคมด้วยพระราชกรณียะบางอย่าง ครั้งนั้น ท้าวเธอรับสั่งกะทีฆการายนะเสนาบดีว่า

“ดูกรการายนะผู้สหาย ท่านจงเทียมยานที่ดี ๆ ไว้ เราจะไปดูภูมิภาคอันดีในพื้นที่อุทยาน”

ทีฆการายนะเสนาบดีรับสนองพระราชดำรัสแล้ว กราบทูลแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า  

“ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเทียมพระราชยานไว้เพื่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพร้อมแล้ว ขอใต้ฝ่าพระบาททรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ขอเดชะ”

ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จขึ้นทรงยานพระที่นั่งอย่างดี เสด็จออกจากนครกนิคมโดยกระบวนพระราชยานอย่างดี ๆ ด้วยพระราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ เสด็จไปยังสวนอันรื่นรมย์ เสด็จพระราชดำเนินด้วยยานพระที่นั่ง จนสุดภูมิประเทศที่ยานพระที่นั่งจะไปได้ จึงเสด็จลงทรงพระดำเนินเข้าไปยังสวน เสด็จพระราชดำเนินเที่ยวไป ๆ มา ๆ เป็นการพักผ่อน ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ล้วนน่าดู ชวนให้เกิดความผ่องใส เงียบสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง ปราศจากคนสัญจรไปมา ควรแก่การงานอันจะพึงทำในที่ลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่อยู่ของผู้ต้องการความสงัด ครั้นแล้ว ทรงเกิดพระปีติ ปรารภพระผู้มีพระภาคว่า

“ต้นไม้เหล่านี้นั้น ล้วนน่าดู ชวนให้เกิดความผ่องใส เงียบ ปราศจากเสียงอื้ออึง ปราศจากคนสัญจรไปมา ควรแก่การงานอันจะพึงทำในที่ลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่อยู่ของผู้ต้องการความสงัด เหมือนดังว่าเป็นที่ที่เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล รับสั่งกะทีฆการายนะเสนาบดีว่า

“ดูกรทีฆการายนะผู้สหาย เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ”

ทีฆการายนะเสนาบดีกราบทูลว่า

“ข้าแต่มหาราชา มีนิคมของพวกเจ้าศากยะชื่อว่าเมทฬุปะ เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ นิคมนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

“ก็นิคมของพวกเจ้าศากยะชื่อว่าเมทฬุปะ อยู่ไกลจากนิคมนครกะเพียงไร”

“ข้าแต่มหาราช ไม่ไกลนัก ระยะทาง ๓ โยชน์ อาจเสด็จถึงได้โดยไม่ถึงวัน ขอเดชะ”

“ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเทียมยานที่ดี ๆ ไว้ เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ทีฆการายนะเสนาบดีทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว กราบทูลแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า

“ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าเทียมยานไว้พร้อมแล้วพระเจ้าข้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้โปรดทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด”

ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จขึ้นทรงยานพระที่นั่งอย่างดี เสด็จจากนครกนิคมโดยกระบวนพระราชยานอย่างดี เสด็จไปยังนิคมของพวกเจ้าศากยะชื่อว่าเมทฬุปะ เสด็จถึงนิคมนั้นโดยเวลาไม่ถึงวัน เสด็จเข้าไปยังสวน เสด็จพระราชดำเนินด้วยยานพระที่นั่งไปจนสุดภูมิประเทศที่ยานพระที่นั่งจะไปได้ เสด็จลงจากยานพระที่นั่ง แล้วทรงดำเนินเข้าไปยังสวน

ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า

“ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน ข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ภิกษุเหล่านั้นถวายพระพรว่า

“ดูกรมหาบพิตร นั่นพระวิหาร พระทวารปิดเสียแล้ว เชิญมหาบพิตรเงียบเสียง ค่อย ๆ เสด็จเข้าไปถึงระเบียงแล้ว ทรงกระแอม เคาะพระทวารเข้าเถิด พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดพระทวารรับมหาบพิตร ขอถวายพระพร”

ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมอบพระแสงขรรค์และพระอุณหิศแก่ทีฆการายนะเสนาบดีในที่นั้น ครั้งนั้น ทีฆการายนะเสนาบดีมีความดำริว่า

“บัดนี้ พระมหาราชาจักทรงปรึกษาความลับ เราควรจะยืนอยู่ในที่นี้แหละ”

ลำดับนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเงียบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิดพระทวาร ทรงค่อย ๆ เสด็จเข้าไปถึงพระระเบียง ทรงกระแอม แล้วทรงเคาะพระทวาร

พระผู้มีพระภาคเปิดพระทวาร ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ทรงซบพระเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค ทรงจูบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดพระยุคลบาทด้วยพระหัตถ์ และทรงประกาศพระนามว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงทรงกระทำการเคารพนอบน้อมเป็นอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในสรีระนี้ และทรงแสดงอาการฉันทมิตร”

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ กำหนดที่สุด ๑๐ ปี บ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง สมัยต่อมา สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาบน้ำดำเกล้า ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนให้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ

แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ มีชีวิตเป็นที่สุดจนตลอดชีวิต อนึ่ง หม่อมฉันมิได้เห็นพรหมจรรย์อื่นอันบริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้

แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉันว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง พระราชาก็ยังวิวาทกับพระราชา แม้กษัตริย์ก็ยังวิวาทกับกษัตริย์ แม้พราหมณ์ก็ยังวิวาทกับพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็ยังวิวาทกับคฤหบดี แม้มารดาก็ยังวิวาทกับบุตร แม้บุตรก็ยังวิวาทกับมารดา แม้บิดาก็ยังวิวาทกับบุตร แม้บุตรก็ยังวิวาทกับบิดา แม้พี่น้องชายก็ยังวิวาทกับพี่น้องหญิง แม้พี่น้องหญิงก็ยังวิวาทกับพี่น้องชาย แม้สหายก็ยังวิวาทกับสหาย

แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ สมัครสมานกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เข้ากันได้สนิทเหมือนน้ำกับน้ำนม มองดูกันและกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่ หม่อมฉันไม่เคยเห็นบริษัทอื่นที่สมัครสมานกันอย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้

แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน

อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเดินเที่ยวไปตามอารามทุกอาราม ตามอุทยานทุกอุทยานอยู่เนือง ๆ ในที่นั้น ๆ หม่อมฉันได้เห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าจะไม่กล้าสบตาคน หม่อมฉันนั้นได้เกิดความคิดว่า ท่านเหล่านี้คงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์เป็นแน่ หรือว่าท่านเหล่านั้นมีบาปกรรมอะไรที่ทำแล้วปกปิดไว้ ท่านเหล่านี้จึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ฯลฯ

หม่อมฉันเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามว่า

“ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เหตุไรหนอท่านทั้งหลายจึงซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูเหมือนว่าจะไม่กล้าสบตาคน”

สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้ตอบอย่างนี้ว่า

“ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายเป็นโรคพันธุกรรม”

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ร่าเริงยิ่งนัก มีใจชื่นบาน มีรูปอันน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีความขวนขวายน้อย มีขนอันตก เลี้ยงชีพด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดังมฤคอยู่

หม่อมฉันได้มีความคิดว่า ท่านเหล่านี้คงรู้คุณวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเป็นแน่ ท่านเหล่านี้จึงร่าเริงยิ่งนัก มีใจชื่นบาน มีรูปอันน่ายินดี มีอินทรีย์เอิบอิ่ม มีความขวนขวายน้อย ฯลฯ

แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเป็นขัตติยราช ได้มูรธาภิเษกแล้ว ย่อมสามารถจะให้ฆ่าคนที่ควรฆ่าได้ จะให้ริบคนที่ควรริบก็ได้ จะให้เนรเทศคนที่ควรเนรเทศก็ได้ เมื่อหม่อมฉันนั่งอยู่ในที่วินิจฉัยความ ก็ยังมีคนทั้งหลายพูดสอดขึ้นในระหว่าง ๆ หม่อมฉันจะห้ามว่า เมื่อเรานั่งอยู่ในที่วินิจฉัยความ ท่านทั้งหลายอย่าพูดสอดขึ้นในระหว่าง จงรอคอยให้สุดถ้อยคำของเราเสียก่อน ดังนี้ ก็ไม่ได้ คนทั้งหลายก็ยังพูดสอดขึ้นในระหว่างถ้อยคำของหม่อมฉัน

แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้  ในสมัยใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อยในบริษัทนั้น สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคไม่มีเสียงจามหรือไอเลย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อย ในบริษัทนั้น สาวกของพระผู้มีพระภาครูปหนึ่งได้ไอขึ้น เพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งได้เอาเข่ากระตุ้นเธอรูปนั้น ด้วยความประสงค์จะให้เธอรู้สึกตัวว่า ท่านจงเงียบเสียง อย่าได้ทำเสียงดังไป พระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของเราทั้งหลายกำลังทรงแสดงธรรมอยู่ หม่อมฉันเกิดความคิดขึ้นว่า น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมา ได้ยินว่า บริษัทจักเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงฝึกดีแล้วอย่างนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา

หม่อมฉันไม่เคยได้เห็นบริษัทอื่นที่ฝึกได้ดีอย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้

แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี ผู้เป็นบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ฉลาด อาจย่ำยีถ้อยคำอันเป็นข้าศึกได้ มีปัญญา สามารถยิงขนทรายได้

กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้นเที่ยวทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญา พอได้ยินข่าวว่าพระสมณโคดมจักเสด็จถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้น คนเหล่านั้นก็พากันแต่งปัญหาด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักพากันเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ ถ้าพระสมณโคดมอันพวกเราถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะอย่างนี้แก่พระสมณโคดม ถ้าแม้พระสมณโคดมอันเราทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราก็จักยกวาทะแม้อย่างนี้แก่พระสมณโคดม

กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้นได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดมเสด็จถึงบ้าน หรือนิคมโน้นแล้ว ก็พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ชนเหล่านั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา

ชนเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ไม่ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาค ที่ไหนจักยกวาทะแก่พระองค์เล่า ที่แท้ ก็พากันยอมตนเข้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน

อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นสมณะผู้เป็นบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ฉลาด อาจย่ำยีถ้อยคำอันเป็นข้าศึกได้ มีปัญญา สามารถยิงขนทรายได้

สมณะเหล่านั้นเที่ยวทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญา พอได้ยินข่าวว่าพระสมณโคดมจักเสด็จถึงบ้านหรือนิคมโน้น สมณะเหล่านั้นก็พากันแต่งปัญหาด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักพากันเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ ถ้าพระสมณโคดมอันพวกเราถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราจักยกวาทะอย่างนี้แก่พระสมณโคดม ถ้าแม้พระสมณโคดมอันเราทั้งหลายถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้ไซร้ พวกเราก็จักยกวาทะแม้อย่างนี้แก่พระสมณโคดม

สมณะเหล่านั้นได้ยินข่าวว่าพระสมณโคดมเสด็จถึงบ้าน หรือนิคมโน้นแล้ว ก็พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สมณะเหล่านั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

สมณะเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ไม่ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาค ที่ไหนจักยกวาทะแก่พระองค์เล่า ที่แท้ ย่อมขอโอกาสกะพระผู้มีพระภาค เพื่อขอออกบวชเป็นบรรพชิต พระผู้มีพระภาคก็ทรงให้เขาเหล่านั้นบวช

ครั้นเขาเหล่านั้นได้บวชอย่างนี้แล้ว เป็นผู้หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ท่านเหล่านั้นพากันกล่าวอย่างนี้ว่า

“ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราทั้งหลายย่อมไม่พินาศละซิหนอ ด้วยว่า เมื่อก่อนเราทั้งหลายไม่ได้เป็นสมณะเลย ก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ได้เป็นพราหมณ์เลย ก็ปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย ก็ปฏิญาณว่าเป็นพระอรหันต์ บัดนี้ พวกเราเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ เป็นพระอรหันต์”

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน

อีกประการหนึ่ง ช่างไม้สองคน คนหนึ่งชื่ออิสิทันตะ คนหนึ่งชื่อปุราณะ กินอยู่ของหม่อมฉัน ใช้ยวดยานของหม่อมฉัน หม่อมฉันให้เครื่องเลี้ยงชีพแก่เขา นำยศมาให้เขา แต่ถึงกระนั้น เขาจะได้ทำความเคารพนบนอบในหม่อมฉันเหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่

เรื่องเคยมีมาแล้ว หม่อมฉันยกกองทัพออกไปเพื่อจะทดลองช่างไม้อิสิทันตะและช่างไม้ปุราณะนี้ดู จึงเข้าพักอยู่ในที่พักอันคับแคบแห่งหนึ่ง นายช่างอิสิทันตะและนายช่างปุราณะเหล่านี้ยังกาลให้ล่วงไปด้วยธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นอันมาก ได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ทิศใด เขาก็ผินศีรษะไปทางทิศนั้น นอนเหยียดเท้ามาทางหม่อมฉัน

หม่อมฉันมีความคิดว่า น่าอัศจรรย์นักหนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ นายช่างอิสิทันตะและนายช่างปุราณะเหล่านี้กินอยู่ของเรา ใช้ยวดยานก็ของเรา เราให้เครื่องเลี้ยงชีพแก่เขา นำยศมาให้เขา แต่ถึงกระนั้น เขาจะได้ทำความเคารพนบนอบในเราเหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่ ท่านเหล่านี้คงจะรู้คุณวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นแน่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรมในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉัน

อีกประการหนึ่ง แม้พระผู้มีพระภาคก็เป็นกษัตริย์ แม้หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ แม้พระผู้มีพระภาคก็เป็นชาวโกศล แม้หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล แม้พระผู้มีพระภาคก็มีพระชนมายุ ๘๐ ปี แม้หม่อมฉันก็มีอายุ ๘๐ ปี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุนี้แล หม่อมฉันจึงได้ทำความเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค และแสดงอาการเป็นฉันทมิตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น หม่อมฉันขอทูลลาไป ณ บัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะมาก”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด”

ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำประทักษิณ แล้วเสด็จหลีกไป

ครั้งนั้นแล เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ตรัส ธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม เธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ จงทรงจำธรรมเจดีย์นี้ไว้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นอาทิพรหมจรรย์”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นพากันชื่นชม  ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

 

 

อ้างอิง : ธรรมเจติยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๕๕๙-๕๗๐ หน้า ๓๘๐-๓๙๐