สัมปสาทนียสูตร - พระผู้มีพระภาคทรงแสดงข้อธรรมที่เยี่ยม



ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายกุศลธรรม

พระสารีบุตรกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ กุศลธรรมเหล่านี้ คือ

สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในกุศลธรรมทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไป ซึ่งสมณะหรือพราหมณ์อื่นรู้ยิ่งแล้ว จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระองค์ ในฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย


ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายอายตนะ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมในฝ่ายบัญญัติอายตนะ อันได้แก่

อายตนะภายในและอายตนะภายนอก อย่างละ ๖ เหล่านี้ คือ

จักษุกับรูป
โสตกับเสียง
ฆานะกับกลิ่น
ชิวหากับรส
กายกับโผฏฐัพพะ
มนะกับธรรมารมณ์

นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายบัญญัติอายตนะ

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นได้หมดสิ้น ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไป ซึ่งสมณะหรือพราหมณ์อื่นรู้ยิ่งแล้ว จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระองค์ ในฝ่ายบัญญัติอายตนะ


ธรรมข้อที่เยี่ยมในการก้าวลงสู่ครรภ์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในการก้าวลงสู่ครรภ์

การก้าวลงสู่ครรภ์ ๔ เหล่านี้ คือ

สัตว์บางชนิดในโลกนี้
ไม่รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๑

ยังอีกข้อหนึ่ง สัตว์บางชนิดในโลกนี้
รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดาอย่างเดียว
แต่ไม่รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๒

ยังอีกข้อหนึ่ง สัตว์บางชนิดในโลกนี้
รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
แต่ไม่รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๓

ยังอีกข้อหนึ่ง สัตว์บางชนิดในโลกนี้
รู้สึกตัวก้าวลงสู่ครรภ์มารดา
รู้สึกตัวอยู่ในครรภ์มารดา
รู้สึกตัวคลอดจากครรภ์มารดา
นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ ข้อที่ ๔

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในการก้าวลงสู่ครรภ์

ธรรมข้อที่เยี่ยมในการดักใจคน

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในวิธีแห่งการดักใจคน

วิธีแห่งการดักใจคน ๔ อย่างเหล่านี้ คือ

คนบางคนในโลกนี้ ดักใจได้ด้วยนิมิต ว่า

ใจของท่านอย่างนี้ ใจของท่านเป็นอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียวว่า เรื่องนั้นต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นแน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการดักใจคน ข้อที่ ๑

คนบางคนในโลกนี้ ต่อเมื่อได้ฟังเสียงของมนุษย์ หรืออมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้ว จึงดักใจได้ ว่า

ใจของท่านอย่างนี้ ใจของท่านเป็นอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียวว่า เรื่องนั้นต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นแน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการดักใจคน ข้อที่ ๒

คนบางคนในโลกนี้ ต่อเมื่อได้ฟังเสียงละเมอของผู้วิตกวิจาร  จึงดักใจได้ ว่า

ใจของท่านอย่างนี้ ใจของท่านเป็นอย่างนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียวว่า เรื่องนั้นต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นแน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการดักใจคน ข้อที่ ๓

คนบางคนในโลกนี้ กำหนดรู้ใจของผู้ได้สมาธิซึ่งยังมีวิตกวิจารด้วยใจได้ ว่า

มโนสังขารของท่านผู้นี้ตั้งอยู่ด้วยประการใด เขาจะต้องตรึกถึงวิตกชื่อนี้ ในลำดับจิตขณะนี้ ด้วยประการนั้น

เขาดักใจได้มากอย่างทีเดียวว่า เรื่องนั้นต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นแน่นอน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นี้วิธีแห่งการดักใจคน ข้อที่ ๔  

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ก็เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในวิธีแห่งการดักใจคน

ธรรมข้อที่เยี่ยมในทัศนาบัติ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในทัศนสมาบัติ

ทัศนสมาบัติ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ

สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบแล้ว ได้บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณากายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้

คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร นี้ทัศนสมาบัติ ข้อที่ ๑

ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯลฯได้บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณากายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ฯลฯ

เธอพิจารณาเห็นกระดูก ก้าวล่วงผิวหนัง เนื้อ และเลือดของบุรุษเสีย นี้ทัศนสมาบัติ ข้อที่ ๒

ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯลฯได้บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณากายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ฯลฯ

เธอพิจารณาเห็นกระดูก ก้าวล่วงผิวหนัง เนื้อ และเลือดของบุรุษเสีย และย่อมรู้กระแสวิญญาณของบุรุษซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือ ทั้งที่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ทั้งที่ตั้งอยู่ในปรโลกได้ นี้ทัศนสมาบัติ ข้อที่ ๓

ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯลฯได้บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมพิจารณากายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ฯลฯ

เธอย่อมพิจารณาเห็นกระดูก ก้าวล่วงผิวหนัง เนื้อ และเลือดของบุรุษเสีย และย่อมรู้กระแสวิญญาณของบุรุษซึ่งขาดแล้วโดยส่วนสอง คือ ทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกนี้ ทั้งที่ไม่ตั้งอยู่ในปรโลก นี้ทัศนสมาบัติ ข้อที่ ๔

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในทัศนสมาบัติ

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายบุคคลบัญญัติ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายบุคคลบัญญัติ

บุคคล ๗ พวกเหล่านี้ คือ

อุภโตภาควิมุตติ ๑
ปัญญาวิมุตติ ๑
กายสักขิ ๑
ทิฏฐิปัตตะ ๑
สัทธาวิมุตติ ๑
ธรรมานุสารี ๑
สัทธานุสารี ๑

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายบุคคลบัญญัติ

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายธรรมเป็นที่ตั้งมั่น

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายธรรมเป็นที่ตั้งมั่น

โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ คือ

สติสัมโพชฌงค์ ๑
ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑
วิริยสัมโพชฌงค์ ๑
ปีติสัมโพชฌงค์ ๑
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๑
สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๑

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายธรรมที่ตั้งมั่น

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายปฏิปทา

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายปฏิปทา

ปฏิปทา ๔ เหล่านี้ คือ

๑.  ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า

๒.  ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว

๓.  สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก แต่รู้ได้ช้า

๔.  สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว

ในปฏิปทา ๔ นั้น

ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า นี้
นับว่าเป็นปฏิปทาที่ทราม
เพราะประการทั้งสอง คือ
เพราะปฏิบัติลำบากและเพราะรู้ได้ช้า

อนึ่ง ปฏิปทาที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว นี้
นับว่าเป็นปฏิปทาที่ทราม
เพราะปฏิบัติลำบาก

ปฏิปทาที่ปฏิบัติได้สะดวก แต่รู้ได้ช้า นี้
นับว่าเป็นปฏิปทาที่ทราม ...เพราะรู้ได้ช้า

ส่วนปฏิปทาที่ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็วนี้
นับว่าเป็นปฏิปทาประณีต
เพราะประการทั้งสอง คือ
เพราะปฏิบัติสะดวกและเพราะรู้ได้เร็ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายปฏิปทา


ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายภัสสมาจาร

ยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายภัสสสมาจาร (มรรยาทเกี่ยวด้วยคำพูด)

คนบางคนในโลกนี้
ไม่กล่าววาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท
ไม่กล่าววาจาส่อเสียด
...อันทำความแตกร้าวกัน
ไม่กล่าววาจาอันเกิดแต่ความแข่งดีกัน
...ไม่มุ่งความชนะ
กล่าวแต่วาจาซึ่งไตร่ตรองด้วยปัญญา
อันควรฝังไว้ในใจตามกาลอันควร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายภัสสสมาจาร

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายศีลสมาจาร

ยังมีอีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ

คนบางคนในโลกนี้
เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธา
ไม่เป็นคนพูดหลอกลวง ไม่พูดเลียบเคียง
ไม่พูดหว่านล้อม ไม่พูดและเล็ม
ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ
เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
รู้จักประมาณในโภชนะ
ทำความสม่ำเสมอประกอบชาคริยานุโยค
ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร
เพ่งฌาน มีสติ พูดดี และมีปฏิภาณ
มีคติ มีปัญญาทรงจำ มีความรู้
ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ  มีปัญญารักษาตน
...เที่ยวไป

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายศีลสมาจารของบุรุษ

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายอนุสาสนวิธี 

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายอนุสาสนวิธี

อนุสาสนวิธี ๔ อย่างเหล่านี้ คือ พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบบุคคลอื่นด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะพระองค์ว่า

บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน…

จักเป็นพระโสดาบัน 
...มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป

จักเป็นพระสกทาคามี
…จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง

จักเป็นพระอนาคามี
…ผู้เป็นอุปปาติกะปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้น เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

จักได้บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
...จักทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายอนุสาสนวิธี

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายวิมุตติญาณ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายวิมุตติญาณของบุคคลอื่น คือ

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบบุคคลอื่นด้วยมนสิการโดยชอบเฉพาะพระองค์ว่า

บุคคลนี้…

จักเป็นพระโสดาบัน
…มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงมีอันจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป

จักเป็นพระสกทาคามี
…จักมาสู่โลกนี้อีกคราวเดียวเท่านั้น แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไป และเพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง

จักเป็นพระอนาคามี
…ผู้อุปปาติกะปรินิพพานในภพที่เกิดนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้น เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป

จักได้บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
...จักทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายวิมุตติญาณของบุคคลอื่น

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายสัสสตวาทะ (ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลกเป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เป็นมิจฉาทิฏฐิ)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายสัสสตวาทะ

สัสสตวาทะ ๓ เหล่านี้ คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่นอาศัยความประกอบเนือง ๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ ที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือ ตามระลึกชาติได้

…หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง

…ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว...ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว...ได้มาบังเกิดในภพนี้…ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

เขากล่าวอย่างนี้ว่า… ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอดีตได้ว่า โลกพินาศแล้วหรือเจริญขึ้นแล้ว... อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอนาคตได้ว่า โลกจักพินาศหรือจักเจริญขึ้น… อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด …ส่วนเหล่าสัตว์นั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด …แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้… นี้เป็นสัสสตวาทะข้อที่ ๑

ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น ฯลฯ บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือ

ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้สังวัฏกัปวิวัฏกัปหนึ่งบ้าง สองบ้าง สามบ้าง สี่บ้าง ห้าบ้าง สิบบ้าง

...ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว...ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

เขากล่าวอย่างนี้ว่า… ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอดีตได้ว่า โลกพินาศแล้วหรือเจริญขึ้นแล้ว... อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอนาคตได้ว่า โลกจักพินาศหรือจักเจริญขึ้น… อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด …ส่วนเหล่าสัตว์นั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด …แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้… นี้เป็นสัสสตวาทะข้อที่ ๒

ยังอีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น ฯลฯ แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนหลายประการ คือ

ตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้ สิบสังวัฏกัปวิวัฏกัปบ้าง ยี่สิบบ้าง สามสิบบ้าง สี่สิบบ้าง

…ว่าในภพโน้นเราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้นเสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ  มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว...ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

เขากล่าวอย่างนี้ว่า… ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอดีตได้ว่า โลกพินาศแล้วหรือเจริญขึ้นแล้ว... อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้กาลที่เป็นอนาคตได้ว่า โลกจักพินาศหรือจักเจริญขึ้น… อัตตาและโลกเที่ยง คงที่ ตั้งอยู่มั่นดุจยอดภูเขา ตั้งอยู่มั่นดุจเสาระเนียด …ส่วนเหล่าสัตว์นั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเที่ยวไป ย่อมจุติ ย่อมเกิด …แต่สิ่งที่เที่ยงเสมอ คงมีอยู่แท้… นี้เป็นสัสสตวาทะข้อที่ ๓

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายสัสสตวาทะ

ธรรมมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติญาณ

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติญาณ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียร ที่ตั้งมั่น ฯลฯ …บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ คือ

ตามระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฏวิวัฏกัปบ้าง…

ว่าในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว...ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น…

ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว...ได้มาบังเกิดในภพนี้ ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติอันไม่อาจนับได้ด้วยวิธีคำนวณหรือวิธีนับก็ยังมีอยู่ แม้ภพซึ่งเป็นที่ ๆ เขาเคยอาศัยอยู่ คือ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ [ที่ไม่อาจนับได้] ก็ยังมี ย่อมตามระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนได้หลายประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายบุพเพนิวาสานุสติญาณ

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น ฯลฯ บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว เขาย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติเลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า…


สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า
เป็นมิจฉาทิฐิ...
ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต
วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า
เป็นสัมมาทิฐิ...
ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้

เขาย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยากด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

ธรรมข้อที่เยี่ยมในฝ่ายอิทธิวิธี

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่เยี่ยม คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในฝ่ายอิทธิวิธี

อิทธิวิธี ๒ อย่างเหล่านี้ คือ

๑.  ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วยอุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของพระอริยะ มีอยู่

๒.  ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ เรียกว่า เป็นของพระอริยะ มีอยู่

ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วยอุปธิ ที่ไม่เรียกว่า เป็นของพระอริยะนั้นเป็นไฉน คือ

สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น ฯลฯ บรรลุเจโตสมาธิที่เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว…

เขาได้บรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ไป ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ฤทธิ์ที่ประกอบด้วยอาสวะ ประกอบด้วยอุปธิ ไม่เรียกว่าเป็นของพระอริยะ

ส่วนฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ ที่เรียกว่าเป็นของพระอริยะนั้นเป็นไฉน คือ

ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ถ้าหวังอยู่ว่า...

เราพึงมีสัญญา
ในสิ่งปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งปฏิกูลนั้นว่า
...ไม่ปฏิกูลอยู่

เราพึงมีสัญญา
ในสิ่งไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งไม่ปฏิกูลนั้น
...ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่

เราพึงมีสัญญา
ในสิ่งทั้งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ว่าไม่ปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งทั้งที่ปฏิกูล
และไม่ปฏิกูลนั้น ...ว่าไม่ปฏิกูลอยู่

เราพึงมีสัญญา
ในสิ่งทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่
ก็ย่อมเป็นผู้มีสัญญาในสิ่งทั้งที่ปฏิกูล
และไม่ปฏิกูลนั้น ...ว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่

ถ้าหวังอยู่ว่า เราพึงละวางสิ่งที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูลทั้ง ๒ นั้นเสีย
แล้ววางเฉย มีสติสัมปชัญญะ
ก็ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้น
...ที่เป็นปฏิกูลและไม่เป็นปฏิกูลนั้นเสีย
มีสติสัมปชัญญะอยู่

นี้ฤทธิ์ที่ปราศจากอาสวะ ปราศจากอุปธิ ที่เรียกว่า เป็นของพระอริยะ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้เป็นข้อธรรมที่เยี่ยมในฝ่ายอิทธิวิธี

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ข้อธรรมนั้นได้ทั้งสิ้น เมื่อทรงรู้ข้อธรรมนั้นได้ทั้งสิ้น ก็ไม่มีข้อธรรมอื่นที่จะต้องทรงรู้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ซึ่งไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่รู้ยิ่งแล้ว จะมีความรู้ยิ่งขึ้นไปกว่าพระองค์ในฝ่ายอิทธิวิธี


 

 

อ้างอิง : สัมปสาทนียสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๑๑ ข้อที่ ๗๕- ๙๐ หน้า ๗๘-๘๘