รัฐปาลสูตร - ธัมมุทเทส ๔



สมัยหนึ่ง ท่านพระรัฐปาละเข้าไปยังพระราชอุทยานมิคาจีระของพระเจ้าโกรัพยะ แล้วนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง

ครั้งนั้น พระเจ้าโกรัพยะ ตรัสเรียกพนักงานรักษาพระราชอุทยานมาว่า

“ดูกรมิควะ ท่านจงชำระพื้นสวนมิคาจีระให้หมดจดสะอาด เราจะไปดูพื้นสวนอันดี”

“อย่างนั้น ขอเดชะ”


แล้วชำระพระราชอุทยานมิคาจีระอยู่  ได้เห็นพระรัฐปาละซึ่งนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโกรัพยะ แล้วได้กราบทูลว่า

“ขอเดชะ พระราชอุทยานมิคาจีระของพระองค์หมดจดแล้ว และในพระราชอุทยานนี้ มีกุลบุตรชื่อรัฐปาละ ผู้เป็นบุตรแห่งตระกูลเลิศในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้ ที่พระองค์ทรงสรรเสริญอยู่เสมอ ๆ นั้น เธอนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง”

“ดูกรเพื่อนมิควะ ถ้าเช่นนั้น ควรจะไปยังพื้นสวนเดี๋ยวนี้ เราทั้งสองจักเข้าไปหารัฐปาละผู้เจริญนั้นในบัดนี้”

ครั้งนั้น พระเจ้าโกรัพยะรับสั่งว่า

“ของควรเคี้ยวควรบริโภคสิ่งใดอันจะตกแต่งไปในสวนนั้น ท่านทั้งหลายจงแจกจ่ายของสิ่งนั้นทั้งสิ้นเสียเถิด”

ดังนี้แล้ว รับสั่งให้เทียมพระราชยานชั้นดี เสด็จออกจากถุลลโกฏฐิตนิคมด้วยพระราชยานที่ดี ๆ ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ เพื่อจะพบท่านพระรัฐปาละ

ท้าวเธอเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนยานพระที่นั่งไปจนสุดทาง  เสด็จลง ทรงพระดำเนินด้วยบริษัทชนสูง ๆ เข้าไปหาท่านพระรัฐปาละ แล้วทรงปราศรัยกับท่านพระรัฐปาละ ครั้นผ่านปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วรับสั่งว่า

“เชิญท่านรัฐปาละผู้เจริญนั่งบนเครื่องลาดนี้เถิด”

“ดูกรมหาบพิตร อย่าเลย เชิญมหาบพิตรนั่งเถิด อาตมภาพนั่งที่อาสนะของอาตมภาพดีแล้ว

ความเสื่อม ๔ ประการ

ครั้นพระเจ้าโกรัพยะประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระรัฐปาละว่า

“ท่านรัฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ถึงเข้าแล้ว ย่อมปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ความเสื่อม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน คือ

ความเสื่อมเพราะชรา ๑  
ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ๑  
ความเสื่อมจากโภคสมบัติ ๑  
ความเสื่อมจากญาติ ๑

ความเสื่อมเพราะชราเป็นไฉน

ท่านรัฐปาละ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนแก่แล้ว เป็นคนเฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เขาคิดเห็นดังนี้ว่า

เดี๋ยวนี้เราเป็นคนแก่แล้ว เป็นคนเฒ่าแล้ว เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเถิด

เขาประกอบด้วยความเสื่อมเพราะชรานั้น จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ดูกรท่านรัฐปาละ นี้เรียกว่า ความเสื่อมเพราะชรา

ส่วนท่านรัฐปาละผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ก็ยังหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท ประกอบด้วยความเป็นหนุ่ม กำลังเจริญเป็นวัยแรก ไม่มีความเสื่อมเพราะชรานั้นเลย

ท่านพระรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า

ก็ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้เป็นไฉน

ท่านรัฐปาละ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาคิดเห็นดังนี้ว่า

เดี๋ยวนี้เราเป็นคนมีอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตเถิด  

เขาประกอบด้วยความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้นั้น จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

นี้เรียกว่า ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้  

ส่วนท่านรัฐปาละเดี๋ยวนี้เป็นผู้ไม่อาพาธ ไม่มีทุกข์ ประกอบด้วยไฟธาตุที่ย่อยอาหารสม่ำเสมอดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ไม่มีความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้นั้นเลย

ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า

ก็ความเสื่อมจากโภคสมบัติเป็นไฉน

ท่านรัฐปาละ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก โภคสมบัติเหล่านั้นของเขาถึงความสิ้นไปโดยลำดับ  เขาคิดเห็นดังนี้ว่า

เมื่อก่อนเราเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก โภคสมบัติเหล่านั้นของเราถึงความสิ้นไปโดยลำดับแล้ว ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย  เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเถิด ดังนี้  

เขาประกอบด้วยความเสื่อมจากโภคสมบัตินั้น จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต

ท่านรัฐปาละผู้เจริญ นี้เรียกว่า ความเสื่อมจากโภคสมบัติ

ส่วนท่านรัฐปาละ เป็นบุตรของตระกูลเลิศในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้ ไม่มีความเสื่อมจากโภคสมบัตินั้น

ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า

ก็ความเสื่อมจากญาติเป็นไฉน

ท่านรัฐปาละ คนบางคนในโลกนี้ มีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเป็นอันมาก ญาติเหล่านั้นของเขาถึงความสิ้นไปโดยลำดับ  เขาคิดเห็นดังนี้ว่า

เมื่อก่อนเรามีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเป็นอันมาก เดี๋ยวนี้ ญาติของเรานั้นถึงความสิ้นไปโดยลำดับ ก็การที่เราจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่เราจะทำโภคสมบัติ ที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด ดังนี้  

เขาประกอบด้วยความเสื่อมจากญาตินั้น จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ท่านรัฐปาละ นี้เรียกว่าความเสื่อมจากญาติ

ส่วนท่านรัฐปาละ มีมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้เป็นอันมาก ไม่ได้มีความเสื่อมจากญาติเลย

ท่านรัฐปาละ รู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า

ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ถึงเข้าแล้ว จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ท่านรัฐปาละ ไม่ได้มีความเสื่อมเหล่านั้นเลย  

ท่านรัฐปาละ รู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า

ธัมมุทเทส ๔

ท่านพระรัฐปาละถวายพระพรว่า

“มีอยู่แล มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธัมมุทเทส ๔ ข้อ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต  

ธัมมุทเทส ๔ ข้อเป็นไฉน คือ

ดูกรมหาบพิตร ธัมมุทเทสข้อที่หนึ่งว่า
โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน

ดูกรมหาบพิตร ธัมมุทเทสข้อที่สองว่า
โลกไม่มีผู้ต้านทาน

ดูกรมหาบพิตร ธัมมุทเทสข้อที่สามว่า
โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

ดูกรมหาบพิตร ธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า
โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

ธัมมุทเทส ๔ ข้อนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่อาตมภาพรู้ เห็น และได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

โลกอันชรานำไป

“ท่านรัฐปาละกล่าวว่า โลกอันชรานำไป ไม่ยั่งยืน ดังนี้ ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้จะพึงเห็นได้อย่างไร”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

มหาบพิตรเมื่อมีพระชนมายุ ๒๐ ปีก็ดี ๒๕ ปีก็ดี ในเพลงช้างก็ดี เพลงม้าก็ดี เพลงรถก็ดี เพลงธนูก็ดี เพลงอาวุธก็ดี ทรงศึกษาอย่างคล่องแคล่ว ทรงมีกำลังพระเพลา มีกำลังพระพาหา มีพระกายสามารถ เคยทรงเข้าสงครามมาแล้วหรือ”

“ท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าเมื่อมีอายุ ๒๐ ปีก็ดี ๒๕ ปีก็ดี ในเพลงช้างก็ดี เพลงม้าก็ดี เพลงรถก็ดี เพลงธนูก็ดี เพลงอาวุธก็ดี ได้ศึกษาอย่างคล่องแคล่ว มีกำลังขา มีกำลังแขน มีตนสามารถ เคยเข้าสงครามมาแล้ว

บางครั้งข้าพเจ้าสำคัญว่ามีฤทธิ์ ไม่เห็นใครจะเสมอด้วยกำลังของตน”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

แม้เดี๋ยวนี้ มหาบพิตรก็ยังมีกำลังพระเพลา มีกำลังพระพาหา มีพระกายสามารถ เข้าสงครามเหมือนฉะนั้นได้หรือ”

“ท่านรัฐปาละ ข้อนี้หามิได้ เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าแก่แล้ว เจริญวัยแล้ว เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้ว วัยของข้าพเจ้าล่วงเข้าแปดสิบ

บางครั้งข้าพเจ้าคิดว่า จักย่างเท้าที่นี้ ก็ไพล่ย่างไปทางอื่น”

“ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึง ตรัสธัมมุทเทสข้อที่หนึ่งว่า

โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน ที่อาตมภาพรู้ เห็น และได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

“ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้อว่าโลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืนนี้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสดีแล้ว

ดูกรท่านรัฐปาละ เป็นความจริง โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน"

โลกไม่มีผู้ต้านทาน

"ในราชสกุลนี้ มีหมู่ช้าง หมู่ม้า หมู่รถ และหมู่คนเดินเท้า หมู่ไรจักครอบงำอันตรายของเราได้ ท่านรัฐปาละกล่าวว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน ดังนี้ ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

มหาบพิตรเคยทรงประชวรหนักบ้างหรือไม่”

“ดูกรท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าเคยเจ็บหนักอยู่ บางครั้ง บรรดามิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ ด้วยสำคัญว่า พระเจ้าโกรัพยะจักสวรรคตบัดนี้ พระเจ้าโกรัพยะจักสวรรคตบัดนี้ ดังนี้”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

มหาบพิตรได้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ที่มหาบพิตรจะขอร้องว่า มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ผู้เจริญของเราที่มีอยู่ทั้งหมด จงมาช่วยแบ่งเวทนานี้ไป โดยให้เราได้เสวยเวทนาเบาลง ดังนี้ หรือว่ามหาบพิตรต้องเสวยเวทนาแต่พระองค์เดียว”

“ดูกรท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าจะได้มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ที่ข้าพเจ้าจะขอร้องว่ามิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตที่มีอยู่ทั้งหมด จงมาช่วยแบ่งเวทนานี้ไป โดยให้เราได้เสวยเวทนา เบาลงไป ดังนี้ หามิได้

ที่แท้ ข้าพเจ้าต้องเสวยเวทนานั้นแต่ผู้เดียว”

“ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึง ตรัสธัมมุทเทสข้อที่สองว่า

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน ที่อาตมภาพรู้ เห็น และได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

“ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว ข้อว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตนนี้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสดีแล้ว

ท่านรัฐปาละ เป็นความจริง โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน"

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน

"ในราชสกุลนี้ มีเงินและทองอยู่ที่พื้นดินและในอากาศมาก ท่านรัฐปาละกล่าวว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ดังนี้ ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

เดี๋ยวนี้ มหาบพิตรเอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอพระองค์อยู่ ฉันใด มหาบพิตรจักได้สมพระราชประสงค์ว่า แม้ในโลกหน้า เราจักเป็นผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันนั้น หรือว่าชนเหล่าอื่นจักปกครองโภคสมบัตินี้ ส่วนมหาบพิตรก็จักเสด็จไปตามยถากรรม”

“ท่านรัฐปาละ เดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าเอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันใด ข้าพเจ้าจักไม่ได้ความประสงค์ว่า แม้ในโลกหน้า เราจะเป็นผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ ฉันนั้น  

ที่แท้ ชนเหล่าอื่นจักปกครองโภคสมบัตินี้ ส่วนข้าพเจ้าก็จักไปตามยถากรรม”

“ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึง ตรัสธัมมุทเทสข้อที่สามว่า

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ที่อาตมภาพรู้ เห็น และได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

“ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีแล้ว ข้อว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไปนี้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสดีแล้ว

ท่านรัฐปาละ เป็นความจริง ไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป"

โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์

"ท่านรัฐปาละกล่าวว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหาดังนี้ ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน มหาบพิตรทรงครอบครองกุรุรัฐอันเจริญอยู่หรือ”

“อย่างนั้น ท่านรัฐปาละ ข้าพเจ้าครอบครองกุรุรัฐอันเจริญอยู่”

“มหาบพิตรจักเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ พึงมาจาก ทิศบูรพา เขาเข้ามาเฝ้ามหาบพิตรแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้ามาจาก ทิศบูรพา ในทิศนั้นข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพล ประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้

มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น”

“ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ พึงมาจาก ทิศปัจจิม เขาเข้ามาเฝ้ามหาบพิตรแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้ามาจาก ทิศปัจจิม ในทิศนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพล ประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้

มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น”

“ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ พึงมาจาก ทิศอุดร เขาเข้ามาเฝ้ามหาบพิตรแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้ามาจาก ทิศอุดร ในทิศนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพล ประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้

มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น”

“ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ พึงมาจาก ทิศทักษิณ เขาเข้ามาเฝ้ามหาบพิตรแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้ามาจากทิศทักษิณในทิศนั้น ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพล ประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้

มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น”

“ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ”

“ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน

ราชบุรุษของมหาบพิตรที่กุรุรัฐนี้ เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุ พึงมาจาก สมุทรฟากโน้น เขาเข้ามาเฝ้ามหาบพิตรแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า

ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์พึงทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้ามาจาก สมุทรฟากโน้น  ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น ในชนบทนั้น มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้ามาก มีสัตว์อชินะที่ฝึกแล้วมาก มีเงินและทองทั้งที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่ทำแล้วก็มาก ในชนบทนั้น สตรีปกครอง พระองค์อาจจะรบชนะได้ด้วยกำลังพล ประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหาราชเจ้า ดังนี้

มหาบพิตรจะทรงทำอย่างไรกะชนบทนั้น”

“ดูกรท่านรัฐปาละ พวกเราก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียน่ะซิ”

“ดูกรมหาบพิตร เนื้อความนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงหมายถึง ตรัสธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า

โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ที่อาตมภาพรู้ เห็น และได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

“ดูกรท่านรัฐปาละ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว ข้อว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหานี้ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสดีแล้ว

ท่านรัฐปาละ เป็นความจริง โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา”

พระรัฐปาละกล่าวนิคมคาถา

ท่านพระรัฐปาละได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้ว ภายหลัง ได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้อื่นอีกว่า

“เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่เป็นผู้มีทรัพย์
ได้ทรัพย์แล้ว ย่อมไม่ให้ เพราะความหลง
โลภแล้ว ย่อมทำการสั่งสมทรัพย์ 
และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป

พระราชาทรงแผ่อำนาจ ชำนะตลอดแผ่นดิน
ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด
มิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างหนึ่ง
ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก

พระราชาและมนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมาก
ยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน ย่อมเข้าถึงความตาย
เป็นผู้พร่อง ละร่างกายไปแท้
...ความอิ่มด้วยกาม ย่อมไม่มีในโลกเลย

อนึ่ง ญาติทั้งหลายพากันสยายผมคร่ำครวญถึงผู้นั้น
พากันกล่าวว่า...ได้ตายแล้วหนอ
พวกญาตินำเอาผู้นั้นคลุมด้วยผ้าไปยกขึ้นเชิงตะกอน แต่นั้นก็เผากัน

ผู้นั้น เมื่อกำลังถูกเขาเผา ถูกแทงอยู่ด้วยหลาว
มีแต่ผ้าผืนเดียว ละโภคสมบัติไป
ญาติก็ดี มิตรก็ดี หรือสหายทั้งหลาย
...เป็นที่ต้านทานของบุคคลผู้จะตายไม่มี

ทายาททั้งหลายก็ขนเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป
ส่วนสัตว์ ย่อมไปตามกรรมที่ทำไว้
...ทรัพย์อะไร ๆ ย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้
บุตร ภรรยา ทรัพย์ และแว่นแคว้นก็เช่นนั้น


บุคคลย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ และย่อมไม่กำจัดชราได้ด้วยทรัพย์

นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวชีวิตนี้ว่าน้อยนัก
ว่าไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ
ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน
แต่คนพาลย่อมนอนหวาดอยู่ เพราะความที่ตนเป็นพาล
ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะ ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว


เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้

คนเป็นอันมากทำบาปกรรม
เพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่ 
เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุด

สัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมา
...ย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ...ปรโลกบ้าง

ผู้อื่นนอกจากผู้มีปัญญานั้น
...ย่อมเชื่อได้ว่า จะเข้าถึงครรภ์และปรโลก


หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรม ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเดือดร้อน เพราะกรรมของตนเองในโลกหน้า

เปรียบเหมือนโจรผู้มีความผิด
ถูกจับเพราะโจรกรรม มีตัดช่อง เป็นต้น
ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น

ความจริง กามทั้งหลายวิจิตร
รสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ
...ย่อมย่ำยีจิต ด้วยรูปมีประการต่าง ๆ

มหาบพิตร อาตมาภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงบวชเสีย


สัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ เมื่อสรีระทำลายไป ย่อมตกตายไป เหมือนผลไม้ทั้งหลายที่ร่วงหล่นไป

มหาบพิตร อาตมภาพ รู้เหตุนี้ จึงบวชเสีย ความเป็นสมณะ เป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิด เป็นผู้ประเสริฐแท้ ดังนี้แล

 

 

อ้างอิง : รัฐปาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที ๑๓ ข้อที่ ๔๔๐-๔๕๑ หน้า ๓๐๖-๓๑๕