เทวธาวิตักกสูตร - วิธีแยกวิตก



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย”

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก่อนแต่ตรัสรู้ทีเดียว ได้คิดอย่างนี้ว่า ถ้ากระไร เราพึงแยกวิตกให้เป็น ๒ ส่วน ๆ ดังนี้  
 


ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรานั้นจึงแยกกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนหนึ่ง

และแยกเนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก นี้ออกเป็นส่วนที่ ๒

อกุศลวิตก

เรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่อย่างนี้

กามวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น
เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า...
กามวิตก เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล

ก็แต่ว่า มันย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นบ้าง
ทำให้ปัญญาดับ ก่อให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป  

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันทำให้ปัญญาดับ ทำให้เกิดความคับแค้น
ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดังนี้บ้าง
....มันก็ถึงความดับสูญไป

เรานั้นละเสีย บรรเทาเสีย ซึ่งกามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ได้ทำให้มันหมดสิ้นไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่อย่างนี้

พยาบาทวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น
เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า...
พยาบาทวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้วแล

ก็แต่ว่า มันย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นบ้าง
ทำให้ปัญญาดับ ก่อให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป  

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันทำให้ปัญญาดับ ทำให้เกิดความคับแค้น
ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดังนี้บ้าง
....มันก็ถึงความดับสูญไป

เรานั้นแล ละเสีย บรรเทาเสีย ซึ่งพยาบาทวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ได้ทำให้มันหมดสิ้นไป

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่อย่างนี้

วิหิงสาวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น
เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า...
วิหิงสาวิตกนี้ เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล
ก็แต่ว่า มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง
ทำให้ปัญญาดับ ทำให้เกิดความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองบ้าง
...มันก็ถึงความดับสูญไป  

เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า
มันทำให้ปัญญาดับ ทำให้เกิดความคับแค้น
ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน ดังนี้บ้าง
....มันก็ถึงความดับสูญไป

เรานั้นแล ละเสีย บรรเทาเสีย ซึ่งวิหิงหาวิตก ที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ได้ทำให้มันหมดสิ้นไป


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปข้างวิตกนั้น ๆ

ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงกามวิตกมาก
เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตกเสีย
มากระทำอยู่แต่กามวิตกให้มาก
จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อกามวิตก    

ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึง พยาบาทวิตกมาก
เธอก็ละทิ้งอัพยาบาทวิตกเสีย
มากระทำอยู่แต่พยาบาทวิตกให้มาก
จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อพยาบาทวิตก    

ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งตรองถึงวิหิงสาวิตกมาก
เธอก็ละทิ้งอวิหิงสาวิตกเสีย
มากระทำอยู่แต่วิหิงสาวิตกให้มาก
จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อวิหิงสาวิตก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนในสรทสมัยเดือนท้ายแห่งปี คนเลี้ยงโคต้องคอยระวังโคทั้งหลายในที่คับคั่งด้วยข้าวกล้า เขาต้องตี ต้อนโคทั้งหลายจากที่นั้น ๆ กั้นไว้ ห้ามไว้

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

คนเลี้ยงโคมองเห็นการฆ่า การถูกจองจำ การเสียทรัพย์ การถูกติเตียน เพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ แม้ฉันใด  

เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ได้แลเห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมองของอกุศลธรรมทั้งหลาย

และเห็นอานิสงส์ ในการออกจากกาม อันเป็นฝ่ายแห่งความผ่องแผ้วของกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว

กุศลวิตก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่อย่างนี้

เนกขัมมวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น
เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า...
เนกขัมมวิตกนี้ เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล

ก็แต่ว่าเนกขัมมวิตกนั้น
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย
เป็นทางทำให้ปัญญาเจริญ ไม่ทำให้เกิดความคับแค้น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

ก็ถ้าเราจะตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นอยู่
...ตลอดคืนก็ดี
...ตลอดวันก็ดี
...ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันก็ดี
เราก็ยังมองไม่เห็นภัย อันจะบังเกิดขึ้นจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย

ก็แต่ว่า...
เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป
ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย 
เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ 

เรานั้นแล ดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

เพราะปรารถนาไว้ว่า จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปแล้วอยู่อย่างนี้

อัพยาบาทวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น
เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า
อัพยาบาทวิตกนี้ เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล

ก็แต่ว่าอัพยาบาทวิตกนั้น
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย
เป็นทางทำให้ปัญญาเจริญ ไม่ทำให้เกิดความคับแค้น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

ก็ถ้าเราจะตรึกตรองถึงอัพยาบาทวิตกนั้นอยู่
...ตลอดคืนก็ดี
...ตลอดวันก็ดี
...ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันก็ดี
เราก็ยังมองไม่เห็นภัย อันจะบังเกิดขึ้นจากอัพยาบาทวิตกนั้นได้เลย

ก็แต่ว่า...
เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป
ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย
เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ

เรานั้นแล ดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

เพราะหมายในใจว่า จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อเรานั้นไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปแล้วอยู่อย่างนี้

อวิหิงสาวิตก ย่อมบังเกิดขึ้น
เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า
อวิหิงสาวิตกนี้ เกิดขึ้นแก่เราแล้วแล

ก็แต่ว่าอวิหิงสาวิตกนั้น
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน  
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย
เป็นทางทำให้ปัญญาเจริญ ไม่ทำให้เกิดความคับแค้น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

ก็ถ้าเราจะตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้น
...ตลอดคืนก็ดี
...ตลอดวันก็ดี
...ตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันก็ดี
เราก็ยังมองไม่เห็นภัย อันจะบังเกิดขึ้นจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย

ก็แต่ว่า…
เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป
ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย
เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรานั้นแล ดำรงจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี

ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร

เพราะหมายในใจว่า จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย ดังนี้


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปข้างวิตกนั้น ๆ มาก

ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงเนกขัมมวิตกมาก
เธอก็จะละกามวิตกเสียได้
ทำเนกขัมมวิตกอย่างเดียวให้มาก
จิตของเธอก็จะน้อมไปเพื่อเนกขัมมวิตก  

ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงอัพยาบาทวิตกมาก
เธอก็จะละพยาบาทวิตกเสียได้
ทำอัพยาบาทวิตกอย่างเดียวให้มาก
จิตของเธอก็จะน้อมไปเพื่ออัพยาบาทวิตก  

ถ้าภิกษุยิ่งตรึกยิ่งตรองถึงอวิหิงสาวิตกมาก
เธอก็จะละวิหิงสาวิตกเสียได้
ทำอวิหิงสาวิตกอย่างเดียวให้มาก
จิตของเธอก็น้อมไปเพื่ออวิหิงสาวิตก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน คนเลี้ยงโคจะต้องรักษาโคทั้งหลาย ในที่ใกล้บ้านในทุกด้าน เมื่อเข้าไปสู่โคนต้นไม้ หรือไปสู่ที่แจ้ง จะต้องทำสติอยู่เสมอว่า นั้นฝูงโคของเรา ดังนี้ ฉันใด  

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราก็ฉันนั้น... ต้องทำสติอยู่เสมอว่า เหล่านี้เป็นธรรม (คือ กุศลวิตก) ดังนี้

วิชชา ๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้ปรารภความเพียร มีความเพียรไม่ย่อหย่อนแล้ว มีสติมั่นคง ไม่เลอะเลือนแล้ว มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่ายแล้ว มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นอันเดียว

เรานั้นแล สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม

บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่  

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ  มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป

บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข

บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้

ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ

ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง หกชาติบ้าง เจ็ดชาติบ้าง แปดชาติบ้าง เก้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง  ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง

ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้  

เรานั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

วิชชาที่หนึ่งนี้แล เราบรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี เรากำจัดอวิชชาเสียแล้ว วิชชาจึงบังเกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียแล้ว ความสว่างจึงบังเกิดขึ้นก็เพราะเราไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ส่งตนไปอยู่ ฉะนั้น

เรานั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว

จุตูปปาตญาณ

เราจึงโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

เรานั้นย่อมเห็นสัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า

สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต  มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ  เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้  

เราย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์

ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

วิชชาที่สองนี้แล เราบรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี เรากำจัดอวิชชาเสียแล้ว วิชชาจึงบังเกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียแล้ว ความสว่างจึงเกิดขึ้นก็เพราะเราไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลสส่งตนไปอยู่ ฉะนั้น

เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้

อาสวักขยญาณ

จึงโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ

ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์...
นี้ทุกขสมุทัย...
นี้ทุกขนิโรธ...
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา...

เหล่านี้อาสวะ
นี้อาสวสมุทัย
นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา  

เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้นแล้ว
แม้จากกามาสวะ
แม้จากภวาสวะ
แม้จากอวิชชาสวะ

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

วิชชาที่สามนี้แล เราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี เรากำจัดอวิชชาเสียแล้ว วิชชาจึงบังเกิดขึ้น กำจัดความมืดเสียแล้ว ความสว่างจึงบังเกิดขึ้นก็เพราะเราไม่ประมาท มีความเพียรเครื่องเผากิเลสส่งตนไปอยู่ ฉะนั้น

ทางปลอดภัยและไม่ปลอดภัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

มีหมู่เนื้อเป็นอันมากพากันเข้าไปอาศัยบึงใหญ่ในป่าดงอยู่

ยังมีบุรุษคนหนึ่งปรารถนาความพินาศ ประสงค์ความไม่เกื้อกูล ใคร่ความไม่ปลอดภัย เกิดขึ้นแก่หมู่เนื้อนั้น

เขาปิดทางที่ปลอดภัย สะดวก ไปได้ตามชอบใจของหมู่เนื้อนั้นเสีย

เปิดทางที่ไม่สะดวกไว้ วางเนื้อต่อตัวผู้ไว้ วางนางเนื้อต่อไว้

เมื่อเป็นเช่นนี้ โดยสมัยต่อมา หมู่เนื้อเป็นอันมากก็พากันมาตายเสีย จนเบาบาง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

แต่ยังมีบุรุษอีกคนหนึ่ง ปรารถนาประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูล ใคร่ความปลอดภัยแก่หมู่เนื้อเป็นอันมากนั้น

เขาเปิดทางที่ปลอดภัย สะดวก ไปได้ตามชอบใจให้แก่หมู่เนื้อนั้น

ปิดทางที่ไม่สะดวกเสีย กำจัดเนื้อต่อ เลิกนางเนื้อต่อ  

เมื่อเป็นเช่นนี้ โดยสมัยต่อมา หมู่เนื้อเป็นอันมาก จึงถึงความเจริญ คับคั่ง ล้นหลาม แม้ฉันใด

ข้ออุปมานี้ ก็ฉันนั้นแล

เราได้ทำขึ้นก็เพื่อจะให้พวกเธอรู้ความหมายของเนื้อความ ก็ในอุปมานั้น มีความหมายดังต่อไปนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  

คำว่า บึงใหญ่ นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้งหลาย  

คำว่า หมู่เนื้อเป็นอันมาก นี้เป็นชื่อของหมู่สัตว์ทั้งหลาย

คำว่า บุรุษผู้ปรารถนาความพินาศ ประสงค์ความไม่เกื้อกูล จำนงความไม่ปลอดภัย นี้เป็นชื่อของตัวมารผู้มีบาป

คำว่า ทางที่ไม่สะดวก นี้เป็นชื่อของทางผิด อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

มิจฉาทิฏฐิ ๑  
มิจฉาสังกัปปะ ๑  
มิจฉาวาจา ๑  
มิจฉากัมมันตะ ๑
มิจฉาอาชีวะ ๑  
มิจฉาวายามะ ๑  
มิจฉาสติ ๑
 มิจฉาสมาธิ ๑   

คำว่า เนื้อต่อตัวผู้ นี้เป็นชื่อของนันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยความเพลิน)

คำว่า นางเนื้อต่อ นี้เป็นชื่อของอวิชชา

คำว่า บุรุษคนที่ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความปลอดภัย (แก่เนื้อเหล่านั้น) นี้หมายเอาตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  

คำว่า ทางอันปลอดภัย สะดวก ไปได้ตามชอบใจ นี้เป็นชื่อของทางอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นทางถูกที่แท้จริง คือ

สัมมาทิฏฐิ ๑
สั มมาสังกัปปะ ๑
สัมมาวาจา ๑  
สัมมากัมมันตะ ๑  
สัมมาอาชีวะ ๑  
สัมมาวายามะ ๑  
สัมมาสติ ๑  
สัมมาสมาธิ ๑


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล เป็นอันว่าทางอันปลอดภัย ซึ่งเป็นทางสวัสดี เป็นทางที่พวกเธอควรไปได้ด้วยความปลาบปลื้ม เราได้เผยให้แล้ว และปิดทางที่ไม่สะดวกให้ด้วย เนื้อต่อก็ได้กำจัดให้แล้ว ทั้งนางเนื้อต่อก็สังหารให้เสร็จ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เอ็นดู อาศัยความอนุเคราะห์แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ กิจอันนั้นเราทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง

นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่เธอทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

 

 

อ้างอิง : เทวธาวิตักกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๕๑-๒๕๕ หน้า ๑๖๐-๑๖๕