เจดีย์มีสามอย่างคือ ธาตุเจดีย์ (สรีรเจดีย์) ๑ บริโภคเจดีย์ ๑ อุทเทสิกเจดีย์ ๑
ธาตุเจดีย์
เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
บริโภคเจดีย์
ไม่เป็นสิ่งปลูกสร้าง ไม่มีวัตถุปรากฏ เป็นเพียงเนื่องด้วยตถาคตเท่านั้น เช่น ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ ถึงพระพุทธเจ้าจะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน
(อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย)
อุทเทสิกเจดีย์ สิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เช่น ต้นมหาโพธิ์ที่พระอานนท์ปลูกที่ประตูเชตวัน สถูป หรือพระพุทธรูป เป็นต้น
เจดีย์และสถูปที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า
โคตมกเจดีย์
ชื่อเจดียสถานแห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเวสาลี เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับหลายครั้ง และเคยทรงทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์
จุฬามณีเจดีย์
พระเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬาโมลี(มวยผม)ของพระพุทธเจ้าในดาวดึงสเทวโลก
อรรถกถาเล่าว่า เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกบรรพชาเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้วจะอธิษฐานเพศบรรพชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปในอากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับเอาไปประดิษฐานในพระเจดีย์จุฬามณี ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในขณะแจกพระบรมสารีริกธาตุ พระอินทร์ได้มานำเอาพระทาฐธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ข้างขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ใส่ผอบทอง นำไปบรรจุในจุฬามณีเจดีย์ด้วย
เจดีย์พุทธคยา
เจดีย์พุทธคยา
เจดีย์สถานอยู่ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในแคว้นมคธ ปัจจุบันเป็นตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นโพธิ์ และได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี่ องค์พระเจดีย์สร้างหลังสมัยพุทธกาล สูง ๑๖๐ ฟุต สร้างเป็นหอสูงรูปสี่เหลี่ยมพีระมิดปลายยอดตัดรองรับพระสถูปที่ด้านบนยอดสุด
รัตนฆรเจดีย์
รัตนฆรเจดีย์
เจดีย์คือเรือนแก้ว อยู่ทางทิศตะวันตกของรัตนจงกรมเจดีย์ หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ พุทธคยา ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้น ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๔ แห่งการเสวยวิมุตติสุข)
รัตนจงกรมเจดีย์
รัตนจงกรมเจดีย์
เจดีย์คือที่จงกรมแก้วอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นมหาโพธิ กับอนิมิสเจดีย์ พุทธคยา ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมตลอด ๗ วัน (สัปดาห์ที่ ๓ แห่งการเสวยวิมุตติสุข)
อนิมิสเจดีย์
อนิมิสเจดีย์
สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จยืนจ้องดูต้นพระศรีมหาโพธิด้วยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน อยู่ทางทิศอีสานของต้นพระศรีมหาโพธิ์
เจาคันธีสถูป
เจาคันธีสถูป
สถูปแห่งนี้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเป็นที่ระลึกที่พระพุทธเจ้าทรงพบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ภายหลังจากทรงตรัสรู้ สร้างขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วกว่า ๒๐๐ ปี ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี
ธัมเมกขสถูป
ธัมเมกขสถูป
อยู่ใกล้เคียงกับเจาคันธีสถูป เป็นสถานที่ระลึกถึงกาลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ในวันเพ็ญเดือน ๘
ปาสาณเจดีย์
เจดียสถานแห่งหนึ่งอยู่ในแคว้นมคธ มาณพ ๑๖ คนซึ่งเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ได้เฝ้าพระศาสดาและทูลถามปัญหา ณ ที่นี้ ปัญหาที่มาณพทั้ง ๑๖ ทูลถาม เรียกว่า โสฬสปัญหา
สัตตัมพเจดีย์
เจดีย์สถานแห่งหนึ่งที่ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
ปาวาลเจดีย์
ชื่อเจดียสถานอยู่ที่เมืองเวสาลี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาส ครั้งสุดท้ายและทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ เจดีย์นี้ ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน
สัมมาสัมพุทธเจดีย์
เจดีย์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจดีย์ที่เป็นเครื่องเตือนจิตให้ระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สารันทเจดีย์
เจดียสถานแห่งหนึ่งที่เมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ บาลีเป็น สารันททเจดีย์
พหุปุตตเจดีย์
เจดียสถานแห่งหนึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
อานันทเจดีย์
เจดียสถานแห่งหนึ่งอยู่ในเขตโภคนคร ระหว่างทางจากเมืองเวสาลีสู่เมืองปาวา เป็นที่พระพุทธเจ้าตรัสมหาปเทส ๔ ฝ่ายพระสูตร
อุทเทสิกเจดีย์
เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า เจดีย์ที่สร้างเป็นเครื่องเตือนจิตให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้แก่ พระพุทธรูป
อุเทนเจดีย์
เจดียสถานแห่งหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์
มกุฏพันธนเจดีย์
มกุฏพันธนเจดีย์
สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหลังจากปรินิพพานได้ ๗ วัน อยู่ทิศตะวันออกของนครกุสินารา ท่านพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้ถวายบังคมจิตกาธานของพระพุทธเจ้าแล้ว ด้วยอานุภาพของเทวดา จิตกาธานเกิดเปลวไฟลุกโพลงขึ้นเองพร้อมกันทุกด้าน
ตุมพสถูป
พระตุมพเจดีย์อยู่ที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ พระสถูปแห่งนี้บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อแบ่งปันให้กษัตริย์ทั้งปวง โดยโทณพราหมณ์ เป็นผู้ตักตวงพระบรมธาตุแบ่งปันถวายกษัตริย์ทั้งหลาย และขอประทานทะนานทองตวงพระบรมธาตุอัญเชิญไปสร้างตุมพสถูปเจดีย์
อังคารสถูป
พระอังคารสถูปเจดีย์อยู่ที่เมืองปิปผลิวัน โมริยกษัตริย์ผู้ครองเมือง เมื่อได้ทราบข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานจึงส่งราชทูตมาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ ณ นครกุสินารา ทั้งยกพลหยุหเสนาตามมาภายหลัง ครั้นกษัตริย์มัลลราชแห่งกุสินาราแจ้งว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้น กษัตริย์ทั้ง ๘ พระนครได้ไปประชุมแบ่งปันกันหมดสิ้นแล้ว ยังอยู่แต่พระอังคาร (ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ขอให้เชิญพระอังคารไปทำการสักการบูชาเถิด โมริยกษัตริย์จึงอัญเชิญพระอังคารมาประดิษฐาน ณ พระอังคารสถูปเจดีย์ เมืองปิปผลิวัน
อ้างอิง:
(๑) อรรถกถาลิงคชาดก
(๒) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
(๓) หนังสือ สู่พุทธภูมิสมเด็จพ่อ รวบรวมโดย จิรวํโสภิกขุ http://buddhapoom.com