พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้นอาสวะ ที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้นตามที่พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ
เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
นี้ เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๑
อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ
ก็แต่ว่า ภิกษุย่อมแสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร
เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น
เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
นี้ เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๒
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร
ก็แต่ว่า ภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร
เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น
เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
นี้ เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๓
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร
ก็แต่ว่า ภิกษุย่อมตรึกตรองใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ
เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น
เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
นี้ เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๔
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ในฐานะครูบางรูป ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมเท่าที่ได้สดับได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึกตรอง ใคร่ครวญธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยใจ
ก็แต่ว่า สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา
เธอย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้น
เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจเกิดปีติ กายย่อมสงบ
ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
นี้ เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๕
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้แล ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่
ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น
อาสวะที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป
หรือเธอย่อมได้บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ
อ้างอิง : วิมุตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๖ หน้า ๒๐-๒๒
ภาพ : Watercolor of a water lily by Jake Marshall, © 2014
www.pinterest.com