วิภังคสูตรที่ ๒ - อินทรีย์ ๕ เป็นสุข ทุกข์ และอทุกขมสุข



พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

 “ดูกรภิกษุทั้งหลาย

อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน

คือ สุขินทรีย์
ทุกขินทรีย์
โสมนัสสินทรีย์
โทมนัสสินทรีย์
อุเปกขินทรีย์


ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็สุขินทรีย์เป็นไฉน

ความสุขทางกาย ความสำราญทางกาย เวทนาอันเป็นสุขสำราญ เกิดแต่กายสัมผัส

นี้เรียกว่า สุขินทรีย์

ก็ทุกขินทรีย์เป็นไฉน

ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย เวทนาอันเป็นทุกข์ไม่สำราญ เกิดแต่กายสัมผัส

นี้เรียกว่า ทุกขินทรีย์

ก็โสมนัสสินทรีย์เป็นไฉน

ความสุขทางใจ ความสำราญทางใจ เวทนาอันเป็นสุขสำราญ เกิดแต่มโนสัมผัส

นี้เรียกว่า โสมนัสสินทรีย์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็โทมนัสสินทรีย์เป็นไฉน

ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ เวทนาอันเป็นทุกข์ไม่สำราญ เกิดแต่มโนสัมผัส

นี้เรียกว่า โทมนัสสินทรีย์

ก็อุเปกขินทรีย์เป็นไฉน

เวทนาอันสำราญก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความสำราญก็ไม่ใช่ ทางกายหรือทางใจ

นี้เรียกว่า อุเปกขินทรีย์

สุข ทุกข์ และอทุกขมสุขเวทนา

ในอินทรีย์ ๕ ประการนั้น

สุขินทรีย์และโสมนัสสินทรีย์ พึงเห็นว่า เป็นสุขเวทนา

ทุกขินทรีย์และโทมนัสสินทรีย์ พึงเห็นว่า เป็นทุกขเวทนา

อุเปกขินทรีย์ พึงเห็นว่า เป็นอทุกขมสุขเวทนา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้แล"


 

 

 

อ้างอิง : วิภังคสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๙๓๑-๙๓๙ หน้า ๒๓๑ 
              วิภังคสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๙๒๕-๙๓๐ หน้า ๒๓๐

 

ภาพประกอบ
Artist :  Claude Monet
www.pinterest.com