เผณปิณฑสูตร - อุปมาขันธ์ ๕



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้อยุชฌบุรี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า


รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ

"ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลุ่มฟองน้ำนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในกลุ่มฟองน้ำพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า... หาสาระมิได้ สาระในรูป พึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน

เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย ฟองน้ำในน้ำ ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ฟองน้ำนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในฟองน้ำนั้นพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด...

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า... หาสาระมิได้ สาระในเวทนา พึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน 

สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณา พยับแดดนั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในพยับแดดพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด...

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย สัญญานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า... หาสาระมิได้ สาระในสัญญา พึงมีได้อย่างไร ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล 

สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้น แล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษนั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง  พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ แก่นในต้นกล้วยพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด...

สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย

เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย สังขารนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า... หาสาระมิได้ สาระในสังขารทั้งหลาย พึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล

วิญญาณอุปมาด้วยกล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือนักเล่นกล พึงแสดงกลที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลนั้นโดยแยบคาย

เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในกลพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด...

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย

เมื่อภิกษุเห็น เพ่งพิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย วิญญาณนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า... หาสาระมิได้ สาระในวิญญาณพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล


พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า

พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า

รูป อุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ
เวทนา อุปมาด้วยฟองน้ำ
สัญญา อุปมาด้วยพยับแดด
สังขาร อุปมาด้วยต้นกล้วย
และวิญญาณ อุปมาด้วยกล  

ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้น
โดยแยบคายด้วยประการใด ๆ 
เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง
เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้น ๆ

การละธรรม ๓ อย่าง

ก็การละธรรม ๓ อย่าง อันพระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ปรารภกายนี้ ทรงแสดงแล้ว

ท่านทั้งหลายจงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว
อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละกายนี้เมื่อใด...
เมื่อนั้น กายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้ว
ย่อมเป็นเหยื่อแห่งสัตว์อื่น
หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน

นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้
นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ 
เบญจขันธ์เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง 
เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้

ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว
มีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้
ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ
...คือ นิพพาน
พึงละสังโยชน์ทั้งปวง
พึงกระทำที่พึ่งแก่ตน
พึงประพฤติดุจบุคคลผู้มีไฟไหม้ศีรษะ ดังนี้

 

 

เผณปิณฑสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๔๒-๒๔๗ หน้า ๑๓๔-๑๓๖