ทุติยอัปปมาทสูตร - ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์



พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารบุพพาราม ปราสาทของมิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

ครั้นแล้ว จึงได้ทรงปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจบังเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วนั่นแหละ สำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว”

“ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น


ธรรมที่อาตมภาพกล่าวดีแล้วนั่นแหละ สำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว

ดูกรมหาบพิตร สมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมของหมู่เจ้าศากยะ ชื่อว่า นครกะ ในสักกชนบท

ครั้งนั้น ภิกษุอานนท์เข้าไปหาอาตมภาพถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ก็อภิวาทอาตมภาพ แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ดูกรมหาบพิตร ภิกษุอานนท์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะอาตมภาพว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี... มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ...เป็นคุณกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์

เมื่อภิกษุอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวกะภิกษุอานนท์ว่า

ดูกรอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น


ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี... มีจิตน้อมไปในคนที่ดี... นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว

ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดีพึงปรารถนาภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี …จักเจริญอริยมรรคมีองค์แปด จักกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ 

ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้อย่างไร

ดูกรอานนท์ ภิกษุในศาสนานี้

ย่อมเจริญสัมมาทิฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ย่อมเจริญสัมมาวาจา อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ย่อมเจริญสัมมาวายามะ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ย่อมเจริญสัมมาสติ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน

ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ อย่างนี้แล

โดยปริยายแม้นี้  พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว

ดูกรอานนท์

ด้วยว่าอาศัยเราเป็นมิตรดี
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา
ย่อมหลุดพ้นจากความเกิดได้

สัตว์ทั้งหลายผู้มีความแก่เป็นธรรมดา
ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ได้

สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา
ย่อมหลุดพ้นจากความเจ็บป่วยได้

สัตว์ทั้งหลายผู้มีความตายเป็นธรรมดา
ย่อมหลุดพ้นจากความตายได้

สัตว์ทั้งหลายผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้

โดยปริยายนี้แล  พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว

ดูกรมหาบพิตร

เพราะเหตุนั้นแหละ... พระองค์พึงทรงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
...เราจักเป็นผู้มีมิตรดี
...มีสหายดี
...มีจิตน้อมไปในคนที่ดี

พระองค์พึงทรงสำเหนียกอย่างนี้แล

ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งนี้ คือ

ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ...พึงทรงอาศัยอยู่เถิด

เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท

หมู่นางสนมผู้ตามเสด็จ แม้กษัตริย์ทั้งหลายผู้ตามเสด็จ แม้กองทัพ (ข้าราชการฝ่ายทหาร) แม้ชาวนิคมและชาวชนบท จักมีความคิดอย่างนี้ว่า

พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท  ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท

ดูกรมหาบพิตร
เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท

แม้พระองค์เอง...
ก็จักเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองแล้ว ได้รับการรักษาแล้ว

แม้หมู่นางสนม...
ก็จักเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองแล้ว ได้รับการรักษาแล้ว

แม้เรือนคลัง...
ก็จักเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองแล้ว ได้รับการรักษาแล้ว

พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬารต่อ ๆ ไป  พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท

บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย

บัณฑิตผู้ไม่ประมาท ย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ในภพนี้ และประโยชน์ในภพหน้า

เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า บัณฑิต"

 

 

อ้างอิง  : ทุติยอัปปมาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อ ๓๘๑-๓๘๕ หน้า ๑๐๙-๑๑๑