วัตถูปมสูตร - อุปกิเลส ๑๖



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย"

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผ้าที่เศร้าหมอง มลทินจับ ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใด ๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู

ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมไม่ดี มีสีมัวหมอง

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

…เพราะผ้าเป็นของไม่บริสุทธิ์ ฉันใด


เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว …ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น

 

เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว
…ทุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น

ผ้าที่บริสุทธิ์ สะอาด ช่างย้อมพึงนำเอาผ้านั้นใส่ลงในน้ำย้อมใด ๆ คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู

ผ้านั้นพึงเป็นของมีสีที่เขาย้อมดี มีสีสด 

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร 

…เพราะผ้าเป็นของบริสุทธิ์ ฉันใด 


เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว …สุคติเป็นอันหวังได้ ฉันนั้น

ธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหนเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต คือ

อภิชฌาวิสมโลภะ [ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น]

พยาบาท [ความคิดปองร้ายผู้อื่น]

โกธะ [ความโกรธ]

อุปนาหะ [ความผูกโกรธ]

มักขะ [ความลบหลู่คุณท่าน]

ปลาสะ [ความตีเสมอ]

อิสสา [ความริษยา]

มัจฉริยะ [ความตระหนี่]

มายา [มารยา]

สาเฐยยะ [ความโอ้อวด]

ถัมถะ [ความหัวดื้อ]

สารัมภะ [ความแข่งดี]

มานะ [ความถือตัว]

อติมานะ [ความดูหมิ่นท่าน]

มทะ [ความมัวเมา]

ปมาทะ [ความประมาท]

เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต

ภิกษุรู้ชัดว่า... อภิชฌาวิสมโลภะ (ความเพ่งเล็ง)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... พยาบาท (ความคิดปองร้าย)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละพยาบาท อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... โกธะ (ความโกรธ)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละโกธะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... อุปนาหะ (ความผูกโกรธ)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละอุปนาหะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละมักขะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... ปลาสะ (ความตีเสมอ)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละปลาสะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... อิสสา (ความริษยา)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละอิสสา อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... มัจฉริยะ (ความตระหนี่)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละมัจฉริยะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... มายา (มารยา)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละมายา อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... สาเฐยยะ (ความโอ้อวด)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละสาเฐยยะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... ถัมถะ (ความหัวดื้อ)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละถัมถะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... สารัมภะ (ความแข่งดี)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละสารัมภะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... มานะ (ความถือตัว)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละมานะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... อติมานะ (ความดูหมิ่นท่าน)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละอติมานะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... มทะ (ความมัวเมา)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละมทะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

ภิกษุรู้ชัดว่า... ปมาทะ (ความประมาท)
เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว
ย่อมละปมาทะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสีย

จิตตั้งมั่นเมื่อละธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต

ในกาลใดแล...

ภิกษุรู้ชัดว่า อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตด้วยประการฉะนี้แล้ว

ก็ละอภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเฐยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ อันเป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิตเสียได้

ในกาลนั้น...

เธอเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้าว่า  

แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระธรรมว่า

พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน

เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระสงฆ์ว่า 

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นผู้ควรรับเครื่องสักการะ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรทักขิณา เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

ก็เพราะเหตุที่ส่วนแห่งกิเลสนั้น ๆ อันภิกษุนั้น สละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้ว

...เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ย่อมได้ความรู้แจ้งธรรม ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า…

เราเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า...ในพระธรรม ...ในพระสงฆ์... และเพราะส่วนแห่งกิเลสนั้น ๆ อันเราสละได้แล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละเสียแล้ว สละคืนแล้ว ดังนี้

เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ  
เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ภิกษุนั้นมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ ถึงแม้จะฉันบิณฑบาตข้าวสาลีปราศจากเมล็ดดำ มีแกงมีกับมิใช่น้อย การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น …ก็ไม่มีเพื่ออันตรายเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ผ้าอันเศร้าหมอง มลทินจับ ครั้นมาถึงน้ำอันใส ย่อมเป็นผ้าหมดจดสะอาด

อีกอย่างหนึ่ง

ทองคำครั้นมาถึงปากเบ้า ย่อมเป็นทองบริสุทธิ์ ผ่องใส ฉันใด  

ภิกษุก็ฉันนั้นแล มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ ถึงแม้จะฉันบิณฑบาตข้าวสาลีปราศจากเมล็ดดำ มีแกงมีกับมิใช่น้อย การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น… ก็ไม่มีเพื่ออันตรายเลย

อัปมัญญา ๔

ภิกษุนั้น...

...มีใจประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน

...มีใจประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยกรุณา ประกอบด้วยมุทิตา ประกอบด้วยอุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปยังทิศเบื้องบน เบื้องต่ำ ด้านขวาง ทั่วโลกทั้งสิ้น

โดยเป็นผู้หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้าในที่ทุกแห่ง ด้วยประการฉะนี้

เธอย่อมรู้ชัดว่า…
สิ่งนี้ มีอยู่
สิ่งที่เลวทราม มีอยู่
สิ่งที่ประณีต มีอยู่
ธรรมเป็นเครื่องสลัดออกที่ยิ่งแห่งสัญญานี้ มีอยู่

เมื่อเธอ รู้ เห็น อย่างนี้
…จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว...
ก็มีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้อาบแล้วด้วยเครื่องอาบอันเป็นภายใน”

การอาบน้ำในศาสนา

ก็โดยสมัยนั้นแล สุนทริกภารทวาชพราหมณ์นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

“ท่านพระโคดมจะเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกาเพื่อจะสรงสนานหรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

“ดูกรพราหมณ์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยแม่น้ำพาหุกาเล่า แม่น้ำพาหุกาจักทำประโยชน์อะไรได้”

“ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมากสมมติว่า ให้ความบริสุทธิ์ได้ สมมติว่า เป็นบุญ

อนึ่ง ชนเป็นอันมากพากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา”

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า

“คนพาล มีกรรมดำ แล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา
ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา
แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี
แม้เป็นนิตย์ …ก็บริสุทธิ์ไม่ได้

แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา
...จักทำอะไรได้

จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า
ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น…ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย

ผัคคุณฤกษ์ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ

อุโบสถก็ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ

วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ

ดูกรพราหมณ์

ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด
จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด

ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้
เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้
ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้
แม้การดื่มน้ำในท่าคยาก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้”

สุนทริกพราหมณ์บรรลุพระอรหัตต์

ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด  

พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ข้าพระองค์นี้ ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ

ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมผู้เจริญเถิด"

สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว

ก็ท่านพระภารทวาชะครั้นอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์  ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้มีความต้องการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ก็ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉะนี้แล


 

 

 

อ้างอิง : วัตถูปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๙๑-๙๙ หน้า ๔๘-๕๑