สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า
ชนเหล่าไหนหนอแลชื่อว่ารักตน
ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน
ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า
ก็ชนเหล่าใดแล...
ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ไม่รักตน
ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
...เรารักตน
ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้น ก็ชื่อว่า ไม่รักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
ก็เพราะเหตุว่า…
ชนผู้ไม่รักใคร่กัน ย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด
ชนเหล่านั้น ย่อมทำความเสียหายให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า ไม่รักตน
ส่วนว่าชนเหล่าใดแล...
ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ
ชนเหล่านั้นชื่อว่า รักตน
ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
...เราไม่รักตน
ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่า รักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
ก็เพราะเหตุว่า…
ชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด
ชนเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า รักตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ถูกแล้ว ๆ มหาบพิตร
เพราะว่าชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้น ไม่ชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลาย มีความรักตน
ถึงเช่นนั้น พวกเขาก็ชื่อว่า ไม่มีความรักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น
พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่า ไม่รักตน
ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ พวกเขาเหล่านั้น ชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน
ถึงเช่นนั้นพวกเขาเหล่านั้นก็ชื่อว่า รักตน
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดี ความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้น ย่อมทำความดี ความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น
พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่า รักตน"
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ถ้าบุคคลพึงรู้ว่า ตนเป็นที่รัก
ไม่พึงประกอบด้วยบาป
เพราะว่าความสุขนั้น
ไม่เป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะพึงได้โดยง่าย
เมื่อบุคคลถูกมรณะครอบงำ
ละทิ้งภพมนุษย์ไปอยู่
ก็อะไร... เป็นสมบัติของเขา
และเขาย่อมพาเอาอะไรไปได้
อนึ่ง อะไรเล่า... จะติดตามเขาไป
ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น
ผู้ที่มาเกิดแล้วจำจะต้องตายในโลกนี้
ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ
เป็นบุญและเป็นบาปทั้งสองประการ
บุญและบาปนั้นแล เป็นสมบัติของเขา
และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป (สู่ปรโลก)
อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมเป็นของติดตามเขาไป
ประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรมสะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก เพราะว่าบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก”
อ้างอิง : ปิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๓๓๔-๓๓๖ หน้า ๙๐-๙๑