เมฆิยสูตร - ธรรมสำหรับแก้อกุศลวิตก



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต ใกล้เมืองจาลิกา

ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม"

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญเวลาอันควร ณ บัดนี้เถิด”

ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต  ครั้นเที่ยวไปในชันตุคามเพื่อบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา

ครั้นแล้วเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นป่ามะม่วงน่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์ 

ครั้นแล้วคิดว่า…

ป่ามะม่วงนี้น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์จริงหนอ ป่ามะม่วงนี้สมควรแก่ความเพียรของกุลบุตร ผู้มีความต้องการด้วยความเพียรจริงหนอ ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตเราไซร้ เราพึงมาสู่อัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร 

ลำดับนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง


ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังชันตุคาม ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในชันตุคามแล้วกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา 

ครั้นแล้ว เดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันน่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์

จึงได้คิดว่า
อัมพวันนี้ น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์จริงหนอ
อัมพวันนี้ สมควรเพื่อความเพียรของกุลบุตร
ผู้มีความต้องการด้วยความเพียรจริงหนอ  

ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตเราไซร้

เราพึงมาสู่อัมพวันนี้ เพื่อบำเพ็ญเพียร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงอนุญาตข้าพระองค์ไซร้ ข้าพระองค์พึงไปสู่อัมพวัน เพื่อบำเพ็ญเพียร”

เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

“ดูกรเมฆิยะ จงรอก่อน เราอยู่แต่ผู้เดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา

แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓

ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไร ๆ ที่พึงทำให้ยิ่ง หรือการสั่งสมอริยมรรคที่พระองค์ทรงทำแล้วไม่มี แต่ข้าพระองค์ยังมีกิจที่พึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว

ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงอนุญาตข้าพระองค์ไซร้ ข้าพระองค์พึงไปสู่อัมพวันนั้น เพื่อบำเพ็ญเพียร”

แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรเมฆิยะ เราพึงกล่าวอะไรกะเธอ ผู้กล่าวอยู่ว่า บำเพ็ญเพียร 

ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญเวลาอันสมควร ณ บัดนี้”

ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปยังอัมพวันนั้น

ครั้นแล้ว ได้เที่ยวไปทั่วอัมพวัน แล้วนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง เมื่อท่านพระเมฆิยะ พักอยู่ในอัมพวันนั้น อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก  

ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะคิดว่า

อัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ เราออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แต่กลับถูกอกุศล วิตกอันลามก ๓ ประการนี้ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ครอบงำแล้ว 

ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระเมฆิยะออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 

ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส 

เมื่อข้าพระองค์พักอยู่ในอัมพวันนั้น  อกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ย่อมฟุ้งซ่านโดยมาก 

ข้าพระองค์นั้นคิดว่า น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ ก็เราออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา แต่กลับถูกอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการนี้ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ครอบงำแล้ว”

ธรรมเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"ดูกรเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า

๕ ประการเป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมประการที่  ๑

ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่  ๒

ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิต เพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา  วิมุตติญาณทัสสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓

ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๔

ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕

ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า

คุณแห่งการมีมิตรดี มีเพื่อนดี

ดูกรเมฆิยะ

ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังคุณข้อนี้ได้ คือ

ตนจักเป็นผู้มีศีล จักสำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย จักสมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

ตนจักได้ตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิต เพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถาอสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา

ตนจักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม

ตนจักเป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา ความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

การเจริญธรรม ๕ ประการ

ดูกรเมฆิยะ ก็แลอันภิกษุนั้น ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔  ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ

พึงเจริญอสุภะ เพื่อละราคะ
พึงเจริญเมตตา เพื่อละพยาบาท  
พึงเจริญอานาปานสติ เพื่อตัดวิตก
พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ

ดูกรเมฆิยะ

อนัตตสัญญา…
ย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา

ผู้ที่ได้อนัตตสัญญา…
ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันเทียว   

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

วิตกอันเลวทราม วิตกอันสุขุม
ตั้งมั่นแล้ว…ทำใจให้เย่อหยิ่ง

บุคคลผู้มีจิตหมุนไปแล้ว
ไม่ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้
…ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่  

ส่วนบุคคลผู้มีความเพียร มีสติ
ทราบวิตกแห่งใจเหล่านี้แล้ว…ย่อมปิดเสีย

พระอริยสาวกผู้ตรัสรู้แล้ว
…ย่อมละได้เด็ดขาดไม่มีส่วนเหลือ
ซึ่งวิตกเหล่านี้ที่ตั้งมั่นแล้ว ทำใจให้เย่อหยิ่ง


 

 

 

อ้างอิง : เมฆิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๘๕-๘๙ หน้า ๘๙-๙๒