มหาสติปัฏฐานสูตร - กายานุปัสนาสติปัฏฐาน



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า


อานาปานบรรพ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก  มีสติหายใจเข้า…

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง
...หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง
...หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักระงับกายสังขาร ...หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักระงับกายสังขาร ...หายใจเข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน
เมื่อชักเชือกกลึงยาวก็รู้ชัดว่า เราชักยาว 
เมื่อชักเชือกกลึงสั้นก็รู้ชัดว่า เราชักสั้น แม้ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง
...หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง
...หายใจเข้า

ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักระงับกายสังขาร ...หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า...
เราจักระงับกายสังขาร ...หายใจเข้า

ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง     
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน
...ทั้งภายนอกบ้าง     

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น
...ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
 

อีกอย่างหนึ่ง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว
และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่


อิริยาปถบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง

ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง
เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่าเรานอน
หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใด ๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้น ๆ 

ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง     
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน
...ทั้งภายนอกบ้าง     

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น
...ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
 

อีกอย่างหนึ่ง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว
และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่


สัมปชัญญบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง

ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัว ในการก้าว
ในการถอย ในการแล ในการเหลียว
ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก
ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน
การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง

ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง     
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน
...ทั้งภายนอกบ้าง     

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น
...ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
 

อีกอย่างหนึ่ง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว
และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่


ปฏิกูลมนสิการบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่าง ๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง 
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด
ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ
อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา
มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร   

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปากสองข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างชนิดคือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร

บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน…

ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

ดังพรรณนามา ฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง      
พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง     
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง       

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ…
ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง  

อีกอย่างหนึ่ง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า...
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว
และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่


ธาตุมนสิการบรรพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุ ว่ามีอยู่ในกายนี้  ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ขยัน ฆ่าโคแล้วแบ่งออกเป็นส่วน นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปรกติ โดยความเป็นธาตุ ว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ดังพรรณนา มาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง     
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน
...ทั้งภายนอกบ้าง     

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น
...ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
 

อีกอย่างหนึ่ง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว
และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่


นวสีวถิกาบรรพ (ป่าช้า ๙)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุ

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหล น่าเกลียด 

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็ก ๆ ต่าง  ๆ กัดกินอยู่บ้าง

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่  

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นกระดูกมีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นกระดูกกองเรียงรายอยู่แล้วเกินปีหนึ่งขึ้นไป

เหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นกระดูกผุเป็นจุณแล้ว

เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้  

ดังพรรณนามาฉะนี้

ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง     
พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายใน
...ทั้งภายนอกบ้าง     

พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง
พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น
...ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
 

อีกอย่างหนึ่ง

สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า
กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้
เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น
เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว
และไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

 

 

อ้างอิง : มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๗๔-๒๘๗ หน้า ๒๑๖-๒๒๑ 

 

ภาพประกอบ : กัมมาสทัมมะ แคว้นกุรุ
เชื่อกันว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร ณ ที่นี้