อาฬวกสูตร - ธรรมของคฤหัสถ์



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ใกล้เมืองอาฬวี ครั้งนั้นแล อาฬวกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า


“จงออกไปเถิดสมณะ”

“ดีละท่าน”

แล้วได้เสด็จออกไป อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“จงเข้ามาเถิดสมณะ”

“ดีละท่าน”

แล้วได้เสด็จเข้าไป แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓... แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“จงออกไปเถิดสมณะ”

“ดูกรท่าน เราจักไม่ออกไปละ...
ท่านจงกระทำกิจที่ท่านจะพึงกระทำเถิด ”

“ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าจะถามปัญหากะท่าน ถ้าว่าท่านจักไม่พยากรณ์แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้ง...จักฉีกหัวใจของท่าน... หรือจักจับที่เท้าทั้งสองของท่านแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคา”

"ดูกรท่าน ก็ท่านหวังจะถามปัญหาก็จงถามเถิด”


“เรายังไม่มองเห็นบุคคลผู้ที่จะพึงควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้ง... จะพึงฉีกหัวใจของเรา... หรือจะพึงจับที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาได้... ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์"

ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

อะไรเล่า…
เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุด
ของบุรุษในโลกนี้

อะไรเล่า…
ที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้

อะไรเล่า…
เป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย

นักปราชญ์ทั้งหลาย...
ได้กล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไร...
ว่าประเสริฐที่สุด

ศรัทธา เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ...
อันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้

ธรรม ที่บุคคลประพฤติดีแล้ว
ย่อมนำความสุขมาให้

สัจจะแล เป็นรสยังประโยชน์
...ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของบุคคล...
ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา ว่าประเสริฐที่สุด

บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้อย่างไร
บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้อย่างไร
บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้อย่างไร
...ย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร

บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วย…ศรัทธา
ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วย…ความไม่ประมาท
ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วย…ความเพียร
ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วย…ปัญญา”

บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร...
ย่อมหาทรัพย์ได้อย่างไร...
ย่อมได้ชื่อเสียงอย่างไร...
ย่อมผูกมิตรทั้งหลายไว้ได้อย่างไร...
บุคคลละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว...
ย่อมไม่เศร้าโศกอย่างไร...

บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย...
เพื่อบรรลุนิพพาน
เป็นผู้ไม่ประมาท
มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ฟังอยู่ด้วยดี
...ย่อมได้ปัญญา

บุคคลผู้มีธุระ ...กระทำสมควร
มีความหมั่น ...ย่อมหาทรัพย์ได้

บุคคลย่อมได้ชื่อเสียง... ด้วยสัจจะ
ผู้ให้… ย่อมผูกมิตรไว้ได้

ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือน...
มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ
สัจจะ ธรรมะ ขันติ จาคะ
ผู้นั้นแล ละจากโลกนี้ไปแล้ว...
ย่อมไม่เศร้าโศก”


“ถ้าว่า เหตุแห่งการได้ชื่อเสียง… ยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี เหตุแห่งการได้ปัญญา… ยิ่งไปกว่าทมะก็ดี เหตุแห่งการผูกมิตร… ยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้… ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้ไซร้ เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นดูเถิด”

“บัดนี้ ข้าพระองค์จะพึงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากทำไมเล่า วันนี้ข้าพระองค์ทราบชัดประโยชน์อันเป็นไปในภพหน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่เมืองอาฬวีเพื่อประทับอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ

วันนี้... ข้าพระองค์ทราบชัดพระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศที่บุคคลถวายทานแล้ว เป็นทานมีผลมาก

ข้าพระองค์จักนอบน้อมพระสัมพุทธเจ้า และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เที่ยวไปจากบ้านสู่บ้าน จากเมืองสู่เมือง”

 

 

อ้างอิง : อาฬวกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๑๐-๓๑๑ หน้า ๒๗๗-๒๗๙