อินทรียสังวร
ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมโสตินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษาโสตินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในโสตินทรีย์
ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมฆานินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษาฆานินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในฆานินทรีย
ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมชิวหินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษาชิวหินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในชิวหินทรีย์
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมกายินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษากายินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในกายินทรีย์
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ
เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวร อันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุข อันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน
ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
สติสัมปชัญญะ
ดูกรมหาบพิตร อย่างไรภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมทำความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการทรงสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
ย่อมทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง
ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ
สันโดษ
ดูกรมหาบพิตร อย่างไรภิกษุชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใด ๆ ก็ถือไปได้เอง
ดูกรมหาบพิตร
นกมีปีก จะบินไปทางทิสาภาคใด ๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไป ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร เป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาต เป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใด ๆ ก็ถือไปได้เอง
ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ
ภิกษุนั้น ประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
นิวรณ์ ๕
ในกาลภายหลังภัต เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
เธอละ ความเพ่งเล็ง ในโลก
มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้
ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท
มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย
คือพยาบาทได้
ละ ถีนมิทธะ แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ
มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้
ละ อุทธัจจะ กุกกุจจะ แล้ว
เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะ กุกกุจจะได้
ละ วิจิกิจฉา แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา
ไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้
อุปมานิวรณ์
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมีเหลืออยู่ สำหรับเลี้ยงภริยา
เขาพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า...
เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงาน บัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุ ฉันใด
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย
สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้และมีกำลังกาย
เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า...
เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธ ถึงความลำบาก เจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุ ฉันใด
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ
สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดี ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย
เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า...
เมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไร ๆ เลย ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุ ฉันใด
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้
สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ
เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า...
เมื่อก่อนเราเป็นทาสพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้ว พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทแก่ตัวนั้นเป็นเหตุ ฉันใด
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนบุรุษ มีทรัพย์ มีโภคสมบัติ พึงเดินทางไกล กันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า
สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดี
เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า...
เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติ เดินทางไกล กันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษม ปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้
เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ ถึงความโสมนัส มีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุ ฉันใด
ดูกรมหาบพิตร
ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้
...ที่ยังละไม่ได้ในตน
เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร
และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการ
...ที่ละได้แล้วในตน
เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล
รูปฌาน ๔
เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ เหล่านี้
...ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์
เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ
เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอทำกายนี้แหละ
...ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด จะพึงใส่จุรณ์สีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำ หมักไว้ ตกเวลาเย็น ก้อนจุรณ์สีตัวซึ่งยางซึมไปจับติดกันทั่วทั้งหมด ย่อมไม่กระจายออกฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ทำกายนี้แหละ
...ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตก วิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอทำกายนี้แหละ
...ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกมีน้ำปั่นป่วน ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านเหนือ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมดที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้องฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละ
...ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เธอทำกายนี้
...ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนในกอบัวขาบ ในกอบัวหลวง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาวบางเหล่าซึ่งเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ น้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกบัวเหล่านั้น ชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตลอดยอด ตลอดเง่า ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวทั่วทุกส่วนที่น้ำเย็นจะไม่พึงถูกต้อง ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล ย่อมทำกายนี้แหละ ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยสุขปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
ดูกรมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ
...ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร
เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายทุก ๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้องฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นแล เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหน ๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง
ดูกรมหาบพิตร นี้แหละ สามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่า สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
อ้างอิง : สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๒๒-๑๓๐ หน้า ๖๗-๗๑