พุทธกิริยา



...และท่านพระโคดมพระองค์นั้น
เมื่อจะเสด็จดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน
ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก
ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก
เสด็จดำเนินพระชานุ (เข่า)​ไม่กระทบพระชานุ
ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท
ไม่ทรงยกพระอูรุ (โคนขา) สูง
ไม่ทรงทอดพระอูรุไปข้างหลัง
ไม่ทรงกระแทกพระอูรุ ไม่ทรงส่ายพระอูรุ

เมื่อเสด็จดำเนิน พระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว
ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย

เมื่อทอดพระเนตร
ทรงทอดพระเนตรด้วยพระกายทั้งหมด
ไม่ทรงทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน
ไม่ทรงทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ
เสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแล
ทรงทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก

ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงมีพระญาณทัสสนะอันไม่มีอะไรกั้น

เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระกาย
ไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย
ไม่ทรงส่ายพระกาย
เสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก
ไม่ประทับนั่งเท้าพระหัตถ์
ไม่ทรงพิงพระกายที่อาสนะ

เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน
ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท
ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ
ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท
ไม่ประทับนั่งยันพระหนุ (ขากรรไกร)

เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน
ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว
ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง
ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน
ทรงเวียนมาในวิเวก

เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน
เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ
ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ
ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ

ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก
ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง
ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์
เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว
เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์แล้ว
ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก
และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น

เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ
ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ
ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ

ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนัก ไม่มากนัก
ทรงรับกับข้าวเสวยอาหารพอประมาณกับข้าว
ไม่ทรงน้อมคำข้าวให้เกินกว่ากับ
ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอฐสองสามครั้งแล้วทรงกลืน
เยื่อข้าวสุกยังไม่ระคนกันดีเล็กน้อย ย่อมไม่เข้าสู่พระกาย
ไม่มีเยื่อข้าวสุกสักนิดหน่อยเหลืออยู่ในพระโอฐ

ทรงน้อมคำข้าวเข้าไปแต่กึ่งหนึ่ง
ทรงทราบรสได้อย่างดีเสวยอาหาร
แต่ไม่ทรงทราบด้วยดีด้วยอำนาจความกำหนัดในรส
เสวยอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
ไม่เสวยเพื่อเล่น ๑
ไม่เสวยเพื่อมัวเมา ๑
ไม่เสวยเพื่อประดับ ๑
ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง ๑
เสวยเพียงเพื่อดำรงพระกายนี้ไว้ ๑
เพื่อยังพระชนม์ชีพให้เป็นไป ๑
เพื่อป้องกันความลำบาก ๑
เพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ๑
ด้วยทรงพระดำริว่า
เพียงเท่านี้ก็จักกำจัดเวทนาเก่าได้
จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ร่างกายของเราจักเป็นไปสะดวก
จักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สำราญ

เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว
เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ
ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ
ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ
ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก
ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง
ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์
เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว
เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว ก็เป็นอันล้างพระหัตถ์แล้ว
ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก
และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น

เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว
ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น
ทรงวางในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก
จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้
แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจน เกินไป

เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง
แต่ไม่ทรงยังเวลาแห่งการอนุโมทนาให้ล่วงไป
เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา
ไม่ทรงติเตียนภัตนั้น ไม่ทรงหวังภัตอื่น
ทรงชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน
ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

ครั้นแล้ว ทรงลุกจากอาสนะ เสด็จไป
ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่เสด็จช้านัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป

ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป
ไม่ทรงจีวรแน่นติดพระกาย
ไม่ทรงจีวรกระจุยกระจายจากพระกาย
ทรงจีวร ไม่ให้ลมพัดแหวกได้
ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย

เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่ง
ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว
จึงทรงล้างพระบาท
ไม่ทรงประกอบการประดับพระบาท

ทรงล้างพระบาทแล้วประทับนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์
ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง
ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ประทับนั่ง
ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์
สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง

เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม
ทรงแสดงธรรมในบริษัท
ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท
ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน
ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา

ทรงมีพระสุรเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอฐ
ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
สละสลวย ๑ รู้ได้ชัดเจน ๑
ไพเราะ ๑ ฟังง่าย ๑ กลมกล่อม ๑
ไม่พร่า ๑ พระสุรเสียงลึก ๑ มีกังวาล ๑

บริษัทจะอย่างไรก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้
พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท
ชนทั้งหลายที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง
ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
เมื่อลุกจากที่นั่งไป ยังเหลียวดูโดยไม่อยากจะละไป
ต่างรำพึงว่า...
เราได้เห็นท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสด็จดำเนิน
ประทับยืน เสด็จเข้าละแวกบ้าน ประทับนั่งนิ่งในละแวกบ้าน
กำลังเสวยภัตตาหารในละแวกบ้าน
เสวยเสร็จแล้วประทับนั่งนิ่ง เสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา
เมื่อเสด็จกลับมายังพระอาราม
เมื่อเสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่งนิ่งอยู่
เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม
กำลังทรงแสดงธรรมในบริษัท

ท่านพระโคดมพระองค์นั้น ทรงพระคุณเช่นนี้ ๆ
และทรงพระคุณยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วนั้น
 

 

 

อ้างอิง : พรหมายุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๕๘๙ หน้า ๔๐๔-๔๐๗